เตรียมความพร้อมตอบโจทย์คน GEN Z

16 เม.ย. 2560 | 01:00 น.
ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลในปัจจุบัน ต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญของธุรกิจ องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการประยุกต์ใช้สู่ภาคธุรกิจ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องปลูกฝังให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นบุคลากรสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ ขับเคลื่อนประเทศ เด็กยุคใหม่ จึงจำเป็นต้องมีทักษะการสื่อสารทางภาษาอังกฤษ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ควบคู่ไปกับการมีพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และด้านการบริหารธุรกิจ เพื่อผลักดันให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนในโลกยุคใหม่

เด็กวิทย์สามารถเป็นผู้ประกอบการได้ โดยอาศัยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการตลาดเข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจ
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้พัฒนา ‘หลักสูตรอินเตอร์ สาขาวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ (iSC)’ โดยที่แบ่งเป็น 3 สาขาวิชาหลัก คือ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร (Food Science and Technology) สาขาเคมีประยุกต์ (Applied Chemistry) และสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) โดยทั้ง 3 สาขาวิชา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จะได้เลือกศึกษา หลังจากที่ได้รับการปูพื้นฐานอย่างเข้มข้นทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และความรู้ด้านการบริหารจัดการในปีที่ 1 และได้ศึกษาถึงภาพรวมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปีที่ 2 แล้ว

สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร (Food Science and Technology) สาขาที่ตอบโจทย์ผู้ที่สนใจในอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร และต้องการใช้ความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ ประยุกต์ในการพัฒนาอาหาร ต้องการเป็นผู้ประกอบการอาหารยุคใหม่ นักพัฒนา-แปรรูปอาหารเพื่อสุขภาพ หรือนักควบคุมคุณภาพอาหาร สายงานที่เกี่ยวข้องได้ เช่น โรงงานอาหาร ในส่วนงานประกันคุณภาพ (QA) งานควบคุมคุณภาพ (QC) งานวิจัยและพัฒนา (R&D) และฝ่ายการผลิต ฯลฯ ซึ่งมีความต้องการเป็นจำนวนกว่า 1.1 ล้านคน (ข้อมูล : กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ปี 2557)

สาขาเคมีประยุกต์ (Applied Chemistry) สาขาที่นำเอาความรู้ด้านเคมี มาต่อยอดเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เชิงพาณิชย์ อาทิ เครื่องสำอาง พลาสติก ยาง ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของทุกคน โดยผู้เรียนในสาขานี้จะได้ศึกษาโครงสร้างทางเคมีของสารแต่ละชนิด ทดลองใช้ ทดลองผสมสารเคมีต่างชนิดให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมต่อยอดในธุรกิจหรือโรงงานอุตสาหกรรม เช่น การคิดค้นเครื่องสำอางที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพผิว การพัฒนาวัสดุให้มีความคงทน ทนความร้อนได้สูง หรือมีความยืดหยุ่นสูง ฯลฯ รวมไปถึงการพัฒนาเชื้อเพลิงให้มีคุณภาพมากขึ้น ด้วยการลดมลพิษในขั้นตอนการเผาไหม้ เป็นต้น

และสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) เป็นการนำความรู้มาปรับใช้ร่วมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น การตัดต่อพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตเพื่อเพิ่มคุณภาพ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเพื่อทดลองการขยายพันธุ์พืชชนิดใหม่ๆ หรือการศึกษาเกี่ยวกับจุลชีวะเพื่อพัฒนายาที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้เรียนสามารถต่อยอดความรู้สู่สายงานที่เกี่ยวข้องได้ เช่น นักประกันคุณภาพ (QA) นักควบคุมคุณภาพ (QC) นักปรับปรุงพันธุ์พืช เพื่อค้นหาพันธุ์พืชชนิดใหม่ที่ดีกว่าสายพันธุ์เดิม นักพัฒนายาสูตรใหม่ๆ หรืออาจารย์ชีววิทยา ฯลฯ

การสร้างบุคลากรให้สนองตอบต่อความต้องการของตลาดในโลกยุคใหม่ เป็นสิ่งที่สังคมกำลังต้องการ แต่การเรียนรู้จากตำราเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องลงมือปฏิบัติจริงด้วย หลักสูตรนี้ จึงจัดให้นักศึกษา ได้ปฏิบัติจริงในห้องแล็บ และยังได้ลงพื้นที่เพื่อฝึกการทำงานจริงและเรียนรู้จริงกับกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เช่น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เครือเบทาโกร และ บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด เป็นการเตรียมความพร้อมทักษะการนำเสนอ การวางแผนธุรกิจ เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีประสิทธิภาพสู่สายอาชีพต่างๆ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,252 วันที่ 13 - 15 เมษายน พ.ศ. 2560