ปลัด มท.สั่งทุกจังหวัดรับมือพายุฤดูร้อน

07 พ.ค. 2560 | 04:48 น.
นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ส่งข่าวผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน (ครั้งที่ 2 เรียน  รอง ปมท./ผต.มท./ผู้บริหารส่วนกลาง/ผวจ./นอภ./กำนันและผู้ใหญ่บ้านรวมทั้งผู้บริหาร อปท.ทุกจังหวัด ตามที่ มท.ได้แจ้งไปก่อนนี้ว่าในช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 จะมีฝนตกมากกว่าทุกปีและจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน จึงให้จังหวัดได้น้อมนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช และประสบการณ์การแก้ปัญหาด้านน้ำในพื้นที่มาทบทวนและเพิ่มความระมัดระวังในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ นั้นในขณะนี้ปรากฏว่าได้มีพายุฤดูร้อนและมีปริมาณฝนตกเกิดมากขึ้นในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ดังนั้น เพื่อเป็นการกักเก็บรักษาน้ำฝนที่ตกลงมาในช่วงนี้ไว้ใช้ในช่วงที่อาจมีภาวะฝนทิ้งช่วงหรือขาดแคลนน้ำ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญและมีความห่วงใยประชาชนในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง

มท.จึงขอสรุปสาระสำคัญของแนวทางการบริหารจัดการน้ำซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการสร้างแหล่งเก็บน้ำมาเพื่อให้จังหวัดได้รีบดำเนินการเร่งรัดให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยด่วนอีกคำรบหนึ่ง ดังนี้

1..ขอให้น้อมนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำตามพระราชดำริและนำความรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นตลอดจนหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำโดยให้ดำเนินการ-สำรวจและดัดแปลงสภาพธรรมชาติของพื้นที่ อาทิเช่น ทางน้ำไหลเดิม หรือเหมืองฝายที่ตื้นเขินหรือที่ราบลุ่มเชิงเขา หรือแอ่งน้ำเดิมมาทำเป็นแหล่งกักเก็บน้ำใหม่ เช่น เหมืองฝายชะลอน้ำ/หลุมขนมครกหรือแก้มลิง คลองไส้ไก่ ฯลฯ หรือ สร้าง/ปรับปรุง/ซ่อมแซมแหล่งกักเก็บน้ำเดิมประจำหมู่บ้าน/ชุมชนให้ใช้การได้ตามปกติหรือการชักน้ำหรือนำน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงมาใช้ในพื้นที่ และจัดหาภาชนะเก็บน้ำหรือไซโลน้ำเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ในการก่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำข้างต้น อาจใช้วัสดุตามธรรมชาติในพื้นที่หรือจัดซื้อวัสดุก่อสร้างบางส่วนแล้วใช้กำลังสมาชิก อส.ประจำอำเภอ/จังหวัดและให้เชิญชวนอาสาสมัครภาคประชาชนสละแรงงานเข้าร่วมก่อสร้างโครงการด้วยก็จะเป็นการสร้างความเข้าใจและปลุกจิตสำนึกความเป็นเจ้าของโครงการซึ่งจะส่งผลในเรื่องการใช้น้ำอย่างประหยัดหรือการบำรุงรักษาโครงการให้ยั่งยืนด้วย

2. ขอให้ประสานงานสำนักงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่งซึ่งอยู่ในพื้นที่ภูมิภาค/หน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือหน่วยงานกระทรวงทรัพย์ฯที่อยู่ในพื้นที่/สำนักงานมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ/มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงและองค์กรภาคประชาสังคมด้านการพัฒนาแหล่งน้ำเเละให้เชิญชวนผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชนหรือปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้หรือภูมิปัญญาเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำมาเป็นวิทยากรในการแนะนำหรือสอนวิธีการจัดทำแหล่งกักเก็บน้ำดังกล่าวข้างต้นแก่กลุ่มประชาชนต่างๆหรือภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการด้วย

3. ขอให้นำสถานการณ์การขาดแคลนน้ำหรือประสบการณ์ปัญหาการใช้น้ำในปีก่อนๆ มาปรับปรุงแก้ไขจัดทำเป็นเเผนบริหารการใช้น้ำโดยจัดตั้งผู้รับผิดชอบพื้นที่ที่เคยมี/หรืออาจมีความขัดแย้งในการใช้น้ำมาเป็นกรรมการน้ำประจำหมู่บ้าน/ชุมชนภายใต้การดูแลของกำนัน/ผู้ใหญ่บ้านหรือ อปท. หาวิธีแบ่งปันน้ำที่ทุกฝ่ายยอมรับหรือวิธีกักเก็บนำ้ในช่วงที่จะมีฝนตกในพื้นที่ ตลอดจนรณรงค์ประชาสัมพันธ์การใช้น้ำอย่างประหยัดหรือรณรงค์โครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อยโดยให้พิจารณากลุ่มเกษตรกรที่เคยเข้าร่วมโครงการมาแล้วอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีการขยายผลหรือเครือข่ายออกไปให้มากขึ้น และวางแผนแจกจ่ายน้ำของ กปภ.หรือหน่วยงาน อปท.ให้ครอบคลุมพื้นที่ขาดแคลนน้ำ

4. ขอให้พิจารณามอบหมายรอง ผวจ.หรือ ปลัดจังหวัดตามความเหมาะสมเป็นหัวหน้าคณะทำงานบริหารจัดการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำร่วมกับนายอำเภอหรือผู้แทน/ผู้แทนหน่วยงานกระทรวงทรัพย์ฯที่รับผิดชอบเกี่ยวกับน้ำในจังหวัด/ชลประทานพื้นที่/กปภ. จังหวัด/ปภ.จังหวัด/ผู้แทน อปท./ตัวแทนองค์กรเอกชนหรือภาคประชาชนหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำฯลฯ

5. สำหรับงบประมาณดำเนินการตามข้อแนะนำข้างต้นนั้น จังหวัดสามารถพิจารณาขอใช้งบประมาณด้านป้องกันภัยตามระเบียบของกรม ปภ.ซึ่งต้องพิจารณาเงื่อนไขการใช้จ่ายงบประมาณให้รอบคอบหรือประสานโดยตรงกับกรม ปภ.อีกทางหนึ่งด้วย หรือ ใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาจังหวัดๆละ 2 ล้านบาท ตามแผนพัฒนาจังหวัด/งบประมาณเหลือจ่ายจากโครงการแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัดปี 2560 งบประมาณ ของ อปท. พื้นที่ หรืองบประมาณของส่วนราชการต่างๆ (function)ในพื้นที่ รวมทั้งให้ประสานงานกับภาคเอกชนที่มีงบประมาณดูแลสังคมสิ่งแวดล้อม (CSR) พิจารณาสนับสนุนโครงการจัดทำแหล่งเก็บน้ำข้างต้นในนามโครงการประชารัฐด้วยก็ได้

เมื่อได้ดำเนินการแล้วประสบผลดีหรือประสบปัญหาข้อขัดข้องประการใด ขอให้รายงาน best practice หรือปัญหาอุปสรรคให้ มท. ทราบ ทั้งนี้ ให้ ผต.มท. /ผต. กรมต่างๆ ติดตามและรวบรวมประเด็นสำคัญในแต่ละพื้นที่เพื่อการเร่งรัดแก้ไขปัญหาตามแนวทาง Achievement Monitoring System โดยประสานรอง ปมท.ประจำพื้นที่ภาคและผู้บริหารในส่วนกลางเพื่อเร่งรัดการบริหารจัดการอีกทางหนึ่งด้วย