ความเสี่ยงของระบบสหกรณ์ออมทรัพย์กับแนวทางการปฏิรูปการกำกับดูแล

09 พ.ค. 2560 | 12:01 น.
ธนาคารแห่งประเทศไทยออกบทความเผยแพร่ เรื่อง “ความเสี่ยงของระบบสหกรณ์ออมทรัพย์กับแนวทางการปฎิรูปการกำกับดูแล” โดย  ศิริวรรณ   อัศววงศ์เสถียร  ,กันตภณ ศรีชาติ, และรัฐศาสตร์ หนูดำ

บทความนี้สะท้อนถึง บทบาทของสหกรณ์ ซึ่งเป็นองค์กรทางเศรษฐกิจที่อยู่คู่สังคมไทย มากว่า 100 ปี ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินระหว่างสมาชิกที่มีเงินเหลือและสมาชิกที่ต้องการใช้เงิน แต่ในช่วง หลัง การดำเนินธุรกรรมของสหกรณ์ออมทรัพย์มีการพัฒนาในหลายด้านทั้งการให้สินเชื่อที่ขยายเกือบเท่าตัว จนกลายมาเป็นผู้เล่นสำคัญในการให้สินเชื่อแก่ภาคครัวเรือน  นอกจากนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์มีการลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุนเพิ่มขึ้น ตลอดจนอาศัยการกู้ยืมจากสหกรณ์อื่น สถาบันการเงินของรัฐ และธนาคารพาณิชย์มากขึ้นจนมีการเชื่อมโยงกับระบบการเงินมากขึ้น

บทความดังกล่าว  กำหนดกรอบของการวิเคราะห์ความเสี่ยงงบการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ 169 ราย และแบ่งสหกรณ์ออมทรัพย์ตามสภาพคล่องได้เป็น 2 กลุ่มหลัก (1) สหกรณ์ที่มีเงินทุนเหลือ (Surplus)  เป็นสหกรณ์ที่มีแหล่งเงินจากสมาชิก(เงินรับฝากจากสมาชิก และทุน) เกินกว่าความต้องการของสมาชิก (เงินให้กู้แก่สมาชิก)ด้วยกันเอง  ทำให้สหกรณ์กลุ่มนี้นำเงินที่เกินไปทำนอกพันธกิจ แต่ละประเภท โดยยังมีเงินเหลือไปลงทุนทั้งในตราสารหนี้ ตราสารทุนรวมถึง 30% รวมทั้งปล่อยกู้สหกรณ์อื่น

(2) สหกรณ์ที่ยังขาดเงินทุน(deficit) เป็นสหกรณ์ที่มีแหล่งเงินจากสมาชิก(เงินรับฝากและทุน)ไม่เพียงพอกับความต้องการของสมาชิก (เงินให้กู้แก้สมาชิก)  ส่วนใหญ่จะเป็นสหกรณ์ที่สมาชิกมีรายได้น้อยหรือมีความต้องการกู้เงินทำให้ทุนภายในมีไม่เพียงพอ กรรมการและผู้บริหารของสหกรณ์เหล่านี้ต้องระดมทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ รับฝากเงินจากประชาชนที่ไม่ใช่สมาชิก เพื่อนมาให้สมาชิกกู้ยืม ซึ่งส่วนใหญ่เงินกู้ยืมเหล่านี้ เป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น จึงไม่สอดคล้องกับอายุของเงินให้กู้แก่สมาชิกที่ส่วนใหญ่อยู่ในระยะยาว สหกรณ์กลุ่มนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะขาดสภาพคล่องหากไม่ได้รับการต่ออายุเงินกู้

โดยสรุป สหกรณ์ออมทรัพย์ทั้งสองกลุ่มมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน กลุ่มแรกมีสภาพคล่องเหลือและนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่กรรมการและผู้บริหารสหกรณ์ต้องมีความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์การเงินต่าง ๆ และควรพิจารณาเพิ่มเกณฑ์จำกัดการลงทุน ห้ามมิให้สหกรณ์ให้สินเชื่อแก่ผู้มีอำนาจในการจัดการสหกรณ์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว อีกทั้งระดับหนี้เอ็นพีแอลที่อยู่ในระดับต่ำมากอาจไม่สะท้อนคุณภาพหนี้แท้จริงจึงควรพิจารณาการจัดชั้นหนี้และกันสำรองและการ Rollover หนี้ให้เหมาะสม

ส่วนกลุ่ม deficit ยังคงพึ่งพาการกู้ยืมค่อนข้างมาก จึงควรเพิ่มเกณฑ์ Leverage ratioเพื่อควบคุมการทำธุรกรรมที่เหมาะสม และลดการขยายสินทรัพย์ด้วยการก่อหนี้เกินตัว นอกจากมีตัวกลางที่บริหารจัดการสภาพคล่องระหว่างสหกรณ์ที่มีเงินทุนเหลือ และสหกรณ์ที่มีสภาพคล่องไม่เพียงพอ เพื่อให้สหกรณ์ดำเนินงานตามพันธกิจและอุดมการณ์ของตน อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินเนื่องจากสหกรณ์สามารถพึ่งพากันเองภายในอย่างเป็นระบบปิดมากขึ้น นอกจากนี้ ควรยกระดับการกำกับดูแลให้ระบบสหกรณ์มีความเข้มแข็งขึ้น โดยควรปรับเกณฑ์กำกับดูแลด้านธรรมาภิบาลและด้านความมั่นคงเพิ่มเติมเพื่อกำกับดูแลความเสี่ยงที่เหมาะสมกับขนาดของสหกรณ์และภาวะการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งหมดนี้ เพื่อช่วยให้ระบบสหกรณ์มีภูมิคุ้มกันที่ดี ดำเนินงานได้อย่างมั่นคงสร้างความเชื่อมั่นและเป็นที่พึ่งพิงให้กับภาคครัวเรือน และไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวม