อี-เพย์เมนต์ล้างทุจริต ชี้เงินสดอุปสรรค ขวางขับเคลื่อน 4.0

30 เม.ย. 2560 | 07:51 น.
วันที่ 30 เม.ย.60- วงสัมมนา “ฐานเศรษฐกิจ” ฟันธงอี-เพย์เมนต์เครื่องมือสำคัญล้างคอร์รัปชัน สรรพากรยันไม่ถอนขนห่าน-รีดภาษีเกิน 3 แบงก์แนะผู้บริโภค-ร้านค้าร่วมวงพร้อมเพย์ ปูทางสู่สังคมไร้เงินสด

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจเเละสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์จัดสัมมนา “e-Payment นำไทยสู่ทศวรรษใหม่ Cashless Society” เพื่อติดตามความคืบหน้าแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติหรือ National e- Payment Master Plan หนึ่งในนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจภาคการเงินที่จะช่วยขับเคลื่อนทุกภาคส่วนของประเทศก้าวสู่ความเป็นDigital Economy การเสวนาสะท้อนมุมมองเชิงบวกต่อการปฏิรูประบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพราะถ้าประเทศไหนหรือใครที่สามารถตามทันเทคโนโลยี ประเทศนั้นก็จะไปรอดแต่ถ้าประเทศไหนยังหยุดอยู่กับที่หรือยังทำแบบเดิมๆก็จะล้าหลัง ยกตัวอย่างเกาหลีใต้เศรษฐกิจก้าวกระโดด หลังปรับใช้ระบบ-อีเพย์เมนต์แล้ว เช่นเดียวกับกรมสรรพากรของสิงคโปร์ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
ขณะที่ในเมืองไทยมีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ต้องการจะเดินไปแนวทางของ อิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบหลังบ้านไม่ว่าจะเป็นการส่งงบบัญชีทางอิเล็กทรอนิกส์หรือจัดทำเอกสาร หรือการกรอกใบกำกับภาษี รวมถึงการส่งใบเสร็จรับเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เหล่านี้ล้วนทำให้กรมสรรพากรต้องปรับตัว แต่ยอมรับยังมีผู้ประกอบการอีกส่วนหนึ่งที่ต้องอาศัยระยะเวลาปรับตัวเช่นกัน ขณะที่เอกชนพยายามสร้างการรับรู้เมื่อพบว่าไทยเป็นประเทศที่มีการใช้เงินสดค่อนข้างสูง วงเสวนาเห็นตรงกันว่าทุกคนควรจะตระหนักถึงต้นทุนของการใช้เงินสดที่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นการชำระค่าสินค้า หรือค่าบริการ หรือแม้แต่ร้านค้าที่ให้บริการผ่านระบบอี-เพย์เมนต์ยังคงเห็นยอดขาย 50% เป็นการซื้อสินค้าเงินสด สะท้อนพฤติกรรมของลูกค้าไม่ยอมใช้บัตร และพบว่าอี-คอมเมิร์ซ เมืองไทย 90% ยังเป็นการชำระเงินสดเช่นกัน
" พัดชา พงศ์กีรติยุต" รองอธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า ยังมีคนเอาเปรียบเลี่ยงภาษี การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้อย่าห่วงในเรื่องการจัดเก็บภาษีพร้อมยืนยันว่าทุกรัฐบาลไม่ต้องการจะจัดเก็บภาษีสูงเกินจริง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลมีความชัดเจนว่า จะจัดเก็บภาษีบนความเป็นธรรม แต่ยังมีคนอีกส่วนหนึ่งที่ยังเอาเปรียบด้วยการหลบเลี่ยงภาษี ถ้าปล่อยไว้แบบนี้ต่อไปเท่ากับสร้างความไม่เป็นธรรม ดังนั้นหากอุดช่องการทุจริตตรงนี้จะทำให้สรรพากรเพิ่มฐานรายได้จากที่เคยหายไปได้เพิ่มขึ้น เช่น ในอดีต ปัญหาที่พบ คือ การซื้อขายใบกำกับภาษีปลอม การหลบเลี่ยงภาษีโดยทำหลักฐานเท็จหรือทำหลายบัญชี ขณะนี้ให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัวทำบัญชีชุดเดียว ทั้งนี้ หากทุกอย่างทำบนอิเล็กทรอนิกส์ ข้อมูลทุกอย่างจะถูกย้ายขึ้นไปอยู่บนอิเล็กทรอนิกส์ ในแง่ของการจะตรวจสอบหาข้อมูลจะใช้เวลาตรวจสอบน้อยลง
"เดือนเด่น นิคมบริรักษ์"ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอระบุว่า จี้หน่วยงานกำกับ-คุมความปลอดภัยประเทศไทยยังเป็นวัฒนธรรมการใช้เงินสด ซึ่งเป็นปัญหาความไม่สมดุลราคา เราเป็นสังคมที่ไม่ตระหนัก เห็นได้จากค่าธรรมเนียมโอนเงินข้ามธนาคารยังสูง 25-30 บาท เพราะธนาคารต้องไปอุดหนุนหรือชดเชยธุรกรรมที่ใช้กดเงินสดซึ่งมีต้นทุนสูง ถ้าจะเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนใช้เงินสดต้องลดปัญหาคือ ความปลอดภัยหลายครั้ง ความไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีคนจึงไม่กล้าใช้แต่ความปลอดภัยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ไปไม่ถึง แต่จะโยงไปโทรคม นาคม ซึ่งทุกวันนี้มือถือเข้ามาเกี่ยวข้องกับการโอนเงินเป็นล้านล้านบาท ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย รวมถึงโทรคมนาคมด้วย “เทคโนโลยีนั้น มีประเด็นความเสี่ยงซึ่งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยที่ธปท.ไปไม่ถึงและโยงกับโทรคม นาคม อย่าลืมว่าทุกวันนี้มือถือคือทรัพย์ของท่าน จึงต้องรอบคอบ
"อารักษ์ สุธีวงศ์ "รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า เปลี่ยนเงินสดเป็นเงินอิเล็กทรอนิกส์ ในอดีตใช้เงินสดใส่ซอง หรือนำเงินสดไปส่งให้ลูกค้าตามสถานที่ต่างๆ เพราะระบบไม่พร้อม แต่ตอนนี้กรุงไทยเปลี่ยนเงินสดเป็นเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยมีบัตรและพร้อมโอนเงินให้ลูกค้า(กระเป๋าเงินอิเล็ก ทรอนิกส์) ซึ่งพัฒนาการเหล่านี้ โชคดีที่รัฐบาลทำโครงการนี้เพื่อองค์รวม อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนเงินสดเป็นเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นความท้าทายขึ้นอยู่กับความจำเป็นในเรื่องของการเปลี่ยนบัตร, ความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง และความร่วมมือในเรื่องของการเปลี่ยนแปลง
“ไม่ใช่ความผิดที่อดีตคนใช้เงินสด เพราะความพร้อมที่ยังมาไม่ถึง แต่ความร่วมมือโครงการในครั้งนี้ในส่วนของอี-เพย์เมนต์จะเพิ่มประสิทธิภาพ เพราะการค้าเกิดขึ้นตลอดเวลา ส่วนภาษีอิเล็กทรอนิกส์นั้นเป็นความร่วมมือทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลหลายรายการทำให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นความท้าทาย”
"อารักษ์ " ระบุว่า จ่อเก็บเพิ่มค่าธรรมเนียมถอนเงินสด ความพยายามของหลายธนาคารพาณิชย์อยากให้ผู้บริโภคและสื่อสร้างความเข้าใจ ในบริการพร้อมเพย์ ซึ่งแทบจะไม่มีค่าธรรมเนียม โดยไทยพาณิชย์เองพยายามลดต้นทุนเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคมาร่วมกันใช้บริการ เพราะหากลดต้นทุนเป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้ทั้งหมดประเทศจะได้ประโยชน์ อย่างไรก็ตามจากที่ได้หารือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่าอีก 1-2 ปีค่อยพิจารณาเพิ่มค่าบริการถอนเงินสด ขณะที่โครงการ 2 แผนติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์(อีดีซี) อีกประมาณ 5 แสนเครื่องนั้น ใช้งบประมาณลงทุนถึง 3,400 ล้านบาท แต่สิ่งที่พบผู้ประกอบการร้านค้ามองว่าจะใช้หรือไม่ใช้ อาจยังขาดความเข้าใจ ซึ่งไทยพาณิชย์พยายามให้ร้านค้าร่วมติดตั้งอีดีซีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
"อนุชิต อนุชิตานุกูล " ประธานสายพัฒนาระบบงาน ช่องทางขายและผลิตภัณฑ์ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด(มหาชน) และที่ปรึกษาคณะทำงานพัฒนาระบบ e-Payment ระบุว่า บิ๊กดาต้า สู่การค้าอิเล็กทรอนิกส์ การโฟกัสประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยคนที่ต้องเรียนรู้ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่รู้ ฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลทำโครงการนี้คือ พยายามเปลี่ยนจาก กระดาษเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการปฏิิวัติตรงนี้เป็นอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) เพราะเป็นการลดต้นทุน ถ้าไทยไม่ก้าวข้ามจุดนี้ไปแล้วจะเดินหน้าเศรษฐกิจดิจิตอลไม่ได้

