‘สิงคโปร์’หนุนงานวิจัย เก็บไฟฟ้าด้วยไฮโดรเจน

29 พ.ค. 2560 | 13:00 น.
"เอ็นจี” บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานจากประเทศฝรั่งเศส เร่งวิจัยนวัตกรรมกักเก็บพลังงานไฟฟ้าด้วยก๊าซไฮโดรเจนบนเกาะเซมากัว ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศสิงคโปร์ โดยบริษัทคาดหมายว่านี่จะเป็นนวัตกรรมที่นำไปสู่การพัฒนาการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืน

นายดิดิเยร์ ออลโล รองประธานบริหารของเอ็นจี เปิดเผยว่า การกักเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ในแบตเตอรี่เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่การเก็บไฟฟ้าไว้ในโมเลกุลของไฮโดรเจนเป็นรูปแบบที่มีศักยภาพอย่างมากในระยะยาว อาจจะเป็นรูปแบบที่แพร่หลายอย่างกว้างขวางในอนาคต ทั้งนี้เนื่องจากการเก็บพลังงานในแบตเตอรี่สามารถใช้ได้ดีในกรณีที่เก็บไว้ใช้ในระหว่างวันหรือในระยะเวลาสั้นๆ แต่หากต้องการกักเก็บไว้เป็นเวลานาน เช่นผลิตไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนที่มีแดดจัดไว้ใช้ในช่วงฤดูหนาวหรือฤดูฝนที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดได้มากนัก ทีมวิจัยของเอ็นจีมองว่า ไฮโดรเจนคือทางเลือกที่น่าจะมีศักยภาพมากกว่า

[caption id="attachment_154552" align="aligncenter" width="503"] ‘สิงคโปร์’หนุนงานวิจัย เก็บไฟฟ้าด้วยไฮโดรเจน ‘สิงคโปร์’หนุนงานวิจัย เก็บไฟฟ้าด้วยไฮโดรเจน[/caption]

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่มีอยู่ในขณะนี้คือ การใช้ไฮโดรเจนกักเก็บไฟฟ้ายังมีต้นทุนสูงมาก คือยังมีต้นทุนสูงกว่าระบบของเครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันดีเซลประมาณ 10 เท่า (จากผลศึกษาของบริษัท โตชิบา คอร์ป ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนำเสนอภายในงาน World Smart Energy Week ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา) งานวิจัยเปิดเผยว่า ขั้นตอนการกักเก็บไฟฟ้าด้วยไฮโดรเจนนั้น มี 3 ขั้นตอนพื้นฐาน คือ ใช้กระบวนการอิเล็กโตรลิซิส (electrolysis)ของกระแสไฟฟ้าแยกน้ำเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน จากนั้นก็เก็บไฮโดรเจนไว้จนกว่าต้องการจะนำมาใช้ (ในการกำเนิดไฟฟ้า) ซึ่งก็จะนำไฮโดรเจนมาฉีดเข้าสู่เซลล์เชื้อเพลิง (fuel cells) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าการนำกระบวนการเหล่านี้มาทำเป็นระบบที่สามารถใช้ในเชิงพาณิชย์ยังคงเป็นโจทย์ของทีมงานวิจัย โดยโจทย์ใหญ่คือการคิดค้นอุปกรณ์แยกโมเลกุลของน้ำที่มีต้นทุนถูกลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งนั่นอาจจะต้องใช้เวลาวิจัยอีก 10-15 ปี

โครงการวิจัยเกี่ยวกับพลังงานไฮโดรเจนบนเกาะเซมากัวของสิงคโปร์ เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท เอ็นจี และบริษัท ชไนเดอร์ อิเล็กทริก จากประเทศฝรั่งเศส กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็ก (micro grid) ที่ผนวกพลังงานหมุนเวียนหลากรูปแบบ (พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานคลื่นสมุทร รวมทั้งพลังเชื้อเพลิงดีเซล) และพัฒนาเทคโนโลยีการกักเก็บกระแสไฟฟ้าเพื่อป้อนความต้องการใช้ไฟฟ้าของชุมชนขนาดเล็ก (เช่น บนเกาะ) ที่อยู่นอกโครงข่ายกระแสไฟฟ้าหลักได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,265 วันที่ 28 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560