ปลัดท่องเที่ยวฯเสนอน้อมนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาการท่องเที่ยวไทย

10 พ.ค. 2560 | 09:01 น.
ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ประชุมร่วมกับองค์การการท่องเที่ยวโลก เพื่อหารือมิติการท่องเที่ยวเมืองไทยแบบยั่งยืน เพื่อสอดรับการประกาศให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

นายพงษ์ภาณุ  เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมเป็นวิทยากรของการประชุมโต๊ะกลม ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2560 เวลา 16.30-19.30 น. ณ กรุงมาดริด ราชอาณาจักรสเปน โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ทาลิป ริฟาย เลขาธิการ UNWTO เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งมีวิทยากรร่วมในการประชุมดังกล่าว อาทิ รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวอาเจนติน่า รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวสาธารณรัฐเกาหลี นายกเทศมนตรีแห่งสภาเมืองมาลาก้า ผู้บริหารระดับสูงจากหน่ยงานการท่องเที่ยวสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ และผู้อำนวยการจากสมาคมสถาปนิกมาดริด การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อหารือถึงมิติของการท่องเที่ยวเมืองแบบยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับการเป็นปีแห่งการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนา ในปี 2560

1494400526056 นายพงษ์ภาณุ ได้นำเสนอมิติการท่องเที่ยวเมืองของประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยได้น้อมนำแนวคิดทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับคนในชุมชนเพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวโดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวชุมชนที่ประเทศไทยให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้คนในชุมชนต่างๆ อยู่ได้ด้วยตนเองบนพื้นฐานความพอเพียงอย่างยั่งยืน และคนในชุมชนเหล่านี้จะเป็นผู้ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนประสบการร์จากแหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ในชุมชนไปสู่การท่องเที่ยวในพื้นที่เมือง

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้รับการขนานนามจาก Master Card ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวอับ 1 ของโลก และได้รับการยกย่องจาก CNN เป็นเมือง Best Street Food สองปีติดต่อกัน ซึ่งจากการจัดอันดับให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าเที่ยวอันดับ 1 ของโลกนี้ ส่งผลให้ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องการคมนาคมขนส่ง สาธารณูปโภค ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม และอาหารที่มีความหลากหลาย ซึ่งสามารถหารับประทานได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะอาหารที่ขายตามริมทาง (Street Food)

“คาดว่าในปี 2030 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยถึง 60 ล้านคน หากมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นย่อมส่งผลกระทบในด้านต่างๆ เช่น ระบบสาธารณูปโภค ระบบการขนส่ง และการรองรับนักท่องเที่ยวของแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามามีบทบาทและร่วมกันป้องกันแก้ไขปัญหา โดยการเพิ่มระบบการอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งที่สามารถเชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ได้สะดวกมากขึ้น การจัดการแหล่งท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน ปลอดภัย และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลดีในภาพรวมด้านการท่องเที่ยวของไทย สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น และสามารถครองแชมป์การเป็นเมืองน่าเที่ยวของโลกไว้ได้อีกด้วย” ปลัดท่องเที่ยวฯ กล่าวทิ้งท้าย