TDRI เผย 30 ปี ทุจริตภาครัฐ 9.8 เเสนล้าน "จำนำข้าว-ไทยเข้มเเข็ง" เสียหายมากสุด

26 เม.ย. 2560 | 12:54 น.
TDRI เผย 30 ปี ทุจริตภาครัฐ 9.8 เเสนล้าน "จำนำข้าว-ไทยเข้มเเข็ง"เสียหายมากสุด

– 26 เม.ย.60 – นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในงานเสวนา “ติดตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จัดโดยTDRI และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ว่า รายงานวิจัย “โฉมหน้าคอร์รัปชั่นไทย” ซึ่งรวบรวมข้อมูลเรื่องราวทุจริตคอร์รัปชั่นที่เป็นคดีที่องค์กรอิสระตรวจสอบ และรวบรวมจากสำนักข่าวต่างๆที่มีการรายงาน ตั้งแต่ปี 2530-2559 พบว่ามีเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นในภาครัฐทั้งหมด 110 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในปี 2540-2556 เป็นหลัก

นายธิปไตรกล่าวว่า ลักษณะการทุจริตที่พบมากที่สุดที่เกิดทุกยุคทุกสมัยคือการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง และการทุจริตการบริหารราชการที่ใช้อำนาจอนุมัติ เช่น ขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง การปล่อยกู้ของธนาคารของรัฐโดยมิชอบ การจัดเก็บรายได้และภาษีของรัฐ เป็นต้น ขณะเดียวกันเห็นรูปแบบของการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายในการใช้งบประมาณเรื่องภัยพิบัติและการแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตร

นายธิปไตร กล่าวว่า สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่มีปัญหามากที่สุดใน 110 คดีได้แก่ กระทรวงการคลัง เช่น กรมศุลกากร กรมสรรพากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บรายได้และเงินเข้าภาครัฐ พบลักษณะทุจริตคือ การปล่อยกู้ของธนาคารรัฐที่มิชอบ การสำแดงภาษีเท็จ ถัดมาคือกระทรวงคมนาคม เช่น กรมทางหลวงชนบท การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ มีงบประมาณจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งเป็นเรื่องการทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง และยังพบในกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ ในการทุจริตรับซื้อสินค้าเกษตร และสหกรณ์การเกษตร รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ที่มีนโยบายแทรกแซงสินค้าเกษตร และยังมีแนวโน้มที่จะดำเนินเป็นนโยบายต่อไป

นายธิปไตร กล่าวว่า ระยะเวลาในการพิจารณาเรื่องทุจริตที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่เกิดเรื่องอื้อฉาวมีการนำเสนอผ่านสื่อไปจนถึงองค์กรอิสระ หรือศาลตัดสินคดีเฉลี่ยแล้วจนจบใช้เวลามากกว่า 10 ปี และบางเรื่องใน 110 เรื่อง ก็ยังไม่จบ และในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมาที่เกิดเรื่องอื้อฉาว 110 เรื่องนั้น มีอยู่ 71 เรื่องที่ประเมินออกมาเป็นมูลค่าโครงการรวมกันกว่า 9.8 แสนล้านบาท ส่วนการประเมินมูลค่าความเสียหายนั้น จะคิดค่าเสียโอกาสจากการไม่สามารถใช้เงินงบประมาณได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยมาคิดด้วย โดยโครงการที่มีมูลค่าความเสียหายมากที่สุดคือ จำนำข้าวและโครงการไทยเข้มแข็ง

นายธิปไตร กล่าวว่า ในอนาคตจะต้องจับตาเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงเรื่องการปล่อยเงินกู้ของธนาคารรัฐ การจัดเก็บภาษีและเงินของภาครัฐ นอกจากนี้มีข้อเสนอว่า ควรมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการต่อต้านคอร์รัปชั่น ควรเปิดให้แสดงความคิดเห็นในทางการเมือง การเปิดเผยข้อมูลและการใช้ข้อมูลถือเป็นสิ่งสำคัญ พัฒนาขีดความสามารถขององค์กรอิสระที่ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น และวางระบบรวมถึงสนับสนุนประชาชนให้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น