เล็งเป้าแสนล้าน 2560 ปีทองส่งออกผักผลไม้

10 มิ.ย. 2560 | 00:00 น.
ในบรรดาสินค้าเกษตรของไทยที่ส่งออกนำรายได้เข้าประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำอย่างต่อเนื่องนอกจากยางพารา ข้าว และมันสำปะหลังแล้ว ผักและผลไม้เป็นอีกกลุ่มสินค้าหนึ่งที่มีอนาคต จากไทยเป็นฐานการผลิตผักผลไม้แหล่งสำคัญของโลก ผลิตสินค้าได้คุณภาพและมีความหลากหลายให้เลือก

-คาดปีนี้ฟันแสนล้าน
"พจน์ เทียมตะวัน"นายกสมาคมผู้ประกอบการพืชผัก ผลไม้ไทย กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ระบุว่า "ปีนี้เป็นปีที่ดีมากของผลไม้ทุกตัวกล้าพูดอย่างนี้เลย เพราะจากที่เราทำการส่งออกอยู่ ดีขึ้นทุกตัวจริงๆ ที่สำคัญเป็นผลจากไทยพ้นจากภัยแล้งในปีที่ผ่านมา ปีนี้ฝนดีทำให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น คาดการส่งออกพืชผักผลไม้ทั้งทางเรือและทางอากาศน่าจะได้ประมาณ 1 แสนล้านบาท จากช่วงที่ผ่านมาส่งออกได้ประมาณปีละ 7-8 หมื่นล้านบาท"

ในส่วนของสมาคมฯ ซึ่งมีสมาชิก 59 รายทั้งรายใหญ่ กลาง และเล็ก ทำธุรกิจส่งออกพืชผักผลไม้ทางอากาศ(ทางเครื่องบิน)เป็นหลักในกลุ่มสินค้าที่เน่าเสียง่าย หรือต้องการความสะดวกรวดเร็วในการขนส่ง ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภคได้อย่างฉับไว ปัจจุบันการส่งออกพืชผักผลไม้ทางอากาศของไทยมีมูลค่าประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทต่อปี (ที่เหลือส่งออกทางเรือเป็นหลัก)ในจำนวนนี้สัดส่วน 70-80% ส่งออกโดยสมาชิกของสมาคม

[caption id="attachment_157578" align="aligncenter" width="503"] พจน์ เทียมตะวัน"นายกสมาคมผู้ประกอบการพืชผัก ผลไม้ไทย พจน์ เทียมตะวัน"นายกสมาคมผู้ประกอบการพืชผัก ผลไม้ไทย[/caption]

monk -ตลาดใหญ่ 4 โซน
สำหรับตลาดพืชผักผลไม้สดแช่แข็ง ส่งออกทางอากาศณปัจจุบันมีตลาดส่งออกใน 4 โซนใหญ่ ได้แก่ โซนตะวันออกกลาง สัดส่วน 35% รองลงมาเป็นโซนเอเชียมีตลาดใหญ่ที่เกาหลีใต้สัดส่วน 30% และญี่ปุ่น 20% โซนสหภาพยุโรป(อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส)สัดส่วน 10% และโซนอเมริกา 5%

สำหรับโซนตะวันออกกลางเป็นตลาดผลไม้รวมทั้งเงาะ ลำไย ลิ้นจี่ ฝรั่ง มังคุดและอื่นๆ มีตลาดใหญ่ที่ดูไบ(สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)ที่เป็นศูนย์กลาง(ฮับ)ด้านโลจิสติกส์ในการกระจายสินค้าเข้าไปยังกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง เช่นซาอุดิอาระเบีย คูเวต โอมาน และรัฐอื่นๆ ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปกติตลาดนี้จะมีอัตราการขยายตัวของปริมาณส่งออก 20-30% ในทุกปีจากกฎเกณฑ์นำเข้าไม่เข้มงวดมาก

ส่วนโซนเอเชีย คือตลาดญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งผลไม้นำเข้าหลักจากไทยคือมะม่วงและมังคุด ในส่วนตลาดญี่ปุ่น คาดปีนี้อัตราการขยายตัวของการนำเข้าในเชิงปริมาณจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วไม่ต่ำกว่า 30% จาก 3-4 ปีที่ผ่านมาอยู่ในภาวะซบเซาจากไทยมีปัญหาภัยแล้ง และตลาดเกาหลีใต้จะขยายตัวได้ที่ 50% จากผลผลิตผลไม้ทั้ง 2 รายการของไทยเพิ่มขึ้น และราคาถูกลง ขณะที่ผลไม้ไทยใน 2 ประเทศนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จากมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทย เมื่อได้ทานผลไม้ไทยแล้วชอบจึงมีการบอกต่อ โดยในส่วนของตลาดเกาหลีเวลานี้ผลไม้ที่กำลังมาแรงและได้รับความนิยมมากคือทุเรียนหมอนทอง ที่ได้เริ่มทดลองตลาดในปีที่ผ่านมา และปีนี้ได้ส่งออกอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

