สภาพคล่องล้น ดอกเบี้ยถูก กดคนออมเงินจนตรอก

27 พ.ค. 2560 | 04:00 น.
การที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาขอร้องแกมสั่ง ให้แบงก์พาณิชย์ลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อช่วยลดภาระให้กับผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอีและแก้ปัญหาหนี้เสียในระบบที่เริ่มก่อตัวสูงขึ้น ถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย แต่ถ้ามองทางด้านผู้ฝากที่แสวงหาผลตอบแทนจากการฝากเงินแล้ว ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าดอกเบี้ยไทยยังอยู่ช่วงขาลง

++สภาพคล่องล้นต้นตอ
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุสภาพคล่องวัดจากสินเชื่อต่อเงินฝากของแบงก์พาณิชย์ ณ สิ้นเดือนมีนาคม2560 อยู่ที่ 96.25 สัดส่วนดังกล่าวสะท้อนจากเงินฝากทั้งระบบที่มี12.42 ล้านล้านบาท สินเชื่อ 11.95 ล้านล้านบาท โดยปริมาณเงินฝากมีมากกว่าสินเชื่อกว่า 4.7 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมสภาพคล่องจากสถาบันการเงินอื่นที่คาดว่ารวมกันแล้วจะมากถึง 1 ล้านล้านบาท

เมื่อสภาพคล่องส่วนเกินในระบบสูงย่อมฉุดให้ดอกเบี้ยเงินฝากลดตํ่าลงด้วย จึงไม่สงสัยเลยว่าทำไมพันธบัตรออมทรัพย์ ครั้งที่ 2/2560 ของกระทรวงการคลัง วงเงิน 1.5หมื่นล้านบาท ที่เปิดจำหน่ายระหว่างวันที่ 8 พฤษภาคม-31 สิงหาคม 2560 2 รุ่นคือรุ่นอายุ 5 ปี ดอกเบี้ยคงที่ 2.35% ต่อปี (หักภาษีแล้วเหลือ2.295%) และรุ่นอายุ 10 ปี ดอกเบี้ยคงที่ 3.00% ต่อปี (หักภาษีเหลือ2.91%) จะขายหมดในเวลาไม่ถึง 2 วัน แบงก์กรุงไทยปิดขายตามโควตาตั้งแต่วันแรก ถือเป็นปรากฏที่ไม่ธรรมดา และสะท้อนว่าผู้ออมไม่มีทางเลือกมากนัก

++บอนด์คลังเกลี้ยงใน 1 วัน
ต่อประเด็นดังกล่าว นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าสาเหตุที่พันธบัตรออมทรัพย์เป็นที่ต้องการมาก เพราะให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยฝาก (ตารางประกอบ) มั่นคงกว่าและไม่มีความเสี่ยง เทียบกับการลงทุนในตราสารหนี้ หุ้นเวลานี้ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ในไตรมาส 1 ก็ยังไม่ดีนัก ประกอบกับการเสนอขายครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนๆ คือไม่ได้กำหนดเพดานและจำนวนครั้งที่จะซื้อ ดังนั้นมูลนิธิสหกรณ์วัดรายใหญ่ก็แห่ซื้อ ซึ่งคาดอยู่แล้วว่าจะขายหมดภายใน 1-2 วัน

เมื่อตลาดตอบรับดี ล่าสุดคลังได้เพิ่มวงเงินสำหรับการออกพันธบัตรออกมทรัพย์อีก 3,000 ล้านบาท หรือเพิ่ม 10% เปิดขายระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคมถึงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ กำหนดเพดานซื้อสูงสุดรวมทุกรุ่นต้องไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อ 1 ธนาคาร จากที่คลังเปิดขายปีละ 3 หมื่นล้านบาทรอบแรก 1.5 หมื่นล้านบาทและรอบ 2 อีก 1.5 หมื่นล้านบาท

++เสียงจากผู้ออมรายใหญ่
นายสมชาย อารยชาติสกุลผู้อำนวยการฝ่ายเงินฝาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และในฐานะกรรมการสหกรณ์ธกส. ให้ความเห็นว่า พันธบัตรออมทรัพย์รอบนี้ยังไม่จูงใจ เมื่อเทียบกับหุ้นกู้ที่อายุเท่ากันยังให้ผลตอบแทนดีกว่า (หุ้นกู้อายุ 5 ปี เรตติ้ง A+, A-อยู่ที่ 3.14%,3.28% หักภาษีแล้วเหลือที่ 2.67%,2.79%) และสหกรณ์ธกส.ก็ไม่ได้ซื้อเข้าใจว่าที่ซื้อจะเป็นรายใหญ่มากกว่า

“ภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ยังไม่ฟื้น หันไปลงทุนทางไหน ตลาดหุ้นก็ไม่ดี ทองคำก็แย่ จึงไม่แปลกว่าพันธบัตรออมทรัพย์รอบนี้จะได้รับความสนใจมาก”

ด้าน ธ.ก.ส. มีแผนจะออกสลากออมทรัพย์ทวีสิน 3 ชุด วงเงินรวม 1.05 แสนล้านบาท ได้แก่ ชุดเกษตรกรมั่นคง เกษตรกรมั่งคั่งและเกษตรกรยั่งยืนเพื่อรองรับสลากออมทรัพย์ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนโดยชุดแรกวงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาทจะเริ่มจำหน่ายในเดือนกรกฎาคมนี้

++สลากหั่นดอกเบี้ยอีก
อย่างไรก็ดีสลากออมทรัพย์ธ.ก.ส. ชุดที่ 4 วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท ที่ปิดจำหน่ายไปเมื่อกลางเดือนเมษายน ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 0.42% ต่อปี หรือหน่วยละ 100บาท ถือครบ 3 ปี รับดอกเบี้ย 1.25บาท พร้อมลุ้นรางวัลมูลค่าสูงสุด10 ล้านบาทใน 36 งวด ขณะที่สลากออมสินหน่วยละ 50 บาท ถือครบ 3 ปี จ่ายผลตอบแทน 0.60 บาทดอกเบี้ยเฉลี่ยปีละ 0.40% ซึ่งปรับลดลงจาก 2 เดือนก่อนหน้าที่ ดอกเบี้ยเฉลี่ยปีละ 0.50%

สอดคล้องกับผู้จัดการสาขาลำลูกกา ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การที่ภาครัฐได้ขอให้แบงก์พาณิชย์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง ทำให้ผู้ออมเชื่อว่าดอกเบี้ยเงินฝากก็ต้องปรับลดตาม จึงทำให้พันธบัตรออมทรัพย์ได้รับความนิยม เพราะสามารถล็อกผลตอบแทนยาว โดยในรอบที่เปิดขายเพิ่มเติม3,000 ล้านบาท เริ่มวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ แบงก์กรุงไทยก็สามารถปิดการขายภายในครึ่งวันแรก เนื่องจากมีรายย่อยที่พลาดจากครั้งก่อนและสหกรณ์ต้องการซื้อเพิ่มเพื่อกระจายการลงทุน

++หุ้นกู้ เพื่อรายใหญ่
ขณะที่ตลาดหุ้นกู้ที่ออกมาในช่วงเดียวกัน “ฐานเศรษฐกิจ”สำรวจพบว่าส่วนใหญ่เป็นการขายให้กับสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่อาทิ หุ้นกู้ บริษัทบัตรกรุงไทยฯ หรือKTC มูลค่า 2,500 ล้านบาท เรตติ้ง A+ อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย3.142% ต่อปีจ่ายทุก 3 เดือน เสนอขายวนั ที่ 29-31 พฤษภาคมนี้ ซื้อขั้นตํ่า 1 แสนบาท และเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณของ 1 แสนบาท, หุ้นกู้ ช.การช่างมูลค่า 6,000 ล้านบาท เรตติ้ง A- อายุ4, 7, 10 และ 12 ปี ดอกเบี้ย 2.97%,3.80%, 4.19% และ 4.32% ตามลำดับเสนอขายวันที่ 24-25 พฤษภาคมนี้ให้กับนักลงทุนสถาบันและรายใหญ่เป็นต้น

เห็นทีคงต้องฝากการบ้านถึงรัฐบาล ให้เร่งงัดมาตรการกระตุ้นลงทุนเพิ่มเติม เพื่อดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบ ดันให้ตลาดเงินเกิดความสมดุล แทนที่จะปล่อยให้ผู้ออมอยู่ในสภาพจนตรอก ต้องจำใจปล่อยให้เงินทำงานเพื่อแลกกับผลตอบแทนที่หดหายไป

P6-3264-A-304x420 จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,264 วันที่ 25 - 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2560