ทางออกนอกตำรา : เกมไล่ล่า “อัล คาโปน” แก๊งรถหรูเลี่ยงภาษี

28 เม.ย. 2560 | 14:10 น.
ทางออกนอกตำรา

โดย : บากบั่น บุญเลิศ 

 

เกมไล่ล่า “อัล คาโปน” แก๊งรถหรูเลี่ยงภาษี

มหากาพย์การนำเข้ารถหรูจากต่างประเทศแล้วสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีจำนวนหลายหมื่นล้านบาท ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตั้งอนุกรรมการชุดที่มี นายภักดี โพธิศิริ เป็นประธาน สอบสวนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการเอื้อประโยชน์ให้กับขบวนการ"อัล คาโปน"ในธุรกิจรถหรู เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่มีผู้หวังดีทำหนังสือร้องเรียนถึง พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ขณะที่ดำรงตำแหน่งอดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อขอให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่พัวพันกับขบวนการนำเข้ารถหรูสำแดงราคาต่ำ

ผมไปสืบสาวข้อมูล จากคณะอนุกรรมการของ ป.ป.ช.พบหลักฐานการดำเนินการที่น่าสนใจ ดังนี้

พ.ต.อ. ดุษฎี ได้ทำหนังสือลับ 2 ฉบับ ถึง อธิบดีกรมศุลกากร หนังสือลับที่ ยธ 1226.1/770 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2555 และหนังสือลับที่ ยธ 1226.1/968 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2555 ตั้งข้อกล่าวหานายตรวจศุลกากรทั้งหมด 108 คน ฐานไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบกรมศุลกากร โดยยอมรับราคาที่ผู้นำเข้าสำแดงต่ำกว่าราคาทดสอบ ที่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จำนวนมาก

ป.ป.ท.ยังได้จัดทำข้อเสนอแนะให้อธิบดีกรมศุลกากรตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่เกี่ยวข้องทิ้งช่วงไป 1 ปี เปลี่ยนอธิบดีไปหลายคนก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ….

จนวันที่ 25 มกราคม 2556 อธิบดีกรมศุลกากร มอบอำนาจให้รองอธิบดีกรมศุลกากร ลงนามในคำสั่งกรมศุลกากรลับที่3/2556 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนนายตรวจศุลกากรที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสำแดงราคาการนำเข้าที่ต่ำกว่าราคาที่แท้จริง 1-2 เท่า ในชุดแรกจำนวน 27 คน มีตั้งแต่ผู้อำนวยการ นายด่าน ยันเจ้าหน้าที่ตรวจรับ

วันที่ 28 มีนาคม 2557 มีรองอธิบดีกรมศุลกากรคนหนึ่ง ลงนามในคำสั่งศุลกากรลับที่ 20/3557 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนนายตรวจตามด่านสำคัญโดยเฉพาะแหลมฉบัง ท่าเรือกรุงเทพ ด่านสะเดา ฯลฯ ยันเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากร อีก 40 คน รวมมีเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรโดนสอบสวนทั้งสิ้น 67 คน

บรรดาเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรทั้ง 67 คน ที่ถูกสอบสวนทั้งหมดนี้ คัดกรองมาจากฐานของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งหมด 220 คน ก่อนจะโดนตัดออกไปจำนวนหนึ่ง

ถามว่า คนเหล่านี้เกี่ยวข้องกับขบวนการนำเข้ารถหรูและเสียภาษีไม่ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน?

ข้อมูลของกรมศุลกากร ระบุว่า ในช่วงปี 2550-2557 มีผู้นำเข้ารถหรูที่อยู่ในข่ายสำแดงภาษีนำเข้าไม่ครบถ้วนและหลีกเลี่ยงภาษีรวมกันกว่า 310 ราย ในจำนวนนี้มีขาใหญ่ที่เป็นอัล คาโปนในขบวนการนำเข้ารถยนต์อยู่ 4-5 ราย ที่ถือเป็นขาใหญ่ในตลาดรถหรู มีการนำเข้ารถยนต์กว่า 21,200 คัน

ผมย่อยให้เห็นภาพของความต้องการรถหรู ปี2553 นำเข้ากันแค่ 6,700 คัน ปี 2554 นำเข้ามาร่วม 11,000 คัน ปี 2555 นำเข้ากันถล่มทลาย 12,800 คัน ปี 2556 นำเข้ากันมา 7,500 คัน ปี 2557 นำเข้า 6,300 คัน ปี 2558 นำเข้า 4,000 คัน ปี 2559 นำเข้าไม่ถึง 2,000 คัน