"อาลีบาบา เจริญเติบโตได้ด้วยการบริหารจัดการสินค้าซัพพลายเชนได้เพราะบิ๊กดาต้า หากไทยยังทำการค้าแบบกระ-ดาษจะสู้การค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับโครงสร้างในพร้อมเพย์นั้นยังใช้ไม่ถึง 5% ยังมี Any IDที่สามารถจะนำมาใช้ได้อีกหลายอัน ถ้าระบบชำระเงินกลายเป็นอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้จะเดินไปได้อย่างไร"
"มนตรี สิทธิญาวณิชย์ " รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ห้างเซ็นทรัลดีพาร์ทเมนต์สโตร์ จำกัด ระบุว่า เทรนพนักงานรองรับเทคโนโลยี ระบบการชำระเงินอี-เพย์เม้นต์ นั้นมีประโยชน์มาก เชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยให้คนหันมาใช้บริการระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นทั้งเครื่องรับบัตรเครดิตและบัตรเดบิต อย่างไรก็ตาม เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาแม้บริษัทได้มีการนำเครื่องรับชำระเงินมาใช้ แต่ที่น่าตกใจตัวเลขยอดขายล่าสุด 50% ยังเป็นเงินสด โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นจึงจำเป็นต้องมีการเทรนพนักงานให้รู้วิธีใช้และสามารถให้บริการกับลูกค้าด้วย
"พัฒนาทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น รวมถึงแนวทางที่รัฐบาลจะไปสู่Cashless Societyนั้น เป็นความจำเป็นที่คนต้องรู้วิธีการใช้โดยเฉพาะบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ในฐานะร้านค้าเราต้องอบรมพนักงานอย่างทั่วถึงเพื่อให้สื่อสารทำความเข้าใจและอธิบายกับลูกค้าได้ด้วย"