ต่างชาติกำไรบาท4% คลัง-ธปท.เกาะติด ภาคเกษตรสู้ค่าเงิน

06 เม.ย. 2560 | 06:00 น.
กรุงไทยเผยต่างชาติกำไร“บาทแครี่เทรด”ตั้งแต่ต้นปีกว่า 4% ขณะที่ค่าเงินบาทเริ่มนิ่งหลังแบงก์ชาติออกมาตรการสกัดชุดแรก คลัง-ธปท.เกาะติดใกล้ชิด แบงก์กสิกรไทยเตือนภาคแปรรูปสินค้าเกษตรส่งออกรับมือเงินบาทแข็งกระทบกำไร

เงินบาทเคลื่อนไหวเมื่อวานนี้(4 เม.ย.) อยู่ที่34.34 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าที่สุดในรอบ 20 เดือน และตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่าประมาณ 4 % เนื่องจากการไหลเข้าของเงินลงทุนต่างประเทศ ที่นำเงินมาพักที่พันธบัตรระยะสั้น 3-6 เดือน ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ต้องออกมาตรการสกัดการเก็งกำไร ด้วยการลดวงเงินประมูลพันธัตรรายสัปดาห์จำนวน 1 หมื่นล้านบาท เหลือ 4 หมื่นล้านบาท พร้อมระบุว่าพร้อมออกมาตรการเพิ่มเติมหากยังพบการเก็งกำไร

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวถึงสัญญาณการเข้ามาเก็งกำไรเงินบาทของกองทุนต่างประเทศว่า เทียบกับในช่วงปีก่อนถือว่าการเก็งกำไรบนค่าเงินไม่มาก เนื่องจากการเก็งกำไรเยอะๆ จะมาจากที่ต่างชาติเข้ามาพักเงินในพันธบัตรระยะสั้นในสัดส่วนที่มากกว่าระยะยาว แต่ปีนี้เทียบกับปีก่อนๆ ถือว่ามีสัดส่วนการซื้อพันธบัตรระยะยาวมาก หมายความว่านักลงทุนต่างชาติกระจายเงินลงทุนมาที่ไทยจากแนวโน้มใหญ่เรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

ปีนี้มีเงินไหลเข้ามาจำนวน 8.9 หมื่นล้านบาท เป็นการลงทุนพันธบัตรระยะสั้นอายุต่ำกว่า 1 ปี เพียง 40% หรือประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท และเป็นระยะยาว 5.1หมื่นล้านบาท

ส่วนโอกาสเก็งกำไรนักลงทุนที่ลงทุนทั่วโลกจะมีกำไร 2 ส่วนคืออัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย ตั้งแต่ต้นปีมีการกู้ยืมเงินที่ดอกเบี้ยต่ำไปลงทุนในสกุลเงินอื่นหรือสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนสูง(Carry trade)ที่ได้กำไรมากสุดในเอเชีย คือ กู้ดอลลาร์แล้วไปลงทุนในวอนเกาหลี ได้ผลตอบแทนถึง 8% มาจากอัตราแลกเปลี่ยน 8.28% อัตราดอกเบี้ยเกาหลี 0.23% โดยมีค่าใช้จ่ายเป็นดอกเบี้ยดอลลาร์เพียง 0.33%

สำหรับเงินบาทต่างชาติมีกำไร 4.02% จากดอกเบี้ย 0.40% และจากการCarry Trade ถึง 4% ทั้งนี้แนวโน้มCarry Tradeน่าจะมีต่อไปทั้งปีโดยเฉพาะสกุลเงินที่ยังไม่ค่อยผันผวน

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า เงินไหลเข้าระยะสั้นอาจไม่ใช่เป็นเงินร้อนทั้งหมดก็ได้ เนื่องจาก2-3ปีที่ผ่านมาไทยเกินดุลการค้าจากที่การลงทุนภาคเอกชนยังคงชะลอตัวและไม่ค่อยมีการสั่งนำเข้าเครื่องจักร จึงทำให้มียอดเงินเกินดุลของไทยเติมเข้าสู่ระบบเดือนละ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนอาจจะดูเหมือนว่ามีเงินจากนอกประเทศไหลเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก

ส่วนการลดวงเงินพันธบัตรระยะสั้นเพื่อแก้ไขปัญหาค่าเงินนั้น ถือเป็นเพียงมาตรการที่ธปท. ได้ดำเนินการ ซึ่งยังอยู่ในวิสัยที่ธปท.ควบคุมได้ แต่ยังต้องมีอีกหลายๆอย่างออกมาใช้แก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ด้วย

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. ให้ความเห็นเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นของ ธปท. ว่า การปรับลดวงเงินดังกล่าวเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยลดแรงจูงใจของนักลงทุนต่างชาติที่จะนำเงินเข้ามาพักในระยะสั้น แต่ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผล

อีกทั้งการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะปัจจัยในต่างประเทศ อย่างไรก็ตามธปท.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และได้เตรียมแนวทางอื่นรองรับไว้ด้วย โดยจะประเมินสถานการณ์ก่อนที่จะดำเนินการเพิ่มเติมตามความเหมาะสม

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังผันผวนอาจกระทบกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรหรือเกษตรแปรรูปซึ่งอาจกระทบโอกาสทำกำไรมากกว่าสินค้าประเภทอุตสาหกรรมแต่ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการกระจายสินค้าไปในตลาดไหนหรือป้องกันความเสี่ยงเพียงพอจะรับผลกระทบได้ ยกเว้นในรายที่ไม่ทำอะไรเลยอาจต้องเหนื่อยหน่อย

“ในแง่ผลกระทบกำไรถ้าเงินบาทแข็งค่าเฉพาะมีนาคมเดือนเดียวเชื่อว่าเดือนถัดไปผู้