เงินเฟ้อ 4 เดือนแรกพุ่ง 1.03% คาดทั้งปียังอยู่ในกรอบ

01 พ.ค. 2560 | 07:08 น.
ราคาน้ำมันที่เริ่มปรับขึ้นตามตลาดโลก แต่ราคาอาหารสดยังถูกอยู่ส่งผลอัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายนเพิ่มเล็กน้อยเพียง 0.38% ส่วนเดือนหน้าค่าไฟเพิ่ม คาดมีผลต่อเงินเฟ้อให้เพียง 0.05% มั่นใจทั้งปีอยู่ในกรอบ 1.5-2.2%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ)ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา สูงขึ้น 0.38% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจาก การปรับขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ รวมทั้งราคาอาหารสำเร็จรูปที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าในหมวดอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เดือนเมษายน ลดลง 0.26% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 15 ปี  เนื่องจากปีที่ผ่านมาราคาสินค้ากลุ่มอาหารสด ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งหนัก ทำให้ราคาพุ่งขึ้นสูงมาก ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์มีมาตรการดูแลราคาสินค้า และลดค่าครองชีพประชาชน

ขณะที่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายน ขยายตัว 0.16% ซึ่งสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอลง จากราคาผักสด น้ำมันขายปลีกในประเทศ รวมถึงข้าวสารเจ้า และะราคาอาหารสำเร็จรูป ที่ราคาสูงขึ้นเพราะร้านค้าสิ้นสุดช่วงรายการส่งเสริมการขาย ส่งผลให้ 4 เดือนแรกของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยสูงขึ้น 1.03% จากช่วงเกียวกันของปีก่อน ส่วนในเดือนพฤษภาคม แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นค่าเอฟที 12 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลต่อค่าไฟให้สูงขึ้น แต่จากการประเมินของกรมการค้าภายในพบว่ามีผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นน้อยมากเพียง 0.0002%  และมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อเพียง 0.05% เท่านั้น  จึงมั่นใจว่าจะสามารถดูแลอัตราเงินเฟ้อในปีนี้อยู่ในคาดการณ์ที่ 1.5-2.2% ได้ บนสมมติฐานที่เศรษฐกิจขยายตัว 3-4% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 50-60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และค่าเงินบาทอยู่ในกรอบ 35.5-37.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