เลื่อนอ่านคำพิพากษา "พธม.บุกทำเนียบ" เหตุ"จำลอง"ป่วย

16 พ.ค. 2560 | 05:44 น.
วันที่ 16 พ.ค. 60 -ผู้สื่อข่าวรายงานจากห้องพิจารณา 710 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษกว่า เวลา 10.00 น. ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) บุกรุกทำเนียบรัฐบาลปี 2551 หมายเลขดำ อ.4925/2555 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อายุ 82 ปี , นายสนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 69 ปี , นายพิภพ ธงไชย อายุ 71 ปี , นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 67 ปี นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 71 ปี อดีตแกนนำ พธม. และ นายสุริยะใส กตะศิลา อายุ 44ปี อดีตผู้ประสานงาน พธม. เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358,362,365

 

 

โดยวันนี้ ศาลได้เบิกตัวนายสนธิ จำเลยที่ 2 จากเรือนจำบางขวางมาฟังคำพิพากษา เนื่องจากปัจจุบันนายสนธิถูกคุมขังในคดีต้องโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกาคดีกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ส่วนนายพิภพ, นายสมเกียรติ, นายสมศักดิ์ และนายสุริยะใส จำเลยที่ 3-6 เดินทางมาศาล เนื่องจากได้ประกันตัวไประหว่างอุทธรณ์คดี วงเงินคนละ 200,000 บาท ขณะที่ พล.ต.จำลอง จำเลยที่ 1 ไม่ได้เดินทางมาศาล โดยนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความกลุ่มพันธมิตรฯได้แถลงต่อศาลขอเลื่อนการฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ออกไปก่อน เนื่องจาก พล.ต.จำลอง เข้ารักษาอาการป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลวชิระ พร้อมยื่นใบรับรองแพทย์แสดงต่อศาล ทั้งนี้ศาลสอบถามจำเลยอื่นๆ แล้วไม่คัดค้าน ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนการฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ โดยนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อีกครั้งในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ เวลา 09.00 น.

 

 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ อัยการโจทก์ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2555 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2551 ได้มีผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งมีจำเลยดังกล่าว เป็นแกนนำได้จัดปราศรัยชักชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินเพื่อกดดันให้นายสมัคร สุนทรเวช ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเคลื่อนขบวนฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำเนียบรัฐบาลและกระจายกำลังปิดล้อมสถานที่ราชการ เช่น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียง กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ ต่อมาหลังจากนายสมัคร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญแล้ว นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน และมีกำหนดวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 7 ต.ค.2551

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 26 ส.ค.51 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยปิดล้อมทางเข้าออกทำเนียบทุกด้าน ทำลายเครื่องมือ ทำลายกุญแจประตูทำเนียบรัฐบาล และทำลายแผงกั้นที่เจ้าหน้าที่ใช้ควบคุมดูแลความสงบในทำเนียบ จนถึงวันที่ 3 ธ.ค.2551 พวกจำเลยซึ่งไม่ได้รับอนุญาตได้ร่วมกันรื้อทำลายสิ่งกีดขวางแล้วปีนรั้วเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลรวมทั้งนำรถยนต์ 6 ล้อที่ติดเครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่ไปจอดหน้าตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล แล้วผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยและระหว่างวันที่ 26 ส.ค.- 3 ธ.ค.2551 ซึ่งมีการจัดเวทีปราศรัยในทำเนียบรัฐบาล และมีผู้ชุมนุมจำนวนมากได้เหยียบสนามหญ้าและต้นไม้ประดับจนตาย และยังทำให้ระบบสปริงเกอร์อัตโนมัติ ระบบไฟสนามหน้าตึกไทยคู่ฟ้า หน้าตึกสันติไมตรีในความดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรีได้รับความเสียหายรวม 5 ล้านบาท อีกทั้งเมื่อมีฝนตกทำให้น้ำฝนซึมเข้าขังในถุงดำที่ห่อหุ้มกล้องวงจรปิด ทำให้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกล้องเสียหายรวม 10 ตัว ค่าเสียหายอีก 1,766,548 บาท โดยจำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2558 เห็นว่า จำเลยทั้งหก กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358,365 การกระทำของจำเลย ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดฐานบุกรุกสถานที่ราชการ จำคุกคนละ 3 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้ คนละ 2 ปี โดยจำเลยทั้งหก ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี