นกแอร์จ่อเพิ่มทุนซ้ำ SCB ตัดเงินกู้-กลต.อุ้ม‘จุฬางกูร’

04 มิ.ย. 2560 | 07:30 น.
นกแอร์ต้องเพิ่มทุนอีกใน 6 เดือน อาจไม่พ้นขอฟื้นฟูกิจการ เหตุแบกหนี้-ค่าใช้จ่ายเดือนละ 400 ล้านสูงกว่ารายได้ ผงะ! ไทยพาณิชย์ตัดสินเชื่อ 3 เดือนก่อน ด้าน ก.ล.ต.ชี้“จุฬางกูร” ไม่เข้าข่ายเทนเดอร์

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาหลังบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) (NOK) ประกาศผลเพิ่มทุน โดยเฉพาะข้อสังเกตที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (THAI) จากที่เคยเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 39.20% แต่หลังเพิ่มทุนการบินไทยไม่ใช้สิทธิ์ ทำให้สัดส่วนลดลงเหลือ 21.57% ทำให้กลุ่ม "จุฬางกูร" คือนายทวีฉัตรกับนายณัฐพล จุฬางกูร 2 พี่น้องผงาดเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ในสัดส่วนรวม 28.93% นอกจากนักลงทุนในตลาดหุ้นสนใจเรื่อง TENDER OFFER (การทำคำเสนอซื้อหุ้นต่อผู้ถือหุ้นทั่วไป) แล้ว สังคมยังจับตามองเพราะส่งกระทบต่อการบินไทย สายการบินแห่งชาติที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริษัท การบินไทย เปิดเผยสาเหตุที่การบินไทยตัดสินใจไม่ใส่เงินเพิ่มทุนนกแอร์ ขณะที่ผู้ถือหุ้นรายอื่นจองซื้อเข้ามาตามสิทธิและจองเกินสิทธิทำให้ขายหุ้นได้ 1,224 ล้านบาท ว่า การตัดสินใจทั้งหมดยืนอยู่บนพื้นฐานของการรักษาผลประโยชน์ของการบินไทย และหน่วยงานของรัฐเป็นหลัก โดยคณะกรรมการพบข้อมูลทางการเงินของนกแอร์ว่า มีมูลค่าหุ้นทางบัญชีติดลบ จากการขาดทุนติดต่อกันมา 3-4 ปี โดยปี 2557 ขาดทุน 471.66 ล้านบาท ปี 2558 ขาดทุน 726.10 ล้านบาท ปี 2559 ขาดทุน 2,795.09 ล้านบาท และไตรมาสแรกของปี 2560 ขาดทุนไปถึง 295.56 ล้านบาท หากมีการใส่เงินทุนลงไปจะทำให้มูลค่าของเงินที่หายไปทันที เพราะมีการนำเงินไปจ่ายหนี้เป็นหลัก

nokair-logo (1) นอกจากนี้ การใส่ทุนรอบนี้ก็ยังไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหา เนื่องจากปัจจุบันนกแอร์มีหนี้ที่ต้องชำระมาก มีต้นทุนรายจ่ายที่สูงกว่ารายได้จากการว่าจ้างกัปตันที่สูงกว่าสายการบินแม่ มีค่าใช้จ่ายในการเช่าเครื่องบินและค่าซ่อมเครื่องบินที่ผูกในสัญญาที่สูงมาก

ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินมีการวิเคราะห์แล้วพบว่าแม้ว่าจะใส่ทุนไปให้นกแอร์รอบนี้แล้วปัญหายังไม่จบ จะต้องมีการเพิ่มทุนรอบ 2 ในระยะเวลาอันใกล้ไม่ถึง 6 เดือน พิจารณาจากภาระค่าใช้จ่ายของนกแอร์ที่ตกประมาณเดือนละ 400 ล้านบาทเศษ ดังนั้นจะต้องมีคำตอบให้ผู้ถือหุ้นและรัฐว่าหากใส่เงินไปแล้วเกิดปัญหาขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ

ประเด็นต่อมาที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้คณะกรรมการตัดสินใจไม่ใส่เงินเพิ่มทุนด้วยมติเอกฉันท์ สอดคล้องกับการที่ธนาคารไทยพาณิชย์ที่ถือหุ้นใหญ่ไม่ใส่เงินเพิ่มทุนไปด้วยคือ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือทักท้วง เกี่ยวกับประเด็นนี้ พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง อดีต ผบ.ทอ. ก็สนับสนุนว่าไม่ให้ใส่เพิ่มทุนให้กับนกแอร์

“ในเรื่องนี้ เราได้สอบถามไทยพาณิชย์ได้รับคำชี้แจงมาเป็นการภายในว่า ไทยพาณิชย์ได้ตัดวงเงินนกแอร์มาระยะหนึ่ง 3-4 เดือนแล้ว ล่าสุดทางนกแอร์ต้องหันไปใช้บริการวงเงินเพื่มเติมจากทางธนาคารกสิกรไทยที่เป็นเจ้าหนี้อันดับรองลงมา” แหล่งข่าวระบุ

[caption id="attachment_156745" align="aligncenter" width="503"] อุษณีย์ แสงสิงแก้ว อุษณีย์ แสงสิงแก้ว[/caption]

**เพิ่มทุนใหม่ใน 6 ดือน
กรรมการบริษัทการบินไทยกล่าวว่า สุดท้ายปลายทางในการแก้ปัญหาของสายการบินนกแอร์ คือจะต้องยื่นเรื่องขอฟื้นฟูกิจการเพื่อลดภาระในการจ่ายหนี้ ไม่เช่นนั้นเดินไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของนกแอร์ที่ผู้ถือหุ้นและสังคมต้องตั้งคำถามคือการทำหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทที่ปล่อยให้มีปัญหามากขนาดนี้

รวมถึงตัวแทนของการบินไทย 4 คน ที่เข้าไปนั่งเป็นกรรมการด้วย คือ นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการดี และรองดีดีอีก 3 คน ประกอบด้วยเรืออากาศเอกมนตรี จำเรียงนาย ธีรพล โชติชนาภิบาลและนายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์
ส่วนประเด็นการบินไทยจะขายหุ้นออกไปให้กับสายการบินต่างประเทศนั้น คงเป็นไปไม่ได้ที่จะขายตรง เพราะมีเงื่อนไขที่ผูกไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มทุนตั้งกิจการว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 3-4 ราย ไม่สามารถขายหุ้นนกแอร์ให้สายการบินอื่นได้ แต่สามารถทยอยขายหุ้นออกไปในตลาดได้

maxresdefault-1 นอกจากนี้ ต้องจับตาว่าการที่คนในตระกูลจุฬางกูรใส่เงินเพิ่มทุนเข้ามจนกลายเป็นผู้หุ้นรวมกันเกินกว่า 25% จะต้องทำ TENDER OFFER จากผู้ถือหุ้นรายอื่นหรือไม่ เพราะแม้จะใส่เงินเพิ่มทุนของผู้หุ้นเดิม แต่มีการจองหุ้นเกินกว่าในสัดส่วนที่ถือครอง ซึ่งคาดว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คงต้องพิจารณาเรื่องนี้ในระยะเวลาอันใกล้นี้

“แม้การบินไทยจะไม่ใส่ทุนในรอบนี้ที่ขายต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายในตลาดเกือบครึ่ง แต่ไม่ได้ทำให้การบินไทยเสียหายมากนัก เนื่องจากในระยะที่ผ่านมาการบินไทยได้รับเงินปันผลมาสูงกว่าเม็ดเงินที่ลงทุนเกือบ 300 ล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ NOK ได้เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 1 หุ้นเดิม 1 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 2.40 บาท สามารถขายหุ้นเพิ่มทุนได้ 510,999,882 หุ้น ได้รับเงินจำนวน 1,226.40 ล้านบาท เพื่อใช้เสริมสภาพคล่องในการบริหารงาน

**ก.ล.ต.ชี้ไม่ต้อง TENDER
กรณีนายทวีฉัตร จุฬางกูร ถือหุ้น NOK เพิ่มขึ้นเป็น 177 ล้านหุ้น สัดส่วน 15.64% และ นายณัฐพล จุฬางกูร ถือเพิ่มเป็น 151 ล้านหุ้น หรือ 13.29% รวมทั้งสองถือหุ้น 28.93% ของทุนเรียกชำระแล้ว ซึ่งเข้าเกณฑ์การถือหุ้นมากกว่า 25% ต้องทำ TENDER OFFER หรือไม่นั้น นายปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ตามหลักเกณฑ์เรื่องการครอบงำกิจการ ในการดูเรื่องนับรวมบุคคลในกลุ่มเดียวกัน (acting in concert) นั้นจะดูที่การมีเจตนาร่วมกันประกอบเป็นหลัก อาทิ การร่วมกันใช้สิทธิออกเสียงไปในทางเดียวกัน หรือยอมให้คนอื่นใช้สิทธิออกเสียง เพื่อควบคุมกิจการร่วมกันหรือไม่ เป็นต้น ดังนั้นการมีนามสกุลเดียวกัน หรือถือหุ้นอยู่ในบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เดียวกันเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าจะใช้สิทธิออกเสียงไปในทางเดียวกันหรือมีการควบคุมร่วมกันเสมอไป

“เมื่อดูตามแบบรายงานการถือครองหลักทรัพย์ตามมาตรา 246 ไม่มีข้อมูลดังกล่าว บุคคลทั้งสองไม่ได้รายงานว่าเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกันตามมาตรา 258 หรือเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกันแต่อย่างใด” นายปริยกล่าว

3-1 ด้านราคาหุ้น NOK วันที่ 2 มิ.ย. เปิดตลาดในช่วงเช้า 3.88 บาท ลดลง 0.60 บาท ปัจจัยหลักอยู่ที่ลูกหุ้นเพิ่มทุน 511 ล้านหุ้น เข้าซื้อขายในตลาดเป็นวันแรก

นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) หรือ ACT กล่าวว่า เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ สังคมกำลังตั้งคำถามด้วยว่า แล้วจะมีมาตรการใดในการตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไรด้วย
“ต้องหยุดความเสียหาย อยากให้มีการตรวจสอบอย่างชัดเจน เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นซึ่งถือเป็นสมบัติชาติ การลงทุนในนกแอร์ก่อนหน้านี้ ได้พิจารณารอบคอบแล้วจริงหรือไม่” นายมานะกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,267 วันที่ 4 - 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560