ประธานสภาผู้ส่งออกคนใหม่ มั่นใจส่งออกโต 2.5-3.5%

08 พ.ค. 2560 | 08:00 น.
คณะกรรมการบริหารสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) หรือสภาผู้ส่งออกชุดใหม่วาระปี 2560-2561 มีมติเป็นเอกฉันท์เลือก "กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์" อดีตนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปเป็นประธานสภาผู้ส่งออกคนใหม่สืบแทนนายนพพร เทพสิทธาที่หมดวาระลง "ฐานเศรษฐกิจ"มีโอกาสสัมภาษณ์ "กัณญภัค"ในวันเปิดตัวและร่วมแถลงข่าวสถานการณ์ส่งออกประจำเดือนเมษายน 2560 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถึงภารกิจและความท้าทายในตำแหน่งช่วง 2 ปีนับจากนี้ไป

 รับกดดัน-หนักใจ
ประธานสภาผู้ส่งออกคนใหม่กล่าวยอมรับว่า รู้สึกกดดัน และหนักใจอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะงานของ สรท.มีความท้าทายในเรื่องการผลักดันการส่งออกเป็นเป้าหมายหลัก โดยทำหน้าที่ดูแลและประสานการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นปัญหาร่วมกันของสมาชิกในภาพรวมเพื่อให้การค้าขายได้รับความสะดวกและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ปัจจุบัน สรท.มีสมาชิกกว่า 2,000 ราย โดยแต่ละรายมีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 50 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป

สำหรับวาระเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการต่อคือการประสานภาครัฐในการแก้ไขปัญหาที่กระทบกับผู้ส่งออก เช่นเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ที่ยังเป็นอุปสรรค เรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น การผลักดันเรื่องเนชั่นแนล ซิงเกิล วินโดว์(ระบบศุลกากรแบบเบ็ดเสร็จผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์)ให้เกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อให้ผู้ส่งออกทำธุรกรรมการค้าสะดวกและง่ายขึ้น ช่วยลดต้นทุน การผลักดันเรื่องการปฏิบัติตามความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าขององค์การการค้าโลก(WTO’s TFA)ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคการค้าไทยกับประเทศสมาชิก การผลักดันเรื่องชาติการค้า(เทรดดิ้ง เนชั่น) ทั้งการส่งออกและนำเข้ามาผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าให้มากขึ้น รวมถึงเรื่องดิจิตัลอิโคโนมีโดยใช้ระบบไอทีเชื่อมโยงการค้าขายทั้งค้าชายแดนหรือค้าออนไลน์กับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะ CLMV ที่ตลาดยังเปิดกว้างให้มากขึ้น เป็นต้น

"ตรงไหนที่เป็นคอขวด ตรงไหนที่เป็นปัญหากระทบผู้ส่งออก เราจะเข้าไปประสานงานกับภาครัฐเพื่อช่วยแก้ไข เพราะเรื่องกฎระเบียบส่วนใหญ่ยังขึ้นอยู่กับภาครัฐ ขณะที่เรื่องที่จะดำเนินการข้างต้นจริงๆ แล้วมีความเชื่อมโยงกันในกรอบใหญ่ แต่เป้าหมายของเราคือการผลักดันการส่งออกไปให้ได้ รวมถึงดูแลปัญหาเรื่องของโลจิสติกส์ที่เวลานี้ค่าระวางเรือเริ่มแพงขึ้น จากสายเดินเรือขาดทุนและควบรวมกันเหลือหลัก ๆ แค่ไม่กี่กลุ่ม ทำให้อำนาจต่อรองของเรากับเขาน้อย มีปรับขึ้นค่าระวาง จากก่อนหน้ามีสายเดินเรือจำนวนมากยังต่อรองได้ เรื่องนี้เราจะทำอย่างไรให้มีอำนาจต่อรองกับสายเดินเรือมากขึ้น"

 มั่นใจส่งออกโต2.5-3.5%
“กัณญภัค” กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกไทยในปีนี้ว่าล่าสุด (3 พ.ค. 60) ทางสรท.ได้ปรับคาดการณ์ส่งออกทั้งปีใหม่จะขยายตัวได้ที่ 2.5-3.5% มองว่ามีความเป็นไปได้เกิน 50% จากเดิมคาดไว้จะขยายตัวที่ 2-3% โดยมองการส่งออกในไตรมาส 1-2 จะยังขยายตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจโลก ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น รวมถึงสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ และในสินค้ากลุ่มอาหารยังขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีในไตรมาสที่ 3-4 การส่งออกอาจชะลอตัวลง จากมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม

 เลือกตั้งฝรั่งเศส-ผู้ดีตัวแปร
ทั้งนี้นอกจากความเสี่ยงเรื่องสงคราม และการก่อการร้ายแล้วยังมีปัจจัยเสี่ยงได้แก่ การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบที่ 2 ในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้หากนายเอ็มมานูเอล มาครอง ผู้สมัครอิสระได้รับคะแนนเสียงและความไว้วางให้ดำรงตำแหน่งตามโพลสำรวจจะช่วยให้เศรษฐกิจและการจ้างงานในฝรั่งเศสปรับตัวดีขึ้น เพราะนายมาครองมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฝรั่งเศส ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของยุโรป(รองจากเยอรมนี)และจะยังอยู่กับสหภาพยุโรป แต่หากผลลือกตั้งพลิกล็อกนางมารีน เลอแปน จากพรรคแนวร่วมแห่งชาติชนะได้เป็นประธานาธิบดี มีนโยบายถอนฝรั่งเศสออกจากสหภาพยุโรป(อียู) เหมือนอังกฤษ เศรษฐกิจของอียูก็จะมีความเสี่ยง

ขณะที่ในวันที่ 8 มิถุนายน 2560 จะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ในอังกฤษ ยังต้องลุ้นว่านางเทเรซ่า เมย์ จะได้รับเลือกกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเพื่อเดินหน้าการเจรจานำพาอังกฤษออกจากอียู(เบร็กซิท) ให้ได้เงื่อนไขดีที่สุดหรือไม่

"ภาคธุรกิจส่วนใหญ่อยากให้นายมาครองชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศส เพราะมีผลต่อเศรษฐกิจยุโรป และความมั่นของอียู และจะช่วยกระตุ้นการส่งออกของไทยไปอียูได้ ส่วนกรณีเลือกตั้งในอังกฤษหากพลิกล็อคนายเทเรซ่า เมย์แพ้ อียูจะทำอย่างไรต่อกับอังกฤษ หรือจะเกิดอะไรขึ้นกับอียูเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ยังบอกไม่ได้ ทั้งนี้อียูเป็นหนึ่งในตลาดหลักของไทย ประชากร 300-400 ล้านคน มีเศรษฐกิจที่ค่อนข้างใหญ่ หาก 20 กว่าประเทศแตกย่อยลงไป เขาก็จะออกกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น จากเดิมที่ใช้มาตรฐานเดียวกัน สะดวกกับสินค้าที่เราส่งออกไป แต่หากแตกเป็นหลายประเทศ จะมีมาตรฐานตัวเองมากขึ้น ตรงนี้จะควบคุมยากขึ้นและจะเป็นอุปสรรคทางค้าได้"

 ทรัมป์เหรียญ2ด้าน
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงทางฝั่งสหรัฐฯกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ผู้นำสหรัฐฯสั่งให้ตรวจสอบการขาดดุลการค้ากับ 16 ประเทศซึ่งรวมทั้งไทย เรื่องนี้ยังไม่ชัดเจนว่าทรัมป์ต้องการอะไร จะกีดกันอะไรหรือไม่ เช่นสมมุติอาจนำมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(AD) และการอุดหนุน(CVD)มาใช้ ซึ่งปัจจุบันผู้ส่งออกไทยยังได้รับการชดเชยภาษีส่งออกตามมาตรา 19 ทวิ(มุมน้ำเงิน) หากสหรัฐฯระบุว่าเป็นการอุดหนุนการส่งออก เรื่องนี้จะต้องยกเลิกหรือไม่

"ในอีกมุมหนึ่งทรัมป์มีนโยบายจะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 35 เหลือ 15% ที่ยังต้องไปโน้มน้าวต่อรัฐสภาให้การอนุมัติ เรื่องนี้จะช่วยกระตุ้นการลงทุน เศรษฐกิจ และการจ้างงานให้มากขึ้น การบริโภคในสหรัฐฯน่าจะกระเตื้องขึ้น และจะผลดีต่อการส่งออกของทั่วโลกรวมทั้งไทย"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,259 วันที่ 7 - 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560