สธ.จัดสรรงบ 5,000 ล้านบาทที่ครมอนุมัติให้โรงพยาบาลทุกระดับ

21 พ.ค. 2560 | 07:56 น.
กระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ ชี้แจงแนวทางการจัดสรรงบประมาณ 5,000 ล้านบาทที่ครม.อนุมัติ ให้โรงพยาบาลทุกระดับ พร้อมเข้ม 5 มาตรการ การใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพ

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการจัดสรรงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุข 5,000 ล้านบาท ว่า ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความเป็นห่วงปัญหาสภาพคล่องของโรงพยาบาล หลังจากรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์สถานการณ์ พร้อมทั้งได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีรับทราบและเข้าใจ จึงได้รับงบประมาณมาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว 5,000 ล้านบาท พร้อมทั้งได้มอบนโยบายให้เร่งรัดการจัดสรรเพื่อช่วยสภาพคล่องในการบริหารจัดการของโรงพยาบาล และเน้นย้ำให้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เพิ่มรายรับ ลดรายจ่ายของโรงพยาบาล ขณะเดียวกันประชาชนต้องได้รับประโยชน์และความสะดวกในการรับบริการด้วย

นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า ได้ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงแนวทางการจัดสรรงบประมาณดังกล่าว ซึ่งมี 3  ส่วน ดังนี้ 1.ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยในและสนับสนุนการดูแลรักษาผู้ป่วยทารกวิกฤต จำนวน 3,300 ล้านบาท กระจายให้โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป 860 แห่ง 2.ค่าตอบแทนบุคลากร รวมทั้งการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน (P4P) 1,000 ล้านบาท ในโรงพยาบาลทุกระดับ โดยจัดสรรให้เขตบริการสุขภาพดำเนินการ และ 3.ชำระต้นทุนการบริการส่วนขาดจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นบริการที่ทำได้เกินเป้าหมายในปีงบประมาณ 2559 เช่น การดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง การผ่าตัดตาต้อกระจก ผ่าตัดข้อเข่า การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น จำนวน 600 ล้านบาท

นอกจากนี้ ให้ทุกโรงพยาบาลปรับประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เน้นเป้าหมาย 5 เรื่อง และกำหนดเป็นตัวชี้วัดที่โรงพยาบาลต้องดำเนินการ คือ 1.มีแผนใช้จ่ายเงิน 2.การบัญชีมาตรฐาน ตรวจสอบได้ 3.เพิ่มการจัดเก็บรายได้ เพื่อเพิ่มรายรับให้กับโรงพยาบาล เน้นในโรงพยาบาลที่มีห้องพิเศษ หากมีการรอคิวยาวให้เพิ่มจำนวนห้องขึ้น การเปิดคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ คลินิกทันตกรรมนอกเวลา เป็นต้น  4.ลดรายจ่าย เช่น มาตรการประหยัด ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ การส่งเสริมสุขภาพเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ การเปิดคลินิกหมอครอบครัว และ5.การบริหารพัสดุ