ทางออกนอกตำรา : “มันนี่เกม” ของ “เจ้าสัวเจริญ”

19 เม.ย. 2560 | 07:26 น.
ทางออกนอกตำรา 
โดย : บากบั่น บุญเลิศ 

“มันนี่เกม” ของ"เจ้าสัวเจริญ"

กลายเป็นประเด็นที่เรียกเสียงฮือฮากันในตลาดทุนของไทยมากที่สุดในขณะนี้ คือการที่ผู้บริหารบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในกลุ่ม TCC Group ของ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี แจ้งความประสงค์ไปยังบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTAM) เพื่อขอซื้อทรัพย์สินทั้งหมดของกองทุนพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ 3 กองทุน ที่ได้ขายให้กับนักลงทุนไปก่อนหน้าออกมาทั้งหมด จากปัจจุบันที่กลุ่มคุณเจริญถืออยู่ 33-35%
อันนี้ ไม่นับรวมถึงการใช้ตัวแทนผู้ถือหน่วย (นอมินี) ที่อยู่ในกองทุนเหล่านี้นะครับ…ผมว่าถ้านับรวมนอมินีด้วยกลุ่มคุณเจริญน่าจะถือหน่วยลงทุนตกประมาณ 50-65%

3 กองทุนที่บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ “วัลลภา” และสามี คือ “โสมพัฒน์ ไตรโสรัส” ซึ่งเป็นทายาทของเจ้าสัวเจริญ ขอทำการซื้อคืน ประกอบด้วย

1.กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าไทยคอมเมอร์เชียลอินเวสเม้นต์ (TCIF) ทรัพย์สินของกองทุน ประกอบด้วย อินเตอร์ลิงค์ ทาวเวอร์, อาคารแอทธินี, อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์, ซีดับเบิ้ลยู ทาวเวอร์, อาคาร 208 โดยบริษัท ซี.ไอ.ที.แอพเพรซัล จำกัด มูลค่าทรัพย์สินรวม 28,382 ล้านบาท

2.กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าไทยโฮเทลอินเวสเมนท์ (THIF) ทรัพย์สินของกองทุนประกอบด้วย พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า งามวงศ์วาน, พันธ์ทิพย์ พลาซ่า เชียงใหม่, พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า บางกะปิ, พันธ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ, เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์, ตะวันนา และ โอ.พี.เพลส ราคาประเมินรวมจากบริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด อยู่ที่ 20,767 ล้านบาท

3.กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าไทยรีเทล อินเวสเมนท์ (TRIF) ทรัพย์สินประกอบด้วย ที่ดิน อาคาร เฟอร์นิเจอร์และอื่น ๆ ของโรงแรม 12 แห่ง โรงแรมเชอราตันสมุย รีสอร์ท, โรงแรมอิมพีเรียล โบ๊ทเฮาส์ บีช รีสอร์ท, โรงแรมแบงก์ค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนปาร์ค, โรงแรมเดอะเมโทรโพล ภูเก็ต, โรงแรมเลอ เมอริเดียน กรุงเทพฯ, โรงแรมบันยันทรี สมุย, โรงแรมวนาเบลล์ เกาะสมุย, โรงแรมฮิลตัน สุขุมวิท, โรงแรมดับเบิ้ลทรี ฮิลตัน สุขุมวิท, โรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงใหม่, โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพฯ และโรงแรมโอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ โดยบริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินมูลค่าทรัพย์สินรวมไว้ 37,612 ล้านบาท

แต่ราคาที่กลุ่มคุณเจริญเสนอซื้อคืนนั้นแตกต่างกันไปดังนี้
กองทุน TCIF กลุ่มเจ้าสัวเจริญขอซื้อคืนในราคา 29,000 ล้านบาท

กองทุน THIF กลุ่มเจ้าสัวเจริญขอซื้อทรัพย์สินคืนในราคา 30,000 ล้านบาท

กองทุน TRIF กลุ่มเจ้าสัวเจริญขอซื้อในราคา 21,000 ล้านบาท

รวมเม็ดเงินทั้งหมดในการขอซื้อคืนตกประมาณ 8 หมื่นล้านบาท

ผมได้พิจารณาในรายละเอียดของข้อเสนอการรับซื้อกับราคาหน่วยลงทุนที่ขายอยู่ในตลาดแล้ว พบความผิดปกติ ที่นักลงทุนควรพิจารณา กล่าวคือ กองทุน TRIF ราคาเสนอซื้อต่อ 1 หน่วยลงทุนเท่ากับ 13.22 บาท แต่ราคาซื้อขายกองทุนในตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15.38 บาทต่อหน่วย

กองทุน TCIF กลุ่มเจ้าสัวเจริญเสนอซื้อต่อ 1 หน่วยลงทุนเท่ากับ 13.10 บาท แต่ราคาที่ซื้อขายหน่วยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 14.13 บาทต่อหน่วย

อย่างไรก็ตาม ระดับราคาที่เสนอมานี้ น่าจะมีการเจรจากัน หรือต้องหาข้อสรุปในการประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนในวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 เพื่อพิจารณาอนุมัติการขายทรัพย์สินและโอนสิทธิ์การเช่าทั้งหมดของกองทุนรวม และพิจารณาอนุมัติการเลิกกองทุนและเพิกถอนหน่วยลงทุนออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งทาง บลจ.กรุงไทยฯ ต้องดำเนินการตามขั้นตอน

ถามว่า กลุ่มเจ้าสัวเจริญมีสิทธิ์ซื้อคืนหรือไม่ คำตอบคือ ตามประกาศของ ก.ล.ต.นั้น กลุ่มเจ้าของเดิมมีสิทธิ์เต็ม 100% ที่จะขอซื้อคืน แต่ต้องขอมติอนุมัติจากผู้ถือหน่วยตามหลักเกณฑ์ โดยผู้ทำคำเสนอซื้อต้องได้เสียงโหวตเกิน 50% ของหน่วยลงทุนที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด หรือ 3 ใน 4 ของผู้เข้าร่วมประชุม

ถามว่า ทำไมต้องเร่งซื้อคืน และจะกระทบกับกองทุนรวมอื่นๆหรือไม่ อันนี้ต่างหากที่ต้องวิเคราะห์และประเมินกัน

ผมสืบเสาะข้อมูลจากผู้รู้และบรรดาผู้บริหารกองทุนแล้ว ได้ข้อสรุปชัดเจนว่า งานนี้มีเรื่อง “ภาษี”ที่ต้องจ่ายให้กับรัฐบาล เข้ามาเกี่ยวข้องแน่นอน 100%

อีกประเด็นหนึ่ง อันนี้น่าจะสำคัญมากที่ทำให้ “วัลลภา-โสมพัฒน์” ที่เป็นอดีตนักการเงิน ปรับแนวทางการระดมทุน คือ มูลค่าของทรัพย์สินจริง กับการเคลื่อนไหวราคาของหน่วยลงทุนไม่สัมพันธ์กัน

ถ้าพิจารณาทรัพย์สินที่มีการนำมามัดรวมกันเพื่อจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์กับราคาหน่วยลงทุน เราจะพบว่าความเคลื่อนไหวมีน้อยมาก นั่นหมายถึงว่า มูลค่าหน่วยลงทุนไม่ขยับ หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเจ้าของ แต่หากมีการนำเงินสดที่ปัจจุบันกลุ่มเจ้าสัวเจริญมีอยู่ในมือในแต่ละวัน แต่ละเดือน มาซื้อคืนแล้วสร้างมูลค่าขึ้นมาใหม่ ได้หลากหลายขึ้น หรืออาจจะนำมาจัดสรรใหม่ในรูปของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ซึ่งสามารถเพิ่มเงินทุนหรือกู้เงินเพิ่มเติมมาขยายงานได้อีก
ทางออกในรูปแบบการจัดการทรัพย์สินก้อนมหึมาของจ้าสัวเจริญ สามารถออกดอกเห็นผลมากกว่า

โปรดจับตา Money Game เกมเล่นกับเงิน และการจัดการทรัพย์สินของกลุ่มเจ้าสัวเจริญและทายาทกันให้ดี

รับรองว่า ทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ 8 หมื่นล้านบาทเศษ แล้วนำมาจัดระบบใหม่จะสร้างความฮือฮา ไม่แพ้การลงทุน 1.2 แสนล้านบาท ในโครงการ One Bangkok ย่านพระราม 4 แน่นอน

เชื่อมือเจ้าสัวเจริญได้ครับ…

คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา /หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3254 ระหว่างวันที่ 20-22 เม.ย.2560