รถยนต์หรูทั้งเบนซ์ พอร์ช ลัมโบกีนี่ ออดี้ โรลส์รอยส์ ที่นำเข้ามาทั้งหมดผ่านการตรวจ และปล่อยของออกมาจากท่าเรือและคลังโดยนายตรวจศุลกากร เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรที่แหลมฉบัง ท่าเรือคลองเตย ด่านชายแดน ที่ถูกกรมศุลกากรแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแทบทั้งสิ้น

โดยในกลุ่มนี้ มีหัวหน้าทีมที่เกี่ยวพันกับการทำงานในส่วนของสำนักปราบปรามฯ และผู้อำนวยการสำนัก ที่ชื่อ “ร.” “ย.” “ ส.” “พ.” เป็นผู้สั่งการ ในการอนุมัติให้ออกของ จนทำให้รัฐเสียหายจากภาษีที่ควรได้กว่า 51,000 ล้านบาท

ข้อมูลในทางลึกเจ้าหน้าที่คนตัวเล็ก นายตรวจรับกันคันละ 5,000 -20,000บาท ระดับผู้อำนวยการสำนักรับไปคันละ 3-5 หมื่นบาท ระดับสูงรับตามยอดแต่ละเดือน

กล่าวเฉพาะนายตรวจศุลกากร ที่เกี่ยวพันกับการตรวจสอบของป.ป.ช.พบว่ามีจำนวนถึง 250 ราย อนุมัติตรวจปล่อยรถหรูออกจากด่านศุลกากรสำคัญๆกว่า 45,000 คัน

ที่เห็นแล้วแทบช็อกคือ นายตรวจบางคนที่มีการสอบสวนมีการลงนามอนุมัติในหนังสือปล่อยของประเภทรถหรูอย่างน้อย 4 คน ที่อนุมัติกันไปคนละ 3,500 คัน บางคนปล่อยของกันเฉลี่ย 2,500 คัน และค่าเฉลี่ยปล่อยของกันคนละ 1,500 คันต่อปี ว่ากันว่า ขณะนี้มีนายตรวจหลายคนใน 220 คนที่เกี่ยวพันกับการนำเข้ารถหรู หลายคนตัดสินใจจบอาชีพราชการด้วยการลาออกแลกกับการพ้นมลทินทางคดี

หลายคนสงสัยว่า แล้วด่านศุลกากรไหนที่ตรวจปล่อยรถหรูที่สำแดงภาษีต่ำกว่าความเป็นจริงมากที่สุด แชมป์คือ สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ ปล่อยรถหรูออกจากด่านศุลกากรทั้งสิ้น 15,000 คัน สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ปล่อยรถหรูออกมาจากด่านศุลกากร 12,200 คัน ว่ากันว่า ที่นี่มีเอกชนขาใหญ่ที่เป็น “อัล คาโปน” ไปประจำการ สำนักงานศุลกากรลาดกระบัง มีการตรวจและอนุมัติปล่อยของที่เป็นรถหรู 6,000 คัน สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ปล่อยรถหรู 3,500 คัน สำนักงานศุลกากรสุวรรณภูมิ ปล่อยรถหรู 15 คัน ที่เหลือมีการอนุมัติปล่อยรถหรูออกจากสำนักงานศุลกากร ภาค 2-3- 4

นับตั้งแต่ปี 2556จนถึงปัจจุบันการตรวจสอบดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐยังเดินหน้าไปไม่ถึงไหน

ขณะที่การดำเนินการกับบริษัทนำเข้ารถหรูที่สำแดงภาษีต่ำกว่าความเป็นจริงนั้น ทราบว่า นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากรคนปัจจุบันลงนามในคำสั่งให้ดำเนินการเรียกเก็บภาษีจากบริษัทนำเข้ารถยนต์แล้วเพื่อเรียกเก็บภาษีส่วนที่ขาดจากผู้นำเข้ารถหรู ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559

แต่เชื่อหรือไม่ว่า "เก็บไม่ได้ "เรื่องนี้มีทางออกอย่างไร มาติดตามกันต่อ….

คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา / หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ/ ฉบับ 3257 ระหว่างวันที่ 30 เม.ย.-3 พ.ค.2560