สคบ.เอาจริงยื่นอัยการ คุมธุรกิจรับสร้างบ้าน

23 พ.ค. 2560 | 03:00 น.
สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านลุ้นความคืบหน้าประกาศธุรกิจรับสร้างบ้านเป็นธุรกิจควบคุมสัญญาอยุธยาสร้างบ้าน พบลูกค้าชะลอตัดสินใจ ด้าน สคบ. ลั่นส่งเรื่องถึงมืออัยการแล้ว พร้อมเคารพคำตัดสินศาล

นายพิชิต อรุณพัลลภ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าการส่งหนังสือคัดค้านประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ธุรกิจรับสร้างบ้านเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาว่า หลังจากที่สมาคมได้ยื่นหนังสือไปเมื่อช่วงปลายปี 2559 ทางศาลได้มีคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ส่งหนังสือซักค้านเรื่องดังกล่าวในช่วงต้นปี 2560 แต่พบว่าสคบ.ได้เลื่อนส่งหนังสือซักค้านถึง 2 รอบ โดยรอบแรกสิ้นสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2560 และในครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายจะสิ้นสุดประมาณเดือนมิถุนายนนี้

“ยอมรับว่าประกาศดังกล่าวมีผลกระทบทางจิตวิทยากับผู้ซื้อ หลายคนชะลอการเซ็นสัญญาก่อสร้าง ขณะที่ผู้ประกอบการหลายบบริษัทก็แสดงความเห็นว่าประกาศดังกล่าวไม่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายบริษัทมียอดรับรู้รายได้ที่ต่ำกว่าเป้า นอกเหนือจากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ อีกทั้งระยะเวลาในการปิดดีลแต่ละครั้งนานขึ้น จากเดิม 3 เดือน ขยับเป็น 6 เดือน เนื่องจากต้องเพิ่มรายละเอียดในการจัดทำเอกสาร แม้ว่าทางสมาชิกสมาคมจะได้มีการเตรียมความพร้อมแล้วส่วนหนึ่งก็ตาม” นายพิชิต กล่าว

สำหรับทิศทางการเติบโตในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าตลาดจะมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงกับปี 2559 คือมีมูลค่าตลาดในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท โดยอยู่ในกลุ่มของสมาชิกสมาคมประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ด้านนายธีร์ บุญวาสนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยาสร้างบ้าน จำกัด กล่าวว่า หลังประกาศใช้ประกาศดังกล่าวในช่วงปลายปี 2559 พบว่า ลูกค้ามีการชะลอการตัดสินใจซื้อจำนวน 2 ราย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 30 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดขายในช่วงที่ผ่านมาไม่เป็นไปตามเป้า แต่บริษัทก็ได้มีการปรับตัวและชี้แจงให้ลูกค้ารับทราบ ซึ่งลูกค้าก็มีความเข้าใจ และไม่ค่อยซีเรียสกับเรื่องดังกล่าว เนื่องจากชื่อเสียงของบริษัทเป็นเครื่องการันตีอยู่แล้ว

ขณะที่พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า ทางสคบ.ได้ส่งเรื่องไปยังอัยการเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ก็อยู่ในดุลพินิจของศาลว่าจะตัดสินอย่างไร ทั้งนี้ไม่ว่าศาลจะมีคำสั่งอย่างไรทางสคบ.ก็ยินดีที่จะปฏิบัติตาม ซึ่งที่ผ่านทางสคบ.ก็ยืนยันและมีหลักฐานว่าได้มีการเชิญบริษัทรับเหมามาพูดคุย ก่อนที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างต่อเนื่อง แต่ภาคเอกชนกลับไม่ได้ให้ความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอะไร ทางสคบ.ได้ดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่างก่อนที่จะประกาศ

“เหตุที่ สคบ.เลื่อนส่งหนังสือคัดค้านก็เนื่องมาจากต้องการให้มีข้อมูลละรายละเอียดมากที่สุด มิได้มีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝง ซึ่งทางสคบ.ยังยืนยันว่ายินดีที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นของสมาคม หากติดขัดปัญหาใดๆ และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนแก้ไขรายละเอียดต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสบายใจและเป็นธรรมกับผู้ประกอบการและผู้บริโภค แต่ที่ผ่านมาทางสมาคมก็ไม่ได้เข้ามาคุยแต่อย่างไร หรือหากไม่อยากเข้ามาพบโดยตรงจะทำเป็นหนังสือเข้ามาก็ได้”พล.ต.ต. ประสิทธิ์ กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,263 วันที่ 21 - 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560