โซนอเมริกา ผลไม้หลักที่ส่งออกไปได้แก่มังคุด ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ และน้ำมะพร้าว คาดปริมาณส่งออกไปสหรัฐฯปีนี้จะเพิ่มขึ้นประมาณ 40% ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อในสหรัฐฯ

-อียูตลาดใหญ่มากปัญหา
ขณะที่โซนสหภาพยุโรป(อียู) เป็นอีกตลาดใหญ่กำลังซื้อสูง สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปได้แก่ กะเพรา โหระพา พริก ถั่วฝักยาว ตะไค้ มังคุด มะม่วง เป็นต้น เป็นตลาดที่มีความเข้มงวดมากในเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร(ฟู้ดเซฟตี้)โดยเฉพาะเรื่องสารปนเปื้อนหรือสารตกค้างต่างๆ ขณะที่ไทยมีปัญหาเรื่องกฎระเบียบของกรมวิชาการเกษตรไม่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย รวมถึงเกษตรกรก็ไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนการผลิตให้ปลอดสารเคมีเพียงพอ ทำให้ต้นทางของผลผลิตยังมีปัญหาเรื่องสารตกค้าง

"กรมวิชาการเกษตรไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอในการเข้าไปดูแลเกษตร ในการป้องกันแก้ไขเรื่องสารตกค้างในพืชผักตั้งแต่ต้นน้ำ รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ที่กรมตั้งขึ้นมานานเป็น 10 ปีแล้วไม่ได้รับการปรับปรุงให้ทันกับยุคการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้ส่งออกยังมีปัญหาหลายเรื่อง เช่น การถูกระงับการออกใบรับรองปลอดศัตรูพืช การระงับใบรับรองสุขอนามัยให้กับผู้ส่งออก การระงับการดำเนินการของโรงคัดบรรจุภัณฑ์ 7 วัน 15 วัน ส่งผลธุรกิจเกิดการชะงักงันส่งออกไม่ได้ เรื่องดังกล่าวเป็นผลพวงจากการตรวจพบแมลงศัตรูพืชเกิน 3 ครั้ง และจากตรวจพบสารเคมีตกค้าง"

singapore-314915_960_720-503x377 -อียูไม่เชื่อถือผลแล็บไทย
"พจน์"กล่าวอีกว่า เรื่องสารเคมีตกค้างไม่ได้เกิดจากโรงงานคัดบรรจุและส่งออกผลไม้ แต่มาจากแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร หรือแปลงคอนแทร็กฟาร์ม ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรไม่ได้แยกบทบาทของแต่ละฝ่ายให้ชัดเจน ว่าใครมีหน้าที่อะไร เวลาตรวจพบสารตกค้าง ก็โทษและให้ผู้ซื้อหรือโรงงานรับผิดชอบฝ่ายเดียว ทำให้การส่งออกไปตลาดอียูมีปัญหามายาวนานเป็น 10 ปี และการส่งออกลดลงเรื่อยๆ

ขณะเดียวกันยังอุปสรรคเรื่องห้องปฏิบัติการ(แล็บ)ในการตรวจสารตกค้างที่ในอียูตรวจได้ถึง 400 ชนิด แต่แล็บในไทยตรวจส่วนใหญ่ตรวจสอบได้ 250 ชนิด มีค่าใช้จ่าย 2-3 หมื่นบาท/ตัวอย่าง ส่วนแล็บที่ตรวจได้ 400 ชนิดก็มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 3.5-4 หมื่นบาท/ตัวอย่าง เทียบกับห้องแล็บในอังกฤษตรวจสาร 400 ชนิดมีค่าใช้จ่ายเพียง 125 ปอนด์ต่อตัวอย่าง(5,000บาท) ทำให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนเพิ่ม

"ผลตรวจห้องแล็บบ้านเราพูดกันตามตรงอียูเขาแทบไม่มอง เวลาเราส่งออกไปเขาก็ไปสุ่มตรวจใหม่ผู้นำเข้ามีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เรื่องปัญหาอุปสรรคของผู้ส่งออกในแต่ละตลาดนี้ ทางกรมวิชาการเกษตรไม่ได้คุยกับเรามานาน 5 ปีแล้ว มองว่าถึงเวลาควรจะได้คุยกันเสียที"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,268 วันที่ 8 - 10 มิถุนายน พ.ศ. 2560