ตัวเลขว่างงานกับอนาคตอาชีพคนไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

06 มิ.ย. 2560 | 08:09 น.
โดย  ดร. ยงยุทธ  แฉล้มวงษ์

ถึงแม้ว่าในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมาภายใต้การบริหารงานของ คสข. ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยกลับมาเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่องอีกครั้งและถ้าจะเปรียบเทียบกับสมาชิกในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันแล้ว สถานการณ์ทางเศรษฐกิจอาจจะยังคงไม่ดีนักถ้าเทียบกับบางประเทศในอาเซียน เช่นในปี 2559 คาดว่า GDP ของประเทศไทยขยายตัวที่ 3.2% ซึ่งไทยเรามองว่าน่าจะเริ่มฟื้นตัวพ้นจุดต่ำสุดแต่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชาขยายตัว 7%  ลาว 7.2% เวียดนาม 6.5% ฟิลิปปินส์ 6.0% อินโดนีเซีย 5.1% และ มาเลเซีย 4.4% เป็นต้น  การที่ประเทศไทยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำต่อเนื่องมาหลายปี ย่อมจะมีผลต่อเนื่องถึงการจ้างงานในตลาดแรงงานซึ่งไทยมีกำลังแรงงานในเดือนมกราคม 2560 ประมาณ 37.8 ล้านคน มีขนาดตลาดแรงงานเป็นลำดับที่ 4 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

[caption id="attachment_157786" align="aligncenter" width="399"] ดร. ยงยุทธ  แฉล้มวงษ์ ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์[/caption]

ตลาดแรงงานของไทยเริ่มมีกำลังแรงงานลดลง โดยปี 2559 มีกำลังแรงงาน 38.7 ล้านคน ปีปัจจุบันเหลือ 37.8 ล้านคน หายไปจากตลาดประมาณ 1 ล้านคน แต่ประเทศในอาเซียนที่กล่าวถึงข้างต้น กลับมีจำนวนกำลังแรงงานเพิ่มขึ้น การที่กำลังแรงงานลดลงแต่ความต้องการแรงงานในภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังใช้แรงงานแบบเข้มข้น ทำให้ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 3 แสนคน แต่จำนวนดังกล่าวไม่สามารถตอบสนองความต้องการในตลาดแรงงานได้ครบถ้วนทำให้ยังขาดแคลนแรงงานอยู่มากกว่า 1.8 แสนคนต่อปี

การขาดแคลนกำลังแรงงานเรื้อรังมานานเป็นผลจากการที่ภาคการผลิตที่แท้จริง (real sectors) ยังคงปรับเปลี่ยนโครงสร้างช้ามากเนื่องจากสามารถใช้นโยบายพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน

3 ประเทศ คือ เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา เกือบ 3 ล้านคน กระจายอยู่แทบทุกสาขาการผลิตและบริการของสถานประกอบการของเอกชน โดยแรงงานคนไทยเข้าไปแทนที่ (replacement) น้อยมากเนื่องจากกำลังแรงงานของไทยไม่ชอบงานหนัก งานยากลำบาก และงานสกปรก แต่กลับเลือกตกงานมากกว่าจะไปทำงานทดแทนแรงงานต่างด้าวหรือเลือกเดินต่อไปในสายปริญญา โดยเชื่อว่าจะมีความก้าวหน้า ได้รับค่าตอบแทนที่ดี จะมีอนาคตที่ดีกว่า

จากการประเมินของ TDRI พบว่า ตลาดแรงงานในช่วง 10 ปีข้างหน้า แรงงานระดับกลางในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างปี 2558 ถึงปี 2568 เติบโตค่อนข้างช้ามากจาก 7 แสนคนเป็น 1 ล้านคนหรือเติบโตเพียงปีละ 3 หมื่นคน ขณะที่แนวโน้มแรงงานไทยในระดับ ปวส. และอนุปริญญา เติบโตจาก 1 ล้านคนเป็น 1.1 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งแรงงานในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในกลุ่ม STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์และสถิติ) ซึ่งเป็นแรงงานพื้นฐานของเศรษฐกิจตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 และเศรษฐกิจดิจิทัล

สำหรับภาพที่ปรากฏในตลาดแรงงานสายที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะมีความแตกต่างกับสาย S&T ที่กล่าวมาคือ ความต้องการบุคลากรในสายธุรกิจและบริการและสาขาอื่นๆ ในระดับ ปวช. เพิ่มสูงมากจากประมาณ 0.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคนในช่วงเวลา 1 ทศวรรษประมาณปีละ 1.2 แสนคน แต่ความต้องการของตลาดแรงงานในระดับ ปวส. และอนุปริญญาในสาขาที่ไม่ใช่ S&T กลับมีแนวโน้มลดลงจากประมาณ 0.8 ล้านคนเหลือ 0.6 ล้านคน ผลจากการที่อุปสงค์เพิ่มน้อยกว่าอุปทานก็คือจะทำให้ ปวส. และอนุปริญญาสายที่ไม่ใช่ S&T ว่างงานจำนวนมากก็เป็นไปได้

คำถามคือ กำลังคนส่วนที่หายไปในตลาดแรงงานไปไหน คำตอบคือ ไม่ได้หายไปไหนแต่ได้ผันตัวเองไปเรียนในระดับปริญญาตรี (ตามนโยบายเพิ่มจำนวนนักศึกษาของมหาวิทยาลัย) โดยไม่ได้เรียนผ่าน ปวส. ซึ่งทำให้แนวโน้มของแรงงานเพิ่มจาก 3.01 ล้านคน เป็นเกือบ 6 ล้านคนในช่วงเวลา 10 ปีข้างหน้า เช่นเดียวกันกับผู้เรียน ปวช. สาย S&T บางส่วนผันตัวเองไปเรียนระดับปริญญาตรี ทำให้จำนวนแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 1.15 ล้านคนในปี 2558 เป็น 2.4 ล้านคนในปี 2568 หรือเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน

ถ้าดูจากผลการพยากรณ์ดังกล่าวนี้ จะพบว่าขณะที่ภาคเศรษฐกิจมีการเติบโตไปในทิศทางที่ต้องใช้กำลังคนด้าน STEM มากขึ้น นักศึกษาที่จบสาย S&T จึงมีโอกาสที่จะได้รับการจ้างงานมากกว่าผู้เรียนสาย Non-S&T ความหวังจึงอยู่ที่การขยายตัวของภาคบริการของประเทศทั้งในส่วนของบริการขายส่ง ขายปลีกและซ่อมบำรุง และงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ (ถ้าไม่เลือกงาน) น่าจะเป็นโอกาสให้คนไทยได้เข้ามาสมัครงานมากขึ้น

15867986_l ความหนักใจของผู้กำหนดนโยบายการผลิตกำลังคนของประเทศคือ อุปสงค์ในการผลิตสินค้าและบริการซึ่งมีพลวัตสูง มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วส่งผลให้อุปสงค์ของตลาดแรงงานผันผวนเปลี่ยนแปลงรวดเร็วตามไปด้วย ขณะที่การผลิตกำลังคนไม่ง่ายเหมือนการผลิตสินค้าเนื่องจากต้องใช้เวลาในการปรับตัวหลายปี ทุกครั้งที่โครงสร้างตลาดแรงงานด้านอุปสงค์เปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมคือ ผลสำรวจ ภาวะการมีงานทำของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติในเดือนมกราคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง (หลังเก็บเกี่ยว) จำนวนกำลังแรงงานหดตัวเกือบ 2 แสนคนมาอยู่ที่ 37.94 ล้านคน ทำให้อัตราว่างงานเพิ่มค่อนข้างสูงถึง 1.2% เทียบกับ 0.9% ของเดือนเดียวกันของปีก่อนส่งผลให้มีจำนวนผู้ว่างงานเกิน 4.4 แสนคน สูงขึ้น 1 แสนคน จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

คำถามคือ เกิดอะไรขึ้น คำตอบมีหลายสาเหตุคือ (1) การว่างงานของเยาวชน (อายุ 15-24 ปี) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (Y-o-Y) ถึง 0.9 แสนคน (2) ถ้าพิจารณาตามระดับการศึกษาแล้วจะพบว่า ผู้จบอุดมศึกษาว่างงานมากที่สุดถึง 1.6 แสนคนหรือประมาณ 0.6 แสนคนเทียบ Y-o-Y ขณะที่ผู้จบประถมศึกษา มัธยมศึกษา และมัธยมปลายเพิ่มขึ้นประมาณ 0.2-0.4% จากปีก่อน และ (3) ผู้ที่ว่างงานมากถึง 2.59 แสนคน เคยทำงานมาก่อนเทียบกับ 1.9 แสนคน ผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน โดยผู้ที่ว่างงานเกิน 1 แสนคนมาจากภาคการผลิตและภาคบริการ

กล่าวโดยสรุปคือ ที่ภาคอุตสาหกรรมและบริการไม่สามารถดูดซับแรงงานทั้งแรงงานเก่าและใหม่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากภาคการผลิตและส่งออกของทั้ง 2 สาขานำของประเทศเผชิญกับปัญหาการขยายตัวต่ำต่อเนื่องมาหลายปีอีกทั้งการลงทุนจากต่างประเทศยังไม่ฟื้นตัว แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกลงไปถึงสาขาการผลิตย่อย จะเห็นว่ามีการจ้างงานทั้งลดลงและเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบ Y-o-Y

