ท่าเรือแหลมฉบังเฟส3 ประหยัดงบรัฐ เปิดทางเอกชนร่วมลงทุน

16 เม.ย. 2560 | 04:00 น.
โครงการดังกล่าวแม้ว่าจะมีการประชุมร่วมกับภาคเอกชนเพื่อหารือเกี่ยวกับการลงทุนท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มาแล้วหลายครั้งโดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พอจะสรุปแนวทางการหารือเรื่องการเร่งรัดโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่อยู่ในความรับผิดชอบของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ที่มีแผนจะเสนอโครงการดังกล่าวให้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ดพีพีพี) พิจารณายังอยู่ในช่วงการติดตามความคืบหน้า

สำหรับความสนใจเรื่องการลงทุนของภาคเอกชนนั้นพบว่ามีเอกชนหลายรายได้เสนอขอลงทุนโครงการนี้ที่คิดเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 8.3 หมื่นล้านบาท โดยได้เสนอเงื่อนไข 2-3 ข้อแลกกับการเข้ามาลงทุน เช่น ขอสัมปทานในการบริการท่าเรือยาวขึ้นเป็น 60 ปี ฯลฯ ซึ่งรองนายกฯ รับข้อเสนอเอกชนไว้และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาข้อกฎหมายว่าจะให้เอกชนทำได้หรือไม่

“โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3” ในช่วงที่ผ่านมากทท. ได้เร่งจัดทำผลการศึกษาโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เสร็จเรียบร้อยแล้ว รูปแบบโครงการดังกล่าวจะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน แบ่งเป็นภาครัฐลงทุน 3.7 หมื่นล้านบาท และเอกชนลงทุน 4.6 หมื่นล้านบาท ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี และหากทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงต้นปี 2561

ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 1 และ 2 มีศักยภาพในการรองรับการขนส่งสินค้าได้ 11 ล้านทีอียู/ปี ขณะนี้รองรับการขนส่งสินค้าได้เพิ่มอีก 3 ล้านทีอียู แต่หากลงทุนท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 จะเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้าได้อีก 7 ล้านทีอียู และรองรับการจอดเรือขนส่งรถยนต์หรือเรือโรโร่ (RoRo) ได้อีกด้วย ปัจจุบันไทยมีตัวเลขการส่งออกรถยนต์ผ่านทางเรือเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่เนื่องจากการพัฒนาท่าเรือเฟสที่ 3 จะยากกว่าเฟสอื่นเพราะต้องมีการขุดร่องน้ำลึก 18-20 เมตร มีการก่อสร้างเกาะป้องกันคลื่น มีท่าขนส่งรถโดยเฉพาะจึงใช้เงินลงทุนสูงและจะใช้เวลาก่อสร้าง 3-5 ปี

ความสำคัญของการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 นั้นร.อ.สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) กล่าวว่าจัดเป็นโครงการที่สำคัญของประเทศไทยเพราะหากไม่ดำเนินการตั้งแต่วันนี้ก็จะเสียโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศเพราะแหลมฉบังอยู่ในที่ตั้งที่ดีมากในอาเซียน สามารถรับการขนส่งสินค้าจากเพื่อนบ้านได้ ตอนนี้คู่แข่งของแหลมฉบังคือท่าเรือเวียดนามตะวันออก ซึ่งยังพัฒนาไม่ดี ทำให้สินค้าจากทั้งกัมพูชา ลาว เวียดนาม ยังมีความจำเป็นต้องมาใช้ท่าเรือแหลมฉบัง ประการสำคัญนายสมคิดยังได้ให้นโยบายกับผู้ที่เกี่ยวข้องชัดเจนว่าท่าเรือแหลมฉบังจะต้องเป็นท่าเรือที่ไม่ได้ใช้บริการเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นท่าเรือที่เรือขนาดใหญ่เข้ามาจอดมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีเพียงสิงคโปร์ที่รับได้ ล่าสุดอยู่ระหว่างการปรับปรุงเอกสารประกวดราคากรณีการร่วมทุนพร้อมแหล่งเงินทุน คาดว่าจะเร่งเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ในปลายปีนี้

ดังนั้นในเมื่อนโยบายรัฐบาลชัดเจนและเอกชนแสดงความสนใจด้านการลงทุนจึงคาดว่าเป็นแนวโน้มที่ดีที่มีความเป็นไปได้อย่างมากที่กทท. จะเร่งดำเนินการหากเรื่องดังกล่าวเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก่อนเร่งเสนอครม.อนุมัติให้ดำเนินการ นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะได้เห็นงานก่อสร้างเกิดขึ้นในรัฐบาลยุคคสช. บริหารประเทศกับเมกะโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่อีกหนึ่งโครงการ