โคคา-โคลา เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเกษตรกรหญิงชาวไร่อ้อย

29 พ.ค. 2560 | 02:00 น.
หนึ่งในแผนงานด้านความยั่งยืนของกลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา 3 ด้าน คือ "ME" "WE" และ "World" เรื่องของ "การส่งเสริมพลังผู้หญิง" คือเรื่องสำคัญที่โคคา-โคลา หยิบยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในโครงการเพื่อสังคมที่ทำอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการ 5by20 ที่มุ่งเพิ่มศักยภาพด้านการดำเนินธุรกิจให้กับผู้หญิงในห่วงโซ่คุณค่าของโคคา-โคลา จำนวน 5 ล้านคน ภายในปี 2020 (พ.ศ. 2563) โดยเริ่มตั้งแต่ชาวสวนผลไม้ ไปจนถึงช่างฝีมือ

ปีนี้ โคคา-โคลาเดินหน้า ‘โครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย’ เสริมแกร่งพันธมิตรทางธุรกิจ พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยร่วมกัน โดยร่วมกับกลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย จัดอบรมนำร่องเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยในจังหวัดเพชรบูรณ์และอุทัยธานีไปแล้ว 625 คน

"นันทิวัต ธรรมหทัย" ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการมาระยะหนึ่ง ได้ประเมินผลพบว่า ชาวไร่เริ่มมีการนำทักษะและความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งการประเมินสุขภาพทางการเงินและการควบคุมค่าใช้จ่าย ตลอดจนการเตรียมตัวเริ่มต้นทำไร่อ้อยในฤดูกาลใหม่ ซึ่งหน่วยงานพันธมิตรจะยังคงประสานความร่วมมือในการทำงาน และประเมินผลร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ไปจนสิ้นสุดระยะเวลานำร่องในเดือนกรกฎาคม 2560 นี้ และเตรียมขยายผลที่ได้มาพัฒนาโครงการในระยะต่อๆ ไป

กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง ซึ่งส่งเสริมการทำเกษตรที่ยั่งยืน มีฝ่ายปฏิบัติงานไร่อ้อยที่เข้มแข็งและทำงานใกล้ชิดกับชาวไร่อยู่แล้ว ทำหน้าที่รับผิดชอบงานฝึกอบรมการเกษตรที่ยั่งยืน ส่วนการฝึกอบรมการบริหารการเงินส่วนบุคคล สถาบันคีนันแห่งเอเซีย ทำหน้าที่เป็นวิทยากรร่วม คีนัน เข้ามาสำรวจพื้นที่และพูดคุยกับชาวไร่ตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการ เพื่อพัฒนาหลักสูตรการบริหารการเงินส่วนบุคคล ที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของสตรีชาวไร่อ้อยในพื้นที่

"ปิยะบุตร ชลวิจารณ์" ประธานอำนวยการและรองประธานกรรมการ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวถึงหลักสูตรการบริหารการเงินส่วนบุคคลว่า มี 5 หัวข้อ คือ 1.การตั้งเป้าหมายชีวิตและเป้าหมายทางการเงิน 2.การใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพและการทำบัญชีครัวเรือน 3.การบริหารจัดการหนี้ 4.การออม และ 5.การลงทุนและทักษะการเป็นผู้ประกอบการ รูปแบบของหลักสูตร เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เข้าอบรม เข้าใจง่าย และสามารถนำความรู้ไปใช้ได้ทันที

[caption id="attachment_153453" align="aligncenter" width="503"] โคคา-โคลา เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเกษตรกรหญิงชาวไร่อ้อย โคคา-โคลา เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเกษตรกรหญิงชาวไร่อ้อย[/caption]

ผลที่ตามมาหลังจากดำเนินโครงการ คือ เกษตรกรหญิง มีความรู้ด้านการจัดการการเงินเพิ่มขึ้น 29% เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 20% นอกจากนี้ ยังมีความพึงพอใจต่อโครงการในภาพรวม 80% และที่สำคัญ ขณะนี้มีเกษตรกรจำนวนหนึ่ง เริ่มตั้งเป้าหมายการเงิน หลายคนเริ่มทำบัญชีรายรับรายจ่ายและออมเงิน ทำอาชีพเสริมเพื่อลดหนี้และเพิ่มรายได้

เกษตรกรหญิงบางคน ได้นำความรู้การบริหารการเงินมาใช้ด้วยการจดบันทึกต้นทุน รายรับ รายจ่าย ทำให้มองเห็นภาพรวมการทำงานและการเงินของตัวเองได้มากยิ่งขึ้น รู้ว่ารายจ่ายส่วนไหนเยอะเกินความจำเป็น หรือไม่จำเป็น และปรับลดได้ถูกจุด พร้อมๆ กันนี้ ยังรู้จักทำเกษตรผสมผสาน เช่น ปลูกมะเขือเทศราชินี ข้าวโพดเทียน มะนาว เพื่อเพิ่มรายได้ ลดความเสี่ยงจากการทำไร่อ้อยเพียงอย่างเดียว ซึ่งสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9

"นันทิวัต" บอกว่า โคคา-โคลามีแผนที่จะขยายโครงการไปสู่ซัพพลายเออร์น้ำตาลรายอื่นๆ ต่อไป โดยขณะนี้ ได้เริ่มพูดคุย พร้อมประเมินด้วยว่า พันธมิตรรายใหม่มองเห็น "คุณค่าร่วม" หรือ "Shared Value" จากโครงการมากน้อยเพียงใด เพราะการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมนั้น ต้องทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยพันธมิตรต้องเห็นคุณค่าจากผลลัพธ์ของโครงการ และพร้อมที่จะลงทุนลงแรงไปด้วยกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,264 วันที่ 25 - 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2560