จ้างงานลดลง

- อุตสาหกรรมการผลิต

- การก่อสร้าง

- การเกษตร

จ้างงานเพิ่ม

- ค้าส่ง ค้าปลีก และซ่อมบำรุง

- โรงแรม ที่พัก และร้านอาหาร

- กิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

- การศึกษา

สิ่งที่ควรจะห่วงตอนนี้คือ ภาค real sector ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิต การก่อสร้าง และการเกษตร ควรได้รับการสนับสนุนส่งเสริมให้ธุรกิจเหล่านั้นสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพเพื่อให้ยังสามารถแข่งขันได้ตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 ที่เป็นรูปธรรม

18751096_ml คำถามที่ท้าทายคือ การที่เรามีปัญหาขาดแคลนแรงงานระดับกลางสาย S&T และมีแรงงานส่วนเกินในระดับปริญญาตรีจำนวนมาก ถ้าประเทศต้องปรับทิศทางใหม่ไปในทิศทางของ ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศด้วยการใช้นวัตกรรมนำการพัฒนา ซึ่งตามแนวทางของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้ให้ทิศทางการพัฒนาเอาไว้หลายเรื่องเกี่ยวกับตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ เช่น เน้นไปที่สิ่งที่ไทยมีทรัพยากรเป็นของตนเองคือ เกี่ยวกับอาหาร การเกษตรสมัยใหม่ (อาทิ เกษตรแม่นยำ) และไบโอเทคโนโลยี  ถ้าด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตควรมุ่งสู่นวัตกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ Wellness และเวชภัณฑ์ต่างๆ หรือถ้าออกไปทางอุตสาหกรรม 4.0 คงหนีไม่พ้นนวัตกรรมอัจฉริยะ โรบอท และด้าน mechatronics หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็น smart enterprises หรือ startups อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องการสนับสนุน high value tourism ต้องปรับการบริการให้เป็นบริการคุณภาพสูงที่สอดแทรกความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเป็นองค์ประกอบ และเหนืออื่นใดนวัตกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับยุคดิจิทัล internet of things (IoT) และพวกเทคโนโลยีฝังตัวทั้งหลายซึ่งความรู้ชั้นสูงเช่นนี้กำลังคนที่มีอยู่ (stock) มีจำนวนไม่มากที่มีความพร้อม

ถ้าเป็นเช่นนี้ เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการพัฒนาคนของประเทศไปในทิศทางที่สนับสนุนแนวทางการพัฒนาดังกล่าวให้เร็วที่สุดคือ ต้องเตรียมคนให้เป็นกำลังแรงงานที่ฉลาดและความสามารถพิเศษ(Talent) และแข่งขันได้ ต้องพัฒนากำลังแรงงานที่มีผลิตภาพสูง โดยภาพรวมแล้ว ประเทศไทยต้องวางแผนผลิตกำลังคนในระดับชาติไว้อย่างชัดเจน โดยมีจุดเน้นว่าจะทำอย่างไรกับกำลังแรงงานในปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว ซึ่งมีความสามารถพิเศษเก่งบ้างไม่เก่งบ้าง เราจะบริหารจัดการกระแส (flow) คนเก่งบ้างไม่เก่งบ้าง ผลิตไม่ตรงสาขาที่ต้องการบ้าง ที่ออกสู่ตลาดแรงงานหลายแสนคนทุกปีด้วยระบบการผลิตกำลังคนแบบเดิมๆความฝันที่จะใช้กำลังแรงงานแบบเดิมๆไทยแลนด์ 4.0 คงไม่ไปถึงไหน เราควรจะต้องสร้างตลาดแรงงานคนที่ฉลาดและมีความสามารถพิเศษขึ้นมาต่างหากดีหรือไม่

