ชำแหละตลาดนอก เป้าท้าทายพาณิชย์ดันการส่งออกโต 5%

24 เม.ย. 2560 | 07:00 น.
จากที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายและกำหนดเป้าหมายให้กระทรวงพาณิชย์ผลักดันการส่งออกของไทยในปีนี้ให้ขยายตัวที่ 5% ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทั้งในและนอกประเทศที่ยังมีอยู่มาก ทั้งเรื่องค่าเงิน นโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์เมืองในยูโรโซน สถานการณ์สหรัฐฯ-เกาหลีเหนือ เป็นต้น

อย่างไรก็ดีการจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้อย่างไรนั้น "ฐานเศรษฐกิจ"สัมภาษณ์ "สมเด็จ สุสมบูรณ์" รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(รับมอบหมายให้สัมภาษณ์จากอธิบดี) หน่วยงานหลักในการผลักดันการส่งออกของประเทศดังรายละเอียด

 ลุยเพิ่มตัวแทนการค้า
"สมเด็จ" กล่าวว่า ในปีนี้กรมได้เสริมเขี้ยวเล็บ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการไทยในการบุกตลาดต่างประเทศ โดยกรมมีตัวแทนการค้าเพื่อทำหน้าที่ด้านการตลาดในประเทศหรือพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญที่กรมไม่มีทูตพาณิชย์ประจำการอยู่ 6 แห่ง ได้แก่ ฮิโรชิมา(ญี่ปุ่น) เสียมราฐ(กัมพูชา) หนิงเซียะ(จีน) กัลกัตตา(อินเดีย) คาซัคสถาน และวลาดิวอสต็อก(รัสเซีย) และมีแผนจะขยายไปที่ การาจี (ปากีสถาน) และกรุงดับลิน (ไอร์แลนด์)

"กรมยังได้ดึงภาคเอกชนรายใหญ่มาที่เป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดในแต่ละภูมิภาคในการผลักดันการส่งออกสินค้าและบริการของไทย เพื่อผลักดันการส่งออกไปยังตลาดศักยภาพใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น อาเซียน และจีน ควบคู่ไปกับการรักษาตลาดหลักเดิมอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป(อียู)"

 ทิศทางตลาดหลักสดใส
สำหรับในปีนี้กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกไปยังตลาดต่างๆ ที่สำคัญคือสหรัฐฯเป้าหมายขยายตัว 3.2% ญี่ปุ่น 4% อียู 3% อาเซียน(9) 5% จีน 4% รัสเซียและซีไอเอส 12.5% ตะวันออกกลาง 2% และทวีปแอฟริกา 2.5% เป็นต้น

"ตลาดส่งออกหลัก ๆ ของไทยอย่างสหรัฐฯ อียู ญี่ปุ่น จีน อาเซียน เวลานี้เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น เช่น เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญกับชาวอเมริกันเป็นอันดับแรกในทุกเรื่อง ทำให้เริ่มได้ความเชื่อมั่นจากภาคเอกชนและผู้บริโภคเพิ่มขึ้น"

  ยูโรโซน-ญี่ปุ่นฟื้น
ในขณะที่เศรษฐกิจในฝั่งตลาดยูโรโซนยังคงเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่อาจชะลอตัวเล็กน้อยผลจากการถอนตัวออกจากอียูของอังกฤษ ความเสี่ยงทางด้านเสถียรภาพทางการเมืองในหลายประเทศหลักอย่างเยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และอิตาลี ที่จะมีการเลือกตั้งผู้นำใหม่ ซึ่งนโยบายต่างๆ อาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน อย่างไรก็ดีทางกรมได้ตั้งเป้าการส่งออกไทยไปอียูในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 3%

"ส่วนตลาดญี่ปุ่นปีนี้ที่ตั้งเป้าขยายตัว 4% จากการขยายตัวของเศรษฐกิจที่จะดีขึ้นตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การเลื่อนปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จาก 8 %เป็น 10 % จากเดิมจะมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2560 เป็นเดือนตุลาคม 2562 ประกอบกับประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2563 จะส่งผลให้การใช้จ่ายของภาครัฐ และการลงทุนของภาคเอกชนของญี่ปุ่นขยายตัวได้"

 จับตาจีน-อาเซียน
สำหรับตลาดจีนอีกหนึ่งตลาดสำคัญ มองว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปท่ามกลางการปฏิรูปเศรษฐกิจซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจจีน แม้ว่าการลงทุนและการส่งออกของจีนจะชะลอตัว แต่รัฐบาลจีนเองพยายามสร้างศักยภาพการบริโภคในพื้นที่ชนบท และปัจจุบันจีนได้สร้างฐานอี-คอมเมิร์ซกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนทั้งผู้ซื้อและผู้ขายที่ห่างไกลศูนย์กลางเศรษฐกิจ สามารถเข้าถึงการซื้อ-ขายสินค้าได้ทางระบบออนไลน์

"ขณะที่ตลาดอาเซียนซึ่งเป็นมีสัดส่วนต่อการส่งออกไทยมากสุด(ปี 59 สัดส่วน25%)ยังคงเป็นตลาดที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดแต่ทิศทางยังเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV(กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) นกลุ่มนี้น่าจะสร้างโอกาสใหม่ ๆ แก่ผู้ส่งออกไทย โดยกรมตั้งเป้าส่งออกตลาดอาเซียนไว้ที่5%และตลาด CLMV ที่ 6.4%"

 ดันค้าไทยสู่ยุคใหม่
กรมยังได้เร่งผลักดันให้ผู้ประกอบการให้เข้าสู่ตลาดการค้าออนไลน์ยุคใหม่ ผ่านการจัดตั้งสถาบัน New Economy Academy (NEA) เพื่อเชื่อมโยงthaitrade.com เข้ากับรูปแบบการค้าออนไลน์ใน ระดับโลก เช่น อเมซอน ,อาลีบาบา,ทีมอลล์ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากการอีเว้นท์ระดับโลกในการส่งเสริมผลักดันสินค้าธุรกิจบริการไทยในตลาดใหม่ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสร้างมูลค่าให้กับสินค้าใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมตามแนวนโยบายไทยแลนด์4.0 ซึ่งจะช่วยสร้างแบรนด์ไทยให้เข้มแข็งเป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาคและระดับโลก

“ล่าสุดจะนำคณะผู้แทนการค้าไปเจรจาการค้า ณ เมืองอัสตานา และอัลมาตี ประเทศคาซัคสถาน ช่วงวันที่ 26-30มิถุนายนนี้ จัดคณะนักธุรกิจเยือนตลาด V4 ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนภาคเหนือ อย่าง เช็ก,ฮังการี, สโลวาเกียโปแลนด์ ช่วงมีนาคม-มิถุนายน และอิตาลี,เยอรมนี, เดนมาร์ก, สวีเดน ช่วง28 พฤษภาคม- 3 มิถุนายน”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,255 วันที่ 23 - 26 เมษายน พ.ศ. 2560