ดึง‘ไอซีบีซี’ต้อนทุนจีนลงอีอีซี เอ็มโอยู‘สกรศ.’เป็นที่ปรึกษาการเงิน-ปล่อยกู้

29 พ.ค. 2560 | 06:00 น.
สกรศ.ดึงไอซีบีซี และสมาคมธนาคารไทย เซ็นเอ็มโอยู ขับเคลื่อนด้านการลงทุนในอีอีซี หวังดึงดูดนักลงทุนจีนที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีธนาคารใหญ่ของจีน เป็นที่ปรึกษาและให้การหนุนหลังด้านการเงิน

จากที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจได้เดินทางเยือนเขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกงและนครเซี่ยงไฮ้ เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาเพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งการชักจูงนักลงทุนจีนเข้ามาร่วมลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ภายใต้นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง(One Belt One Road) ของจีน

การกระชับความสัมพันธ์ดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนจีนและฮ่องกง กลับมาเยือนไทยอีกครั้งในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อหารือความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และเป็นการตอกยํ้าว่ามีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซี รวมถึงการลงทุนใน10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่นอุตสาหกรรมอากาศยานและระบบบำบัดของเสีย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ธนาคาร Industrial and Commercial Bank of China Limited (ICBC)สาธารณรัฐประชาชนจีน สมาคมธนาคารไทย และสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(สกรศ.) ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ด้านการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินให้กับนักลงทุนจีนที่จะเข้ามาแล้ว

นายยงมิน ถัง รองประธานและหัวหน้าศูนย์ธุรกิจจีน ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การลงนามเอ็มโอยูดังกล่าว ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเป็นที่ปรึกษา (advisory service) โดยธนาคารไอซีบีซี(ไทย) จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุนและที่ปรึกษาทางการเงินให้กับบริษัทของจีนที่สนใจจะเข้ามาลงทุนหรือทำกิจกรรมทางธุรกิจในพื้นที่อีอีซี ยกตัวอย่างเช่น การให้คำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของโครงการให้การปรึกษาและความสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทที่จะเข้ามาลงทุน เนื่องจากเห็นว่ามีบริษัทจีนจำนวนมากที่สนใจเข้ามาลงทุน

โดยปัจจุบันมีบริษัทจีนได้เข้าไปลงทุนในโครงการต่างๆในพื้นที่จังหวัดที่จัดว่าเป็นพื้นที่อีอีซี จำนวนกว่า 100 ราย ยกตัวอย่างรายใหญ่ อาทิ บริษัท จงเชอ่ รับเบอร์ฯ ผู้ผลติ ยางรถยนต์รายใหญ่ของจีน เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานมูลค่ากว่า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และบริษัท เทลซนั โซลาร์ฯในเครอื Zhongli SciTech Group ที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตชุดประกอบแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่จังหวัดระยอง เป็นต้น

นายคณิศ แสงสุพรรณเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (ครศ.) กล่าวว่าบันทึกความเข้าใจดังกล่าวเป็นการแสดงถึงความตั้งใจของธนาคารไอซีบีซี และสมาคมธนาคารไทยที่จะทำงานร่วมกับสกรศ. เพื่อดึงดูดนักลงทุนจีนที่มีศักยภาพให้มาลงทุนในอีอีซี โดย ไอซีบีซีจะทำหน้าที่ให้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับอีอีซีพร้อมทั้งให้การสนับสนุนส่งเสริมการให้บริการทางการเงินกับนักลงทุนจีนที่จะมาลงทุนในพื้นที่อีอีซเริ่มจากการคัดกรอง นักลงทุนที่มีความสามารถและมีความพร้อมที่จะมาลงทุนในกลุ่ม10 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก

ขณะที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการจัดหาพื้นที่ให้กับนักลงทุนจีนที่มีศักยภาพ พร้อมด้วยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ และสกรศ. จะทำงานร่วมกันในการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนให้กับนักลงทุนจีนที่จะลงทุนในพื้นที่อีอีซีเพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,265 วันที่ 28 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560