มอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุด ลงทุนกว่า 1.4 หมื่นล้านเปิดบริการปี62

06 พ.ค. 2560 | 03:00 น.
นับตั้งแต่เริ่มมีระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) สายแรก คือ มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 (กรุงเทพ – ชลบุรี) ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 ได้เปิดให้บริการมอเตอร์เวย์หมายเลข 9 (วงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก บางนา – บางปะอิน) ปัจจุบันมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ได้ขยายจากชลบุรี ไปถึงพัทยา ระยะทางอีก 42 กิโลเมตร และกำลังดำเนินการเข้าสู่ระบบปิดอย่างเต็มรูปแบบภายในปีนี้

แม้ว่าทล.จะได้พัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 สายทางมาอย่างต่อเนื่องด้วยจุดเด่นที่ออกแบบให้รถสามารถใช้ความเร็ว มีการควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ มีรั้วกั้นตลอดแนว และมีทางแยกต่างระดับในจุดที่ต้องตัดกับเส้นทางสายอื่น ๆ รวมถึงมีที่พักริมทาง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก และระบบควบคุมความปลอดภัยตลอดเส้นทาง ทำให้ปัจจุบันมีปริมาณการใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 สายมากกว่า 6 แสนคัน/วัน

ดังนั้นด้วยการพัฒนาระบบมอเตอร์เวย์ที่จัดเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ของประเทศโดยเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 คณะรัฐมนตรียังได้เห็นชอบโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์เพิ่มอีก 3 เส้นทาง ได้แก่ มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ส่วนต่อขยาย (สายพัทยา – มาบตาพุด) มอเตอร์เวย์หมายเลข 6 (สายบางปะอิน – นครราชสีมา) และมอเตอร์เวย์หมายเลข 81 (สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี)

โดยเฉพาะมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ส่วนต่อขยาย (สายพัทยา – มาบตาพุด) ที่เริ่มการก่อสร้างไปแล้วนั้นจัดเป็นการก่อสร้างเส้นทางสายใหม่ ผ่านพื้นที่ 2 จังหวัด มีจุดเริ่มต้นที่ กม. 2+300 เชื่อมกับมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ผ่านอ.บางละมุง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี สิ้นสุดที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง บริเวณ กม. 34+400 ระยะทางรวม 32 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้าง 14,200 ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณจากกองทุนเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางของมอเตอร์เวย์สาย 7 และสาย 9 ไปดำเนินการ

สำหรับงานก่อสร้างในส่วนงานโยธา แบ่งออกเป็น 13 สัญญา โดยทล.ได้ลงนามสัญญาและเริ่มก่อสร้างปัจจุบันมีความก้าวหน้ากว่า 32% (ณ เดือนเมษายน 2560) ในส่วนของงานระบบ เช่น ระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมและบริหารการจราจร ด่านช่างน้ำหนักอยู่ระหว่างสำรวจ ออกแบบการก่อสร้าง และเตรียมการประกวดราคา คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จและเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงปลายปี 2560 นี้

“มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 (สายพัทยา – มาบตาพุด)” จะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ภายในปี 2562 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนงานพัฒนารองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกปี 2560 -2564 ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นเส้นทางที่สามารถเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งระหว่างภาคกลางกับภาคตะวันออกได้อย่างสมบูรณ์ จึงนับเป็นเส้นทางสายหลักที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก

ซึ่งจะช่วยส่งเสริมทั้งในภาคธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยว ด้วยแนวเส้นทางที่สามารถรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าในภาคตะวันออกไปยังทั่วทุกภูมิภาค เชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงการขนส่งทางรถไฟ การขนส่งทางอากาศที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานอู่ตะเภา จัดเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียนได้อีกด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,258 วันที่ 4 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2560