กฟผ.รุก Energy Storage รับพลังงานทดแทน

28 เม.ย. 2560 | 10:00 น.
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.เตรียมลงทุนพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน(Energy Storage) เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีเสถียรภาพ เพราะกังวลว่าหากกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนหายไปจากระบบจำนวนมาก ระบบของ กฟผ.อาจรับไม่ทัน ดังนั้น กฟผ. เห็นว่าควรมีระบบกักเก็บพลังงานเพื่อรองรับพลังงานทดแทนเพื่อช่วยระบบให้มีความมั่นคง ดังนั้นกฟผ. เตรียมเปิดประมูลระบบกักเก็บพลังงานในพื้นที่ จ.ชัยภูมิและจ.ลพบุรี เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมาก

โดยในส่วนของชัยภูมิมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ขณะที่ลพบุรีมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลผู้รับเหมาระบบกักเก็บพลังงาน ได้ภายในปีนี้ เพื่อรองรับพลังงานทดแทนในพื้นที่ชัยภูมิ 16 เมกะวัตต์ และลพบุรี 21 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 3 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 1 เมกะวัตต์ใช้เงินประมาณ 100 ล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์ ยังรอความชัดเจนจากทางสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพราะกระบวนการรายงานด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) และรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(อีเอชไอเอ) ที่ กฟผ. ทำไปแล้ว หากให้ทำใหม่แบบเดิมก็จะเกิดปัญหาเดิมอีก ดังนั้นจะต้องรอคำตอบจากทาง สผ.ก่อนว่าจะให้ กฟผ.ดำเนินการอย่างไรต่อไป

ขณะที่แผนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของ กฟผ. มีเป้าที่ 2 พันเมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน 10% ของแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP2015) ที่ปลายแผนจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นเมกะวัตต์ ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้เพิ่มสัดส่วนการพลังงานทดแทนในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2015) เป็น 40%

“ส่วนตัวมองว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 โรงของ กฟผ. ในช่วงปลายแผนพีดีพี2015 อาจไม่เกิด จากปัจจุบัน กฟผ. มีแผนลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 1 โรง และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2 โรง ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงสุดท้ายของ กฟผ. อาจไม่เกิดขึ้น เนื่องจากต้นทุนพลังงานทดแทนและระบบกักเก็บพลังงานสามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงฟอสซิลได้”ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าว

ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวถึงก้าวต่อไปของ กฟผ. ว่า จะมุ่งสู่ Energy 4.0 นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาระบบไฟฟ้า ได้แก่ การพัฒนาเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) นำร่องที่ จ.แม่ฮ่องสอน ที่ผู้ผลิตและผู้ใช้พลังงานสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันผ่านระบบสารสนเทศ การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Energy Storage) เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีเสถียรภาพ และการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตไฟฟ้าได้บางช่วงเวลาให้พึ่งพาได้ตลอดเวลา โดยจับคู่แหล่งผลิตตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปในรูปแบบที่เรียกว่า Hybrid เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับและกังหันลมผลิตไฟฟ้าที่ลำตะคอง จ.นครราชสีมา รวมถึงมีการเตรียมรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยพัฒนารถต้นแบบและสถานีชาร์จไฟฟ้า ตลอดจนเตรียมพัฒนาพื้นที่สำนักงานใหญ่ กฟผ. จ.นนทบุรี ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) บนพื้นที่ 300 ไร่ เพื่อเป็นต้นแบบการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเห็นได้ว่า กฟผ. เป็นส่วนหนึ่งในขับเคลื่อนพลังงานหมุนเวียนให้บรรลุตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 (AEDP 2015) พร้อมทั้งวิจัยพัฒนาโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกัน กฟผ. ได้ประกาศความมุ่งมั่นที่จะรับผิดชอบต่อสังคมตามมาตรฐานสากล ISO 26000 ทั้งในเรื่อง CSR in Process หรือ CSR ในกระบวนการทำงาน เช่น การผลิตไฟฟ้าด้วยคุณภาพมาตรฐานสากล (ISO / CSR-DIW) การปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในสนธิสัญญา COP 21 ที่ กฟผ. ร่วมรับผิดชอบเป้าหมายของประเทศ โดย กฟผ. มีเป้าหมายชัดเจนที่จะลดให้ได้ 4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2563 และ 8 ล้านตันฯ ในปี 2568 และ 12 ล้านตันฯ ในปี 2573 นอกจากนี้ ในปี 2560 กฟผ. ได้เปิดรับคนพิการเป็นพนักงาน 20 อัตรา รวมทั้งการจ้างงานอัตราท้องถิ่นด้วย

ส่วน CSR after Process หรือการดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสังคม กฟผ. มีการสร้างชุมชนต้นแบบชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 32 แห่งทั่วประเทศ การปลูกป่า กฟผ. ซึ่งปลูกแล้วถึง 4.6 แสนไร่ การรณรงค์ประหยัดพลังงานที่นอกจากผลิตภัณฑ์เบอร์ 5 ปีนี้จะมีการพัฒนาเสื้อเบอร์ 5 ที่ไม่จำเป็นต้องรีด ร่วมกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ทำให้ลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ ส่วนการส่งเสริมกีฬา เช่น กีฬายกน้ำหนัก ในปี 2560 – 2563 ได้เพิ่มการสนับสนุนสมาคมยกน้ำหนักฯ จากปีละ 16 ล้านบาท เป็น 20 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมนักกีฬาไทยคว้าชัยโอลิมปิก ตลอดจนก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. 8 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งได้เปิดให้บริการแล้ว 3 แห่ง และเตรียมจะเปิดเพิ่มในปี 2560 ที่ กฟผ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ กฟผ.สำนักงานกลาง จ.นนทบุรี

จากความมุ่งมั่นดังกล่าวข้างต้นทำให้ กฟผ. ได้รับรางวัลต่าง ๆ อาทิ รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ปี 2559 รางวัล Thailand Energy Awards 2016 รางวัล EIA Monitoring Awards 2016 ซึ่ง 9 โครงการของ กฟผ. ได้รับรางวัลจากการจัดการสภาพแวดล้อมดีเด่น และเหมืองแม่เมาะได้รับรางวัล Green Mining Awards 2016 รวมถึง 30 หน่วยงาน กฟผ. ได้รับรางวัลรางวัลสถานประกอบการต้นแบบดีเด่นด้านความปลอดภัย ปี 2559 ทางด้านการวิจัย 4 ผลงานของ กฟผ. ได้รับรางวัลจากงาน 45th International Exhibition of Inventions of Geneva ณ สหพันธรัฐสวิส ด้านการเงิน กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 ได้รับรางวัล SET Award 2016 และเพื่อยืนยันถึงความโปร่งใส กฟผ. ได้รับรางวัลรัฐวิสาหกิจที่มีการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศในการจัดทำแผนงานเสริมสร้างคุณธรรมและความโปร่งใส จากสำนักงาน ป.ป.ช.

“48 ปีที่ผ่านมา กฟผ. ได้สร้างสมความเชี่ยวชาญ บุคลากร และเทคโนโลยี เพื่อให้ระบบไฟฟ้ามั่นคง สนับสนุนการพัฒนาประเทศและความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย ตามรอยพระราชปณิธานของรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงเป็นต้นแบบความหมั่นเพียร เรียนรู้อย่างเป็นระบบ ยึดถือส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ซึ่งในวันที่ 1 พฤษภาคม นี้ ภาพยนตร์โฆษณา กฟผ. ชุดใหม่ที่มีชื่อว่า “แสงไฟที่ไม่มีวันดับ” จะออกสู่สายตาประชาชน แสดงถึงความยึดมั่นดำเนินงานตามพระราชปณิธานเพื่อประโยชน์สุขที่ยั่งยืนของคนไทยสืบไป” ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าว

 

++++++++++++++++++++++