คีรี กาญจนพาสน์ เคลียร์ข้อสงสัยลงทุนรถไฟฟ้าชมพู-เหลือง

03 มิ.ย. 2560 | 08:01 น.
คีรี กาญจนพาสน์ เคลียร์ข้อสงสัยลงทุนรถไฟฟ้าชมพู-เหลือง

ที่สุดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และกลุ่มบีเอสอาร์จอยต์เวนเจอร์ ซึ่งประกอบด้วยบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน)ก็ได้ความชัดเจนในกรณีการลงทุนส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเขียว(ลาดพร้าว-สำโรง)ที่กลุ่มบีเอสอาร์จะลงทุนเชื่อมสายสีชมพูเข้าไปยังพื้นที่เมืองทองธานีอีก 2 สถานีระยะทางราว 2.8กิโลเมตร และสายสีเหลืองจะต่อขยายไปตามถนนรัชดาภิเษกผ่านพื้นที่ศาลอาญาไปถึงแยกรัชโยธินระยะทางราว 2.6 กิโลเมตร คิดเป็นมูลค่าการลงทุนราว 6,000 ล้านบาท

โดยการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมาได้ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นำทั้ง 2 ช่วงนั้นกลับไปดำเนินการตามขั้นตอนให้ถูกต้องแล้วกลับมานำเสนอครม.พิจารณาอีกครั้ง
นายคีรี กาญจนพาสน์ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) ได้เปิดแถลงร่วมกับผู้บริหารของทั้ง 2 พันธมิตรถึงข้อเท็จจริงและความพร้อมในการดำเนินการและการนำความเห็นของครม.ไปปฏิบัติ โดยเฉพาะการแจงข้อเท็จจริงในการลงทุนในส่วนต่อขยายใน 2 ช่วงดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจหลายประเด็นว่าสำหรับบีทีเอสเมื่อ 25 ปีก่อน เคยเซ็นสัญญาลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) มาถึงวันนี้ได้รับคัดเลือกและจะมีการเซ็นสัญญาสายสีชมพูและสายสีเหลือง ซึ่งรูปแบบสัญญาคล้ายกัน คือบีทีเอสลงทุนทั้งหมด ทั้งงานโยธาและงานระบบ

การลงทุนครั้งนั้นถือเป็นประสบการณ์ โดยในการเริ่มเปิดให้บริการสายสีเขียวมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 1.5 แสนคนต่อวัน ยังห่างไกลจากตัวเลขตามที่มีผลการศึกษาคาดการณ์ไว้มากจนระยะเวลานานเกือบ 10 ปีจึงจะเพิ่มเป็นจำนวน 8 แสนคนต่อวัน ซึ่งหากนับจำนวนรายได้ยังถือว่าไม่คุ้มค่าการลงทุน อีกทั้งในอดีตยังได้มีการฟื้นฟูกิจการจนสามารถพลิกฟื้นมาสู่การดำเนินกิจการในจุดที่เหมาะสมได้ในปัจจุบันนี้

11
ยันบีทีเอสมีความพร้อมด้านการลงทุน
การนำเสนอเรื่องราวในอดีตเพราะต้องการสื่อให้เห็นว่าโครงการขนาดใหญ่ต้องมีเอกชนมาลงทุนและภาครัฐให้การสนับสนุนในส่วนหนึ่งด้วย ทั้งในการลงทุนและการบริหารด้วยมืออาชีพ ณวันนี้ยอมรับว่าบีทีเอสคืออีกหนึ่งบริษัทที่พร้อมตอบสนองการลงทุนในทุกชนิดได้แล้ว โดยเฉพาะระบบรางที่รัฐบาลต้องคอยให้การสนับสนุนงานโยธา

“ในวันนี้เอกชนที่พร้อมลงทุนด้านนี้จริงๆนั้นมีไม่มากและบีทีเอสยังเป็นบริษัทเดียวในโลกที่ลงทุนระบบสาธารณูปโภคระบบรางด้วยรูปแบบการลงทุน PPP NetCost ที่รัฐบาลไม่ได้ให้การสนับสนุนใดๆเลย”

ดีใจที่ได้ร่วมลงทุนกับบริษัทที่มีความพร้อมในการลงทุนและจริงใจ สามารถขับเคลื่อนโครงการไปสู่ความสำเร็จได้โดยซิโน-ไทย เป็นบริษัทก่อสร้างที่มีคุณภาพ เช่นเดียวกับบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งฯล้วนมีความตั้งใจว่าจะร่วมกันเดินหน้าลงทุนโครงการอื่นของรัฐบาลต่อไป

01
ไขปริศนาซองข้อเสนอพิเศษ
เมื่อครม. อนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง(ลาดพร้าว-สำโรง) ก็พร้อมที่จะเซ็นสัญญากับรฟม. โดยเบื้องต้นกรณีนี้ อยากแจงว่า รฟม.เสนอประมูลจำนวน 3 ซองคือซองด้านเทคนิค ซองการเงิน และซองข้อเสนอพิเศษ(หากชนะในซองการเงินแล้ว) ซึ่งยังระบุว่าหากถูกต้องแล้วก็ไม่สามารถพิจารณาซองข้อเสนอพิเศษก็ได้

ดังนั้นในครั้งนี้จึงอยากให้ทราบสิ่งที่เสนอในซองที่ 3 (ข้อเสนอพิเศษ) นั้นคืออะไร โดยอยากจะบอกว่าบีทีเอสต้องการทำอย่างไรให้โครงการนี้สมบูรณ์ที่สุด ไม่อยากให้ซํ้ารอยกับกรณีสายสีม่วงด้านปริมาณผู้โดยสารน้อยกว่าปกติโดยกรณีสายสีชมพูที่ต่อขยายเข้าไปยังเมืองทองธานีและสายสีเหลืองที่ต่อขยายไปอีกราว 2.6 กิโลเมตรเพื่อเชื่อมกับสายสีเขียวนั้นต้องการทำไปเพื่อให้โครงการนี้มีความสมบูรณ์มากที่สุด เพื่อความสะดวกในการใช้บัตรโดยสารเข้า-ออกจากระบบ แต่ก็ยอมรับว่าอาจมีมุมมองจากผู้คนหลายด้าน ดังนั้นกลุ่มบีเอส อาร์จึงยอมลงทุนให้ทั้งหมดในส่วนต่อขยายดังกล่าว โดยไม่ให้เป็นภาระกับภาครัฐ

ปัจจุบันบีทีเอสดูแลโครงการและบริหารจัดการรถไฟฟ้าอยู่หลายช่วงรวมระยะทางราว67 กิโลเมตร และอีกกว่า 2-3 ปีสายสีชมพูจะเปิดให้บริการอีก 34 กิโลเมตร พร้อมกับสายสีเหลืองเปิดเดินรถได้ระยะทางรวมก็จะเพิ่มมาอีก 64 กิโลเมตร เช่นเดียวกับสายสีเขียวสามารถต่อขยายจากบางหว้าไปถึงตลิ่งชันระยะทางบีทีเอสจะเพิ่มอีก 7 กิโลเมตรนอกจากนั้นยังมีสายสีทองในโซนพื้นที่ฝั่งธนบุรีรวมระยะทางที่จะเพิ่มมาอีกราว 141 กิโลเมตรที่บีทีเอสจะได้ดูแลและบริหารจัดการเดินรถ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,267 วันที่ 4 - 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560