มาสด้า 3 ไมเนอร์เชนจ์

25 เม.ย. 2560 | 11:00 น.
หลังทำตลาดมาประมาณ 3 ปี “มาสด้า3”ได้ฤกษ์ไมเนอร์เชนจ์ หวังกระตุ้นความสดใหม่ พร้อมเพิ่มพลังในการสื่อสาร-ประชาสัมพันธ์ให้กระปรี้กระเปร่า

นอกจากรูปลักษณ์ภายนอก-ภายในที่ปรับแต่งพอเป็นพิธี มาสด้ายังเพิ่มระบบ G - VECTORING CONTROL (GVC) เพื่อรักษาสมรรถนะการขับขี่ให้สมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะการทรงตัวและการควบคุม

MP37-3255-3 ขณะเดียวกันยังเพิ่มรุ่นย่อย 2.0SP ในรุ่นตัวถังซีดานที่อัดออปชันมาเต็ม โดยราคาขายมาสด้า3 ตัวถังแฮตช์แบ็กและซีดาน เท่ากันในทุกรุ่นย่อยครับ ซึ่งรุ่น E ราคา 8.47 แสนบาท รุ่น C 9.28 แสนบาท รุ่น S 9.88 แสนบาท และ SP 1.119 ล้านบาท

สำหรับระบบ GVC หลักการทำงานคือใช้สมองกลเข้ามาควบคุมแรงบิดของเครื่องยนต์ ส่งผลถึงการถ่ายเทน้ำหนักด้านหน้า-หลัง หวังให้คนขับ-ผู้โดยสารรู้สึกถึงแรงดึงแรงเหวี่ยงน้อยที่สุด ตลอดจนควบคุมรถได้ง่ายโดยเฉพาะเวลาเข้า-ออกโค้ง กล่าวคือยังรักษาเสถียรภาพการทรงตัวให้หนึบแน่นมั่นใจ(ร่วมกับระบบความปลอดภัยตัวอื่นๆ) แต่สามารถลดความเครียดในการควบคุมพวงมาลัย เดินคันเร่ง ลดอาการเวียนหัวหรือเมื่อยล้า ซึ่งเป็นหลักการใหม่ของมาสด้า ที่พยายามรักษาความสนุกสนานของสมรรถนะ พร้อมๆขยับไปสู่ความนุ่มสบายในการขับขี่

MP37-3255-5 ประเด็นนี้ไปถามคนใช้มาสด้า 3 หรือ มาสด้า 2 รุ่น เจเนอเรชันแรกๆได้เลย

ในภาพรวมผมว่า มาสด้า3 พยายามทำรถให้ประนีประนอมกับสภาพถนน และลดความดิบกระด้าง อย่างพวงมาลัยก็น้ำหนักเบาลงเมื่อเทียบกับโฉมก่อน และไม่หนักหน่วงกว่าคู่แข่งอย่าง อัลติส และซีวิค แน่นอน เช่นเดียวกับการควบคุมที่สั่งการง่าย เลี้ยวซ้าย-ขวาแม่นยำ คล่องตัวเมื่อขับขี่ในเมือง วิ่งทางไกลใช้ความเร็วสูงให้ความมั่นคง พร้อมช่วงล่างที่ออกแบบเชิงโครงสร้างให้มีความหนึบแน่น สอดคล้องกับลักษณะโฉบเฉี่ยวลู่ลมของตัวถัง

MP37-3255-4 การออกแบบตามแนวคิด“โคโดะ” รถจอดอยู่เฉยๆยังเหมือนจะพุ่งทะยาน ยิ่งได้โอกาสออกไปโลดแล่นแล้ว พละกำลังจากเครื่องยนต์สกายแอคทีฟ จี 2.0 ลิตร 165 แรงม้า ตอบสนองได้ดีในทุกย่านความเร็ว

บล็อกเบนซิน 4 สูบ 2.0 ลิตร ไดเรกอินเจกชันนะครับ อารมณ์ตรงไปตรงมาและอัตราเร่งเนียนแบบสุภาพ ไม่กระโชกโฮกฮากเหมือนพวกเครื่องยนต์ขนาดเล็กติดเทอร์โบ(ที่มีการปล่อยไอเสียต่ำและประหยัดน้ำมันเป็นจุดเด่น)

ขณะเดียวกันผมยังชอบการทำงานของเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีดที่ส่งกำลังลงสู่ล้อหน้า ช่วยให้บุคลิกการขับขี่เป็นธรรมชาติทั้งช่วงชิฟท์อัพและชิฟท์ดาวน์

MP37-3255-7 ส่วนอัตราบริโภคน้ำมันเฉลี่ยๆ ผมเห็นตัวเลขประมาณ 12-13 ลิตร ขณะที่มาสด้าเคลมเอาไว้สวยๆ 15.6 กม./ลิตร
สำหรับมาสด้า3 ทุกรุ่นย่อยมาพร้อมระบบความปลอดภัยมาตรฐานคือ ระบบเบรก ABS,ระบบกระจายแรงเบรกEBD, ถุงลงนิรภัยคู่หน้า ด้านข้าง และม่านถุงลมนิรภัย,ระบบช่วยควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว DSC,ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HLA และระบบช่วยป้องกันรถเลื่อนไถล TCS

MP37-3255-6 ขณะที่รุ่นท็อป 2.0 SP จะเพิ่มระบบขั้นเทพมาอีก 10 รายการ ยกตัวอย่างเช่น ระบบไฟหน้า LED ปรับการทำงานของไฟสูง-ต่ำอัตโนมัติแบบแยกอิสระซ้าย-ขวา,ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติพร้อมปรับระยะห่างจากรถคันหน้า,ระบบเตือนการชนด้านหน้าและช่วยเบรกอัตโนมัติ,ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางวิ่ง และระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน

MP37-3255-2 รวบรัดตัดความ...คนชอบมาสด้า3 เป็นทุนอยู่แล้ว ไม่น่าจะนิยมโตโยต้า อัลติส ขณะที่ซีวิค โฉม ใหม่ ทำออกมาได้ดี หากวัดกันที่ตัวท็อปราคาล้านต้นๆ มาสด้า3 จัดเต็มออปชันมากกว่า พร้อมช่วงล่างและการควบคุมเนียนนุ่ม ต่างจากซีวิคที่ขยับขึ้นไปทางสปอร์ต ส่วนขุมพลัง 2.0 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด เทียบกับ 1.5 ลิตรเทอร์โบ เกียร์ซีวีที เป็นสองบุคลิกที่แตกต่าง ส่วนตัวผมชอบสมรรถนะของขุมพลังชุดแรก แต่บล็อกหลังของผู้มาใหม่มีโอกาสกินน้ำมันน้อยกว่าในสภาพการขับขี่เดียวกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,255 วันที่ 23 - 26 เมษายน พ.ศ. 2560