คุมพลังงานทดแทนเกิด กฟผ.อ้างภาระสร้างโรงไฟฟ้ารองรับระบบ

10 มิ.ย. 2560 | 02:00 น.
กฟผ.เตรียมหารือ สนพ.-กกพ. กางแผนมาตรการคุมพลังงานทดแทน พร้อมบทลงโทษสำหรับผู้ประกอบการที่เดินออกจากระบบก่อนหมดสัญญาขายไฟฟ้า สร้างโรงไฟฟ้าป้อนระบบไม่ทัน ชี้ค่าไฟของไทยยังสวนทางกับต้นทุนพลังงานทดแทน

ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี กระทรวงพลังงานได้กำหนดแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(เออีดีพี 2015) กว่า 1.9 หมื่นเมกะวัตต์ในปี 2579 ส่งผลให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ต้องมีหน่วยผลิตไฟฟ้าสำรองสำหรับรองรับพลังงานทดแทนที่อาจไม่เข้าระบบตามที่แจ้งตัวเลขไว้ เนื่องจากมีผู้ประกอบการบางรายยุติการดำเนินงานก่อนที่จะหมดสัญญาขายไฟฟ้า ส่งผลให้เกิดต้นทุนค่าไฟ และการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ขึ้นมารองรับไม่ทัน

[caption id="attachment_95628" align="aligncenter" width="503"] นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)[/caption]

นายกรศิษฐ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ปัจจุบันดังกล่าว กฟผ. อยู่ระหว่างศึกษาแผนพลังงานทดแทนที่อาจกระทบต่อสังคม เนื่องจากปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ยังไม่สามารถตรวจจับได้ว่าผลิตได้จริงหรือไม่ รวมทั้งการกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ประกอบการที่เดินออกจากระบบก่อนหมดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าด้วย

อีกทั้ง ค่าไฟฟ้าของประเทศไทยมีราคาค่อนข้างถูก เมื่อเทียบกับประเทศที่มีการส่งเสริมพลังงานทดแทน บางประเทศยอมจ่ายค่าไฟฟ้าแพง เพราะต้องการส่งเสริม แต่เมื่อเทียบกับค่าไฟฟ้าของประเทศไทยที่ระดับ 3-4 บาทต่อหน่วย นับว่ายังถูก เมื่อนำมาถัวเฉลี่ย 25 ปีตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ประกอบกับมีผู้ประกอบการบางรายออกจากระบบก่อนหมดสัญญา ทำให้ส่งผลกระทบต่อระบบ ซึ่ง กฟผ.เตรียมนำผลการศึกษาดังกล่าว หารือกับทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) แลคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เร็วๆนี้

[caption id="attachment_157598" align="aligncenter" width="503"] คุมพลังงานทดแทนเกิด กฟผ.อ้างภาระสร้างโรงไฟฟ้ารองรับระบบ คุมพลังงานทดแทนเกิด กฟผ.อ้างภาระสร้างโรงไฟฟ้ารองรับระบบ[/caption]

โดยยืนยันว่า กฟผ. ไม่ได้มองว่าพลังงานทดแทนไม่ดี แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถตรวจจับได้ ทำให้ต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อสำรองในส่วนนี้มากขึ้น รวมทั้งนโยบายการส่งเสริมทำให้มีผู้ประกอบการเข้ามาในระบบมากขึ้น ซึ่งการปล่อยให้มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(ซีโอดี) จำนวนมากและเข้ามาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปรับระบบรองรับไม่ทัน

"ปัจจุบันค่าไฟบ้านเรายังถูกกว่าความเป็นจริง อย่างฟิลิปปินส์ 6 บาทต่อหน่วย ทั้งๆที่มีพลังงานทดแทนจำนวนมาก ดังนั้น กฟผ.จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกร่วมกับ อาทิ อาจกำกับดูแลควบคุมมากขึ้น หรือค่าชาร์จภาษีแพงขึ้นหากเดินออกจากระบบก่อนหมดสัญญา นอกจากนี้ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมว่าพลังงานทดแทนควรเข้ามาเมื่อไร จังหวะไหน แบบไหน เพื่อให้ระบบการผลิตไฟฟ้าสามารถรองรับได้"

[caption id="attachment_134652" align="aligncenter" width="503"] อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม[/caption]

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมปรับแผนการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนของประเทศ โดยจัดทำเป็นแผนพลังงานทดแทนรายภูมิภาค เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการกำหนด ประเภทเชื้อเพลิง และปริมาณรับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสม ในแต่ละพื้นที่ สอดรับกับความต้องการใช้ของประชาชนในแต่ละพื้นที่ และลดความสิ้นเปลืองในการใช้งบประมาณลงทุนก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงในอนาคต

โดยได้มอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) และ สนพ. ศึกษาศักยภาพพลังงานทดแทนในแต่ละภาค ว่าเหมาะสมกับเชื้อเพลิงประเภทใด โดยแผนดังกล่าว จะนำไปสู่การตั้งโรงไฟฟ้าในพื้นที่ที่อยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ

ทั้งนี้ภายหลังจาก พพ.และสนพ.จัดทำข้อมูลมาเชื่อมโยงกับ กฟผ.แล้ว ก็จะทำเป็นแผนปฏิบัติการเสมือนเป็นแผนพีพีดีย่อย ที่กำหนดพื้นที่ไฟฟ้าที่ชัดเจน โดยการจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนรายภูมิภาคจะต้องแล้วเสร็จ และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ภายในปีนี้ เพื่อประกาศใช้ในปี 2561 ซึ่งต่อไปการเปิดประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ทาง กกพ.จะประกาศรับซื้อไฟฟ้าตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนรายภูมิภาคฉบับนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,268 วันที่ 8 - 10 มิถุนายน พ.ศ. 2560