"วิษณุ"งง! สปท.ชงใช้ม.44 ออก 36 กฎหมายปฏิรูป

15 พ.ค. 2560 | 05:25 น.
วันที่ 15 พ.ค.60-นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ 36 ฉบับ ว่า ตนไม่ทราบเรื่องดังกล่าว และไม่ทราบว่าไปเสนอกันที่ไหน ถ้าเสนอมา รัฐบาลจะมีแนวพิจารณาในการคิดเหมือนกัน

 

นายวิษณุกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม อุตส่าห์ออกกฎหมายมาตรา 44 ไปแล้วและขมวดท้ายว่าให้จัดการออกเป็นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ขึ้นมาเพื่อที่จะให้หมดสภาพความเป็นมาตรา 44 เพราะฉะนั้น อย่าคิดอะไรให้สวนกลับกัน เชื่อว่าสปท.คงมองว่าล่าช้าและไม่ทัน แต่คิดว่าได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ไม่เห็นจะต้องทำไปทั้งหมด เลือกเอาแต่ที่สำคัญ อย่าคิดทำอะไรมากเกินไป

 
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ตนเห็นใจที่มีเจตนาดี เพราะคิดและมีผลงาน จึงต้องการผลักดันให้เสร็จเหมือนส่งขึ้นฝั่ง แต่ในแง่รัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 หรือตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว หรือตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาเราพยายามระมัดระวังการใช้มาตรา 44 ถ้าจำเป็นก็ต้องใช้ แต่เมื่อใช้แล้ว ก็จะขมวดท้ายว่าไปทำให้เป็นพ.ร.บ.โดยเร็ว เพื่อให้อยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งวันนี้ตนได้นั่งไล่สำรวจคำสั่งและประกาศ ทั้งที่ใช้มาตรา 44 และไม่ใช้มาตรา 44 มีทั้งเลิกใช้แล้ว และเตรียมจะยกเลิกก็มี แล้วยังจะให้มาเพิ่มอีก 33-36 ฉบับหรือ ทั้งนี้เอาไว้หารือกันอีกครั้ง

 

เมื่อถามว่า สปท.อ้างว่าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูป และต้องใช้ความรวดเร็ว นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญกำหนดมีการปฏิรูป 11 ด้าน และภายใน 2-3 เดือนนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อตั้งออกมาแล้ว จะเป็นผู้กำหนดแผนและขั้นตอนการปฏิรูปว่าจะทำอะไร ในวันนี้เป็นการทำไปพลางก่อน แล้วถ้าทำ 33-36 ฉบับนั้นให้เสร็จ เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแห่งชาติขึ้นมา จะให้เขาทำอะไรก็เหลือไว้ให้เขาทำบ้าง เพราะที่เขาจะทำกับ 33-36 ฉบับ ก็อาจไม่ตรงกันก็ได้

 

"อย่างไรก็ตาม ถ้าจะเสนอมา ก็เสนอมาได้ และรัฐบาลจะส่งต่อไปยังคณะกรรมการปฏิรูปแห่งชาติที่กำลังจะมีขึ้น 2-3 เดือนนี้"

 

เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีได้หารือถึงปัญหานี้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า"มีแต่ผมไปขอคำหารือจากนายกรัฐมนตรี"

 
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการเชิญตัวแทนสื่อมวลชนมาหารือเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนว่า ขณะนี้ยังไม่มีการนัดหมายตัวแทนสื่อมวลชนเพื่อพูดคุยหารือร่วมกัน เพราะสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ยังไม่ส่งร่างกฎหมายมาที่รัฐบาล ตนจะทำก่อนก็คงไม่เหมาะสม นอกจากนี้ สปท.ก็ยังไม่ได้นัดหลายว่าจะส่งร่างกฎหมายมาเมื่อใด แต่ตามขั้นตอนแล้วประธาน สปท.จะส่งมาที่นายกฯ จากนั้นนายกฯจะส่งให้ตนได้ดำเนินการ ทั้งนี้ และเมื่อมาถึงนายกฯแล้วขั้นตอนจะไม่ล่าช้า

 

 

"ขั้นตอนในทำเนียบไม่ช้าหรอก จากตึกไทยคู่ฟ้า มาถึงตึกบัญชาการ แค่นาทีเดียวก็ถึงกันแล้ว ไม่ช้าๆ"รองนายกรัฐมนตรี กล่าว