เกษตรฯโชว์แผนบริหารน้ำรับฝน ถอดโมเดล'น้ำท่วมใต้'รับมือ

04 มิ.ย. 2560 | 06:00 น.
กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศประเทศไทยได้เริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝนแล้วเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หน่วยงานหลักที่ดูแลภาคเกษตรโดยตรงได้มีการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติเพื่อป้องกันและบรรเทาความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูฝนที่มาถึง "ฐานเศรษฐกิจ"สัมภาษณ์พิเศษ "ธีรภัทร ประยูรสิทธิ"ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถึงแผนการจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูฝนในเขตชลประทานปี 2560 รวมถึงแนวทางขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำตามนโยบายของรัฐมนตรี

-แผนน้ำลุ่มเจ้าพระยา
"ธีรภัทร" กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำฤดูฝนระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 - 31 ตุลาคม 2560 เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมีเพียงพอสำหรับการใช้น้ำตลอดฤดูฝน และเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้ง ล่าสุดกรมชลประทานได้รายงานสถานการณ์ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใน 4 เขื่อนหลักได้แก่เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำต้นทุนที่ใช้การได้รวม 4,400 ล้านลูกบาศก์เมตรโดยแยกพื้นที่เป็น 2 ส่วนคือ

1.ตอนบนของลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ (ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ขึ้นไป) อาทิ พื้นที่ลุ่มต่ำ ทุ่งบางระกํา พื้นที่ 0.265 ล้านไร่ เริ่มส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 1 ตั้งแต่ 1 เมษายน 2560 คาดจะเก็บเกี่ยวช่วงสิงหาคม-กันยายน จะปรับเปลี่ยนปฏิทินการปลูกพืช เพื่อใช้เป็นพื้นที่รับน้ำ เป็นต้น 2. ตอนล่างของลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ (ตั้งแต่นครสวรรค์ลงมา) พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ 1.15 ล้านไร่ เริ่มส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 1 ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2560 ส่วนจังหวัดอื่นเริ่มเพาะปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนโดยจะใช้น้ำฝนเป็นหลัก และเสริมด้วยน้ำท่าและน้ำชลประทาน

-พท.เป้าหมาย 20ล้านไร่
ส่วนแผนการจัดสรรน้ำชลประทานปีนี้มีพื้นที่เป้าหมายรวมทั้งประเทศประมาณ 20.86 ล้านไร่ ประกอบด้วยข้าวนาปี 15.950 ล้านไร่ พืชไร่ 0.276 ล้านไร่ พืชผัก 0.185 ล้านไร่ อ้อย 0.918 ล้านไร่ ไม้ผล 1.092 ล้านไร่ ไม้ยืนต้น 1.206 ล้านไร่ บ่อปลา 0.482 ล้านไร่ บ่อกุ้ง 0.301 ล้านไร่ และพืชอื่นๆ 0.452 ล้านไร่ รวมความต้องการใช้น้ำภาคเกษตร 2.12 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังมีความต้องการใช้น้ำนอกภาคเกษตรอีก 6,594 ล้านลูกบาศก์เมตร ประกอบด้วยการอุปโภคบริโภค 1,560 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมแผนการใช้น้ำในช่วงฤดูฝนทั้งสิ้น 2.78 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร

72328-Large-265x198 -ยึดเกณฑ์คลังจ่ายเยียวยา
ส่วนกรณีที่ได้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นมา ทางศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์อุทกภัย ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 14 จังหวัด เข้าสู่ภาวะปกติ 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ พิจิตร อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร เลย นครพนม สกลนคร และสระแก้ว ยังคงมีสถานการณ์อยู่ 5 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย นครสวรรค์ ชลบุรี และสุพรรณบุรี

ด้านพืช ประสบภัย 15 จังหวัด เกษตรกรได้รับผลกระทบ 6.38 หมื่นราย พื้นที่คาดจะเสียหาย 8.38 แสนไร่ แบ่งเป็น ข้าว 7.19 แสนไร่ พืชไร่ 9.83 หมื่นไร่ พืชสวนและอื่น ๆ กว่า 2 หมื่นไร่ ด้านประมง ประสบภัย 7 จังหวัด เกษตรกรได้รับผลกระทบ 7,061 ราย พื้นที่ประสบภัยเป็นบ่อปลา 5,904.72 ไร่และกระชัง 80 ตารางเมตรด้านปศุสัตว์ประสบภัย 4 จังหวัด เกษตรกรได้รับผลกระทบ 8,527 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 4.70 แสนตัว แปลงหญ้า132 ไร่ ทั้งนี้ผลกระทบและการช่วยเหลือยึดตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินพ.ศ. 2556 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2559 อาทิ ข้าวอัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ อัตราไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่นๆ อัตราไร่ละ 1,690 บาท ช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจริงไม่เกิน 30 ไร่

image-34-503x377 -4 เขื่อนใหญ่ยังรับน้ำได้อีก
ปัจจุบัน กรมชลประทาน รายงานข้อมูล ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2560 สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำลุ่มเจ้าพระยา 4 เขื่อนใหญ่ มีปริมาตรน้ำรวม 1.09 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร( ลบ.ม.)คิดเป็น 44% ของความจุสามารถรับน้ำได้อีก 1.39 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร หรือมากกว่า 50% ของปริมาณความจุ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการปรับปฏิทินการปลูกพืชใหม่ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

"การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมมีการบูรณาการความร่วมมือหลายหน่วยงาน เพื่อวางแผนระยะสั้น กลาง และระยะยาว อาทิ การขุดลอกคลองต่างๆ กำจัดวัชพืชและผักตบชวา การปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ และเพิ่มแหล่งน้ำ อาทิ โครงการแก้มลิงขนาดเล็ก 30 แห่งในพื้นที่ 5 จังหวัดของภาคอีสาน โดยจะเก็บกักน้ำที่ไหลจากภูเขามาเก็บไว้ในพื้นที่ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง เป็นต้น"

ส่วนแผนระยะยาว ทางกรมชลฯ มีการวางแผนพัฒนาแหล่งเก็บน้ำที่สามารถก่อสร้างได้ภายในปี 2562 ,ากกว่า 50 โครงการ สามารถเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1.1 ล้านไร่ นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาอาคารบังคับน้ำในลำน้ำหลัก ได้แก่ ประตูระบายน้ำ ฝาย เพื่อกักเก็บน้ำในลำน้ำก่อนไหลออกนอกลุ่มน้ำ อาทิ แม่น้ำยม แม่น้ำอิง แม่น้ำมูล แม่น้ำวังโตนด และแม่น้ำเลย รวมทั้งแผนเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก โดยการผันน้ำจากกลุ่มน้ำสาละวินและสาขาเข้ามาเติม จะทำให้การบริหารน้ำน้ำท่วม น้ำแล้ง มีประสิทธิผลมากขึ้นอนาคต

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,267 วันที่ 4 - 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560