กสิกรไทยคาด กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50%

22 พ.ค. 2560 | 10:25 น.
kasikonthai160360-696x408-1-696x408-503x295 ประชุมกนง. 24 พ.ค. 2560 คาดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% หลังการฟื้นตัวเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น

ประเด็นสำคัญ:

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะมีมติ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่องในการประชุมกนง. รอบที่สามของปี 2560 ในวันที่ 24 พ.ค. 2560 นี้ และน่าจะส่งสัญญาณยืนดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะ หลังพัฒนาการเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกทยอยปรับดีขึ้นตามลำดับ ขณะที่ ปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้า คงได้แก่ แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยเฉพาะประเด็นเรื่องดอกเบี้ยและการบริหารจัดการงบดุลในช่วงครึ่งปีหลัง ตลอดจนปัจจัยเสี่ยงด้านการเมืองสหรัฐฯ ที่อาจจะมีนัยต่อการปรับเปลี่ยนทิศทางของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ รวมถึงภาพรวมการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่อง ในการประชุมวันที่ 24 พ.ค. 2560 โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังนี้

ภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกที่ทำได้ค่อนข้างดี ตลอดจนตัวเลขการเติบโตของการส่งออกรายเดือนที่สูงกว่าที่คาด อาจนับเป็นสัญญาณที่สะท้อนพื้นฐานที่ดีของเศรษฐกิจไทย และแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะสามารถประคองการฟื้นตัวไว้ได้ต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาพโมเมนตัมของเศรษฐกิจดังกล่าว น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้กนง. ยังคงมีมติยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ตามเดิม ในการประชุมรอบวันที่ 24 พ.ค. นี้ พร้อมๆ กับถ้อยแถลงที่จะยังคงระบุถึง การพร้อมใช้เครื่องมือทางการเงิน เพื่อเอื้อให้การขยายตัวของเศรษฐกิจมีความต่อเนื่อง นอกจากนี้ การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์เพี่อช่วยเหลือ SMEs และลูกค้ารายย่อย คงเป็นปัจจัยช่วยลดทอนแรงกดดันต่อกำลังซื้อและภาระต้นทุนของภาคธุรกิจลงได้บ้างบางส่วน

แม้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อที่จะยังไม่เร่งตัวมากในปีนี้ อาจเปิดพื้นที่ให้กนง. สามารถผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติม แต่ความเป็นไปได้ที่จะเห็นกนง. เปลี่ยนจุดยืนมาปรับลดดอกเบี้ยยังค่อนข้างน้อย เพราะกนง.น่าจะให้น้ำหนักกับภารกิจอีกด้านหนึ่ง ซึ่งก็คือ การดูแลเสถียรภาพทางการเงินไปควบคู่กัน โดยคงต้องยอมรับว่า อัตราดอกเบี้ยในระดับที่ต่ำเกินไป อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบสูง (ที่อาจไม่คุ้มความเสี่ยง) กระจายวงกว้างขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว ย่อมไม่เป็นผลดีต่อระบบการเงินโดยรวมของประเทศ

มองไปข้างหน้า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย น่าจะยังคงอยู่ที่ 1.50% ได้ตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้ แม้จะมีโอกาสที่ช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ จะหดแคบลงอีกในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไปที่กรอบ1.00-1.25% ในการประชุม FOMC วันที่ 13-14 มิ.ย. นี้ อีกครั้ง (จากปัจจุบันที่ 0.75-1.00%) อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า ทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทย น่าจะมีโอกาสทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ตอบรับแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงินในระยะที่เหลือของปีจากเฟด ดังนั้น คาดว่า จะเห็น กนง. กล่าวย้ำถึงแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของครึ่งปีหลัง เพื่อลดทอนแรงกดดันภายนอกที่อาจกระทบต่อต้นทุนทางการเงินในประเทศ และเพื่อสนับสนุนบรรยากาศการฟื้นตัวของทิศทางการใช้จ่ายในประเทศ

การเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย และสหรัฐฯ 

ตลอดจนประเด็นสำคัญในแต่ละรอบการประชุม FOMC ในช่วงที่เหลือของปี 2560

kb0522-1 สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในช่วง 3-6 เดือนหลังจากนี้ คงได้แก่ “จังหวะ” การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตลอดจนการส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อการลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่อาจจะส่งผลต่อแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะกลางของไทย แม้ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในเดือนมิ.ย. นี้ อาจจะยังไม่ได้สร้างแรงกดดันให้ กนง. ต้องมีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามเฟดในทันที แต่คงต้องยอมรับว่า หากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ ปิดลงได้ก่อนช่วงสิ้นปี กนง. ก็อาจจะเริ่มออกมาส่งสัญญาณทิศทางดอกเบี้ยและแนวนโยบายการเงินในช่วงปีข้างหน้า ที่น่าจะมีความสอดคล้องกับทิศทางนโยบายการเงินของเฟดมากขึ้น 

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย