เบอร์ 1 ส่งออกเสื้อผ้ากีฬา ยันผลิต OEM ยังไปได้-ขยับสู่ 4.0

02 พ.ค. 2560 | 08:00 น.
ยังรักษาเบอร์ 1 ผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬารายใหญ่สุดของประเทศไทยไว้ได้อย่างเหนียวแน่น สำหรับ "ไนซ์กรุ๊ป โฮลดิ้ง คอร์ป จำกัด" ภายใต้การบริหารงานของ "ประสพ จิรวัฒน์วงศ์" ที่ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารหรือซีอีโอ ล่าสุด "ประสพ"ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงภาพรวมของกลุ่ม รวมถึงทิศทางอนาคตเพื่อสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่กำลังลุกไล่เข้ามา

 ขยายไม่หยุดฐานตปท.
"ประสพ"กล่าวถึงภาพรวมของกลุ่ม ณ ปัจจุบันว่า มีโรงงานในประเทศรวม 6 แห่ง ได้แก่ที่นนทบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ 1 แห่ง ขอนแก่น 3 แห่ง นครราชสีมา 1 แห่ง และที่หนองบัวลำภู 1 แห่ง รวมกำลังผลิตในประเทศประมาณ 30 ล้านตัวต่อปี ส่วนฐานการผลิตในต่างประเทศมี 3 แห่ง ได้แก่ กัมพูชา จีน และเวียดนาม โดยในกัมพูชาได้ลงทุนแล้วที่นิคมอุตสาหกรรมเกาะกงใน 3 เฟส ใช้เงินลงทุนประมาณเฟสละ 300 ล้านบาท กำลังผลิตราวเฟสละ 6 ล้านตัวต่อปี โดยล่าสุดได้เริ่มต้นผลิตในเฟสที่ 3 เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา คาดจะเต็มกำลังผลิตในปลายปีนี้ และทางกลุ่มจะมีการพิจารณาเพื่อลงทุนในเฟสที่ 4 ในเกาะกงของกัมพูชาในโอกาสต่อไป

ส่วนฐานผลิตในจีนมีโรงงานที่เมืองชิงเต่า ซึ่งได้ลงทุนมากว่า 10 ปีแล้ว มีกำลังการผลิตประมาณ 3.5-4 ล้านตัวต่อปี โดยสัดส่วน 20-30 % ของกำลังผลิตจะจำหน่ายในจีน ที่เหลือเป็นการส่งออก ขณะที่ในเวียดนาม ล่าสุดทางกลุ่มได้เข้าไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอันยัง อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของนครโฮจิมินห์ ซึ่งในเฟสแรกนี้คาดโรงงานจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มผลิตได้ในเดือนกันยายน 2560 เงินลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท กำลังผลิต 6 ล้านตัวต่อปี

"เฟสแรกในเวียดนามเริ่มได้ช้ากว่าแผน จากต้องใช้เวลาคุยเรื่องที่ดิน เรื่องของโปรเสทต่างๆ ซึ่งการลงทุนในประเทศใหม่ต้องใช้เวลา เฟสแรกในเวียดนามนี้คาดจะเต็มกำลังผลิตในเดือนกันยายน 2560 ส่วนจะขึ้นเฟส2จะขึ้นต่อเลยหรือไม่ เราอาจจะขึ้นกลางปีหน้า เพราะได้เตรียมที่ดินไว้พอสำหรับ 2 เฟสพื้นที่ประมาณ 60 กว่าไร่ ขนาดลงทุนก็จะใกล้เคียงกับเฟสแรก"

 ทีพีพีวืดไม่เสียขบวน
"ประสพ"ยอมรับว่าการลงทุนในเวียดนามตามเป้าหมายก่อนหน้านี้เพื่อใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือทีพีพีที่เวียดนามเป็นสมาชิก เพื่อส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯและประเทศสมาชิก แต่จากการถอนตัวออกจากทีพีพีของสหรัฐฯทำให้ทีพีพีต้องหยุดชะงักลง

"ก็กลับตัวไม่ทันแล้ว และโครงการก็เดินหน้าไปแล้ว แต่ถึงทีพีพีไม่เกิดเวียดนามก็ได้รับอานิสงส์มากจากที่ต่างชาติเข้าไปลงทุนในเวียดนามเพื่อรองรับทีพีพีจำนวนมาก อย่างไรก็ดี เวียดนามยังมีเอฟทีเอกับกับสหภาพยุโรปที่บรรลุความตกลงกันไปแล้ว คาดจะมีผลบังคับใช้ปลายปีนี้ ดังนั้นจะว่าเราเสียขบวนก็ไม่ใช่ เพราะยังสามารถใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากเอฟทีเอสหภาพยุโรป-เวียดนามได้"

 เหตุขยายฐานตปท.
ซีอีโอไนซ์กรุ๊ป ยังได้อธิบายถึงเหตุผลความจำเป็นที่ทางกลุ่มต้องออกไปลงทุนขยายฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้านว่า "เป็นแผนกลยุทธ์ที่ลูกค้าอยากทางกลุ่มมีฐานการผลิตมากกว่า 2-3 ประเทศ เพราะจะทำให้เกิดความเสถียรและความมั่นคงด้านการผลิตแทนที่จะไปหนักอยู่ที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง หากมีประเด็นปัญหาเกิดขึ้นประเทศหนึ่ง อีกประเทศหนึ่งก็สามารถสนับสนุนได้ ต่อมาคือเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี เรื่องของแรงงาน เรื่องของโลจิสติกส์ เรื่องใกล้แหล่งวัตถุดิบ เหล่านี้เป็นปัจจัยเสริมว่าเราจะเลือกไปลงที่ไหน"

 เป้าปีนี้340ล้านดอลล์
สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจของไนซ์กรุ๊ปปีนี้ ได้วางแผนการผลิตไว้ที่ 45-50 ล้านตัว จากปีที่แล้วผลิตประมาณ 41 ล้านตัว ยอดรายได้ปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 330-340 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(1.15-1.19 หมื่นล้านบาท คำนวณที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ)จากปีที่แล้วมียอดขายประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(ราว 1.05 หมื่นล้านบาท) โดยสัดส่วน 60% เป็นรายได้จากฐานการผลิตในไทย ที่เหลือเป็นรายได้จากฐานผลิตในต่างประเทศซึ่งในอนาคตรายได้จากฐานผลิตต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น

ปัจจุบันไนซ์กรุ๊ปผลิตสินค้าให้กับ 5 แบรนด์หลัก ได้แก่ Nike, Adidas,UnderArmour, Mizuno และ Foot Locker และยังผลิตชุดกีฬาให้กับทีมฟุตบอลในไทยลีกหลายทีม ทั้งนี้คู่ค้าหลักอย่าง Nike และ Adidas ได้จัดให้ทางไนซ์กรุ๊ปเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์(Strategic Partnership) ทางธุรกิจอยู่ในกลุ่มเทียร์ 1 ที่ให้ความสำคัญในการวางแผนธุรกิจร่วมกันในอันดับต้นๆ

 โออีเอ็มยังไปได้
ต่อกรณีที่การผลิตของไนซ์กรุ๊ป รวมถึงอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มหรือการ์เมนต์ของไทยส่วนใหญ่ยังเป็นการรับจ้างผลิตในแบรนด์ลูกค้า(โออีเอ็ม) ซึ่งในอนาคตลักษณะการผลิตแบบนี้จะยังอยู่ได้อย่างยั่งยืนหรือไม่นั้น "ประสพ"กล่าวว่า "ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราได้คู่ค้าที่เหมาะสมหรือแมตกันหรือไม่ ถ้าได้คู่ค้าที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ผมว่าก็ยังโอคอยู่ เพราะในที่สุดก็ต้องมีผู้ผลิต ไม่ใช่ว่าเจ้าของแบรนด์เขาจะไปผลิตเอง ถ้าอย่างนั้นโออีเอ็มอยู่ไม่ได้ แต่ถ้าตราบใดที่ร้านค้าหรือเจ้าของแบรนด์ยังต้องสั่งผลิต โออีเอ็มก็ยังต้องมี แต่รูปแบบของการทำโออีเอ็มอาจต้องปรับตัวบ้าง เพื่อให้เราคงความสามารถในการแข่งขันทั้งเรื่องราคา และสิ่งที่ลูกค้าเขาคาดหวัง ถามว่าผมผลิต 30-40 ล้านตัว จะทำแบรนด์อะไรเองที่จะไปขายได้ขนาดนี้หรือไม่ คงทำได้ระดับหนึ่ง แต่คงไม่สามารถเอามาทดแทนโออีเอ็มได้"

 ความท้าทายสู่ยุค4.0
อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่งทางกลุ่มก็ต้องปรับตัวในเรื่องของการบริหารจัดการ ต้องปรับตัวให้มีประสิทธิภาพ และดูแลควบคุมต้นทุนให้ดี รวมถึงเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในอนาคตสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 โดยต้องเตรียมตัวว่าจะทำอย่างไร โดยมีทีมศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของการพัฒนาในเรื่องของการผลิต ในเรื่องของการบริหารจัดการเรื่อง 4.0 ซึ่งจะมีเรื่องของดาต้า(ข้อมูล) เรื่องของกระบวนการผลิต เรื่องของเครื่องจักรอัตโนมัติ เรื่องของดิจิตอล เรื่องของโรงงานสมัยใหม่และการเซ็ตอัพโปรดักส์ไลน์ใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นความท้าทายในอนาคตที่กำลังรุกคืบเข้ามา

"มองว่าในที่สุดก็ยังต้องใช้คนอยู่ เครื่องจักรจะเข้ามาแทนคนทั้งหมดเลยไม่ใช่ เพราะฉะนั้นแพลนของเราก็คือว่า จะทำอย่างไรจะเพิ่มการผลิตโดยใช้คนเท่าเดิม หรืออาจจะมีการขยับขยายจำนวนคน หรือจำนวนโรงงานเพิ่มขึ้น โดยมีผลผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่าการเพิ่มของกำลังคนซึ่งปัจจุบันทั้งกลุ่มเรามีคนงานและพนักงานทั้งในและต่างประเทศรวมกว่า 1.8 หมื่นคน"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,257
วันที่ 30 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560