ชี้‘ค่าไฟฟ้า’ปีหน้าขยับอีก กกพ.ปรับฐานการคำนวณใหม่สะท้อนต้นทุนผลิต

26 เม.ย. 2560 | 07:00 น.
กกพ.เตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานใหม่ เริ่มใช้ภายในปี 2561 ชี้แนวโน้มสูงขึ้น รอความชัดเจนการปรับแผนพีดีพี 2015 และโครงการลงทุนโรงไฟฟ้า-สายส่งของ 3 การไฟฟ้า หวังให้สะท้อนต้นทุน

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เตรียมปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานใหม่ ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 2561-2565 จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.7556 บาทต่อหน่วย โดยจะต้องปรับทุกๆ 3-5 ปี เพื่อสะท้อนถึงต้นทุน มาจากรายจ่ายของการไฟฟ้า 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ ต้นทุนทางการเงินที่การไฟฟ้าใช้ในการก่อสร้างขยายระบบผลิต ระบบส่งและระบบจำหน่ายในอนาคต,ต้นทุนในการดำเนินงาน เช่น ค่าใช้จ่ายดำเนินงานและบำรุงรักษาระบบผลิต ระบบส่งและระบบจำหน่าย ค่าบริหารจัดการ ตลอดจนผลตอบแทนการลงทุน และต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า

โดยทาง กกพ.คาดว่าแนวโน้มต้นทุนคำนวณค่าไฟฟ้าฐานรอบใหม่อาจเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุมาจากต้นทุนโครงการลงทุนสายส่งไฟฟ้าสูงขึ้น รวมทั้งจะต้องนำโครงการลงทุนของ 3 การไฟฟ้า ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(พีอีเอ) เข้ามาคำนวณด้วย และยิ่งต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันสัดส่วน 65% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ก็จะยิ่งทำให้การคำนวณต้นทุนสูงขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากปริมาณก๊าซในอ่าวไทยเริ่มลดลงและต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) สูงขึ้น

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กกพ. เตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานใหม่ ซึ่งกำหนดจะแล้วเสร็จภายในปี 2560 และคาดว่าจะประกาศใช้ในปี 2561 เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ต่างๆ โดยจะต้องนำโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าและสายส่งไฟฟ้าของ 3 การไฟฟ้า รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าก่อสร้างสายส่ง เงินสนับสนุนในการลดการใช้ไฟฟ้าของภาคเอกชนหรือดีอาร์ เป็นต้น และกำลังรอความชัดเจนกระทรวงพลังงานอาจปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ พ.ศ.2558-2579 (พีดีพี2015) ด้วย

ทั้งนี้ การนำโครงการลงทุนของ 3 การไฟฟ้า จะต้องเป็นโครงการที่ผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้วเท่านั้น เพื่อนำมาคำนวณเป็นต้นทุนในค่าไฟฟ้าฐานใหม่ ขณะที่ต้นทุนโครงการสายส่งไฟฟ้ามีแนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งหากมีโรงไฟฟ้าก๊าซหรือใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) เพิ่มขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ 5 ล้านตัน ก็ยิ่งผลักดันให้ค่าไฟฟ้าฐานสูงขึ้น อย่างไรก็ตามการเพิ่มสัดส่วนเชื้อเพลิงถ่านหินตามแผนพีดีพี 2015 ก็จะทำให้ต้นทุนลดลงได้

"ค่าไฟฟ้าฐานจะมีการทบทวนทุก 3-5 ปี ให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า ระบบจำหน่ายไฟฟ้า และการจำหน่ายไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และการกำหนดผลตอบแทนที่เหมาะสมซึ่งกำกับดูแลจากภาครัฐ ขณะเดียวกันต้องรอความชัดเจนว่ากระทรวงพลังงานจะปรับแผนพีดีพี2015หรือไม่ เพราะการนำปัจจัยเหล่านี้มาคำนวณจะต้องมีความแน่นอน ซึ่งหากมีการปรับฐานค่าไฟฟ้าใหม่ โดยนำค่าเอฟทีมารวมอยู่ด้วย ก็จะส่งผลทำให้ค่าไฟฟ้าฐานใหม่ที่จะออกมามีค่าเอฟทีเป็นศูนย์ และจะทำให้ค่าไฟฟ้าฐานอยู่ที่ 3.7556 บาทต่อหน่วย"

นายวีระพล กล่าวอีกว่า ส่วนการนำมาตรการดีอาร์ถาวรมาใช้นั้น จะเริ่มให้ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป หลังที่ปกติจะนำมาใช้ในภาวะฉุกเฉิน เช่น การปิดซ่อมแหล่งก๊าซธรรมชาติของเมียนม ซึ่งถือเป็นมาตรการสมัครใจ โดยช่วงที่แหล่งก๊าซเมียนมาปิดซ่อมเมื่องันที่ 25 มีนาคม-2 เมษายนที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการเพียง 150 เมกะวัตต์ สามารถช่วยลดการใช้น้ำมันเตาและดีเซลผลิตไฟฟ้าเพียง 30 ล้านลิตรเท่านั้น กระทบต่อค่าเอฟที 0.2 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,255 วันที่ 23 - 26 เมษายน พ.ศ. 2560