กทท.หนุนท่องเที่ยวทางน้ำ จ้างดับบลิวอี แอนด์ เอ็นเอเอ ศึกษาความเป็นไปได้ทำครูซ เทอร์มินัลท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง

17 พ.ค. 2560 | 08:45 น.
การท่าเรือแห่งประเทศไทย รับลูกนโยบายรัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ จ้างดับบลิวอี แอนด์ เอ็นเอเอ ศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการจัดตั้งท่าเทียบเรือสำราญ บริเวณท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งพื้นที่อื่นในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง

ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งท่าเทียบเรือสำราญกทท.ได้จ้าง กิจการค้าร่วม ดับบลิวอี แอนด์ เอ็นเอเอ ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการจัดตั้งท่าเทียบเรือท่องเที่ยวรองรับเรือสำราญ (Cruise Terminal) ภายในอาณาบริเวณ ทกท. และ ทลฉ. รวมทั้งพื้นที่อื่นในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง

[caption id="attachment_151146" align="aligncenter" width="335"] เรือเอกสุทธินันท์ หัตถวงษ์ เรือเอกสุทธินันท์ หัตถวงษ์[/caption]

ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ตามที่นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับการบริการท่าเทียบเรือสำราญที่ท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) และ ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) นั้น ในการนี้ กทท.ได้จ้าง กิจการค้าร่วม ดับบลิวอี แอนด์ เอ็นเอเอ ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการจัดตั้งท่าเทียบเรือท่องเที่ยวรองรับเรือสำราญ (Cruise Terminal) ภายในอาณาบริเวณ ทกท. และ ทลฉ. รวมทั้งพื้นที่อื่นในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ

SuperStar Gemini 2 (2)

โดยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางน้ำในภูมิภาคอาเซียน ช่วยสร้างรายได้ประชากรและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ รองรับการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวสอดคล้องกับรูปแบบการเดินทางโดยเรือสำราญ ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ในการจัดตั้งฯ และคาดว่าจะทราบพื้นที่เป้าหมายภายในปี 2561

สำหรับแผนการจัดตั้งท่าเทียบเรือสำราญดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งในการขยายกิจการท่าเรือและธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสนับสนุนนโยบายระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศและรองรับการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยวทางเรือในระยะยาว การส่งเสริมของรัฐบาลในการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวทางน้ำ และการเพิ่มท่าเทียบเรือสำราญให้สามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ ทั้งในรูปแบบของท่าเรือหลัก (Home Port) และท่าเรือแวะพัก (Port of Call) นั้น ปัจจุบัน ทลฉ. มีท่าเทียบเรือ A1 และ ทกท. ใช้พื้นที่บริเวณท่าเทียบเรือ OB ในการรองรับเรือสำราญ รวม 2 ท่าหลัก ทั้งนี้ กทท. จะศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ โอกาสทางธุรกิจ ความคุ้มค่าในการลงทุนและการวางแผนทางธุรกิจ เพื่อประกอบการบูรณาการแผนพัฒนาการสร้างท่าเทียบเรือสำราญต่อไป

“ผมมั่นใจว่าท่าเทียบเรือสำราญที่เราจะดำเนินการในอนาคต จะมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม และสาธารณูปโภคที่สะดวกครบครัน มีความปลอดภัย เพื่อรองรับการให้บริการเรือสำราญ การขนส่งนักท่องเที่ยวเข้าสู่ กทม. ชั้นในได้อย่างรวดเร็ว เพราะสิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่สายการเดินเรือจะพิจารณาคัดเลือกท่าเทียบเรือในปัจจุบัน ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางเรือของอาเซียน อันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ” ผู้อำนวยการ กทท. กล่าว