คำตอบเห็นทีจะไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่านในเวลาอันสั้น สำหรับกำลังแรงงานกลุ่มแรกที่มีอยู่ (stock) เป็นแรงงานจบ ม. ต้นหรือต่ำกว่าประมาณร้อยละ 68 ของกำลังแรงงานทั้งหมด จะมีส่วนที่มีงานทำเป็นส่วนใหญ่ จะว่างงานรวมกันในตอนนี้ประมาณ 2 แสนคน คงจะปรับให้เป็นคนฉลาดและมีสมรรถนะสูงเพื่อนำมาใช้ใน Thailand 4.0 ได้ยากคงต้องสนับสนุนให้พวกเขาทำในสิ่งที่ถนัดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น คนว่างงานระดับสายวิชาชีพ และมัธยมปลายประมาณ 1 แสนคน อาจจะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เราคัดเลือกกลุ่มที่เรียนมาทางสายวิทยาศาสตร์หรือ S&T ก็น่าจะสามารถนำมาฝึกอบรมยกระดับได้ระดับหนึ่ง รวมทั้งผู้ตกงานระดับอุดมศึกษาอีก 1.6 แสนคน ทั้ง 2 กลุ่มนี้สามารถทำการคัดเลือกมาฝึกโปรแกรมเพิ่มขีดความสามารถได้ (capacity buildings) โดยสถาบันฝึกอบรมชั้นสูง เพื่อนำเข้าสู่ตลาดแรงงานความสามารถสูงเพื่อตอบสนอง ไทยแลนด์ 4.0 ต่อไปได้

ส่วนแรงงานที่กำลังเรียนอยู่ในปัจจุบันที่จะจบการศึกษา (flow) ควรจะมีวิธีเข้าไปปรับ talents ให้ตรงกับความต้องการของ talent market ด้วยการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นประมาณ 1 ปีหรือจนกว่าจะทดสอบผ่านเกณฑ์มาตรฐานสมรรถนะที่กำหนด โดยวิธีการรับสมัครจากวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมและยินดีให้ความร่วมมือกับทางรัฐบาล ในลักษณะที่เป็นข้อตกลงร่วมกัน (MOU) โดยรัฐสนับสนุนงบประมาณต่อหัวอย่างเต็มที่ มีการฝึกฝนการปฏิบัติงานจริงร่วมกับทางสถานประกอบการที่มีความพร้อม ซึ่งคาดว่าจะผลิต talent workforces ได้ปีละหลายหมื่นคน เพื่อนำไปใช้ในไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งแน่นอนคงเน้นไปที่เด็กนักเรียนหรือนักศึกษาระดับมัธยมปลายจนถึงปริญญาตรีในสาขาที่เกี่ยวข้องกับไทยแลนด์ 4.0

หัวใจที่สำคัญที่สุดที่จะเป็นแรงจูงใจผู้ปกครองและเด็กนักศึกษาก็คือ ต้องการันตีการมีงานทำ ต้องการันตีค่าตอบแทนที่สูงกว่าตลาดแรงงานตามปกติอย่างน้อย 1 เท่า บวกกับสวัสดิการอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการสร้างอนาคตให้กับเยาวชนกลุ่มพิเศษนี้ ผู้ที่มีคุณสมบัติสูงที่ทั้งเก่งฉลาดและเป็นคนดีเช่นนี้จะแยกตัวออกมาบรรจุไว้ในฐานข้อมูลของ talent market เป็นการเฉพาะโดยมีเป้าหมายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ในแต่ละช่วงเวลา

สำหรับระยะยาว (5-10 ปี) การเตรียมคนเพื่อให้ได้เพียงพอตามเป้าหมายนี้ กระทรวงศึกษาธิการกระทรวงแรงงานร่วมกับหน่วยงานที่สำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น สวทช. สวทน. จะต้องสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับเด็กดี เด็กเก่งมีความสามารถ ด้วยการสอบคัดเลือก และจัดการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรที่ดี ครูที่เก่งทั้งจากไทยและต่างประเทศ เสริมด้วยการส่งไปเรียนและฝึกงานยังต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ เชื่อว่าประเทศไทยจะมี talent workforces เพียงพอที่จะสนับสนุนให้ ไทยแลนด์ 4.0 เดินหน้าต่อไปได้จนประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม stock ของแรงงานที่มีจำนวนมากยังคงต้องตอบสนองตลาดแรงงานระดับล่างและระดับกลางต่อไป เนื่องจากยังมีเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ 2.0 หรือ 3.0 โดยเฉพาะ SMEs ที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับ Thailand 4.0 ได้แต่จำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อความอยู่รอด

การยกระดับขีดความสามารถกำลังแรงงานส่วนใหญ่ให้เป็น productive workforce ยังจำเป็นอยู่มาก บางคนโชคดีมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดอาจจะปรับตัวให้เข้าสู่เส้นทางของ competitive workforce และในที่สุดเข้าสู่ innovative workforce ได้ก็สามารถช่วยกันทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยก้าวข้ามประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปได้ภายใน 10 ปีข้างหน้าก็อาจจะเป็นได้ ขอให้ทุกฝ่ายอย่าทอดทิ้งกำลังแรงงานที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งแรงงานด้อยโอกาส แรงงานสูงอายุและแรงงานพิการ เปิดโอกาสให้เขาได้มีส่วนร่วมในการนำพาประเทศไทยไปสู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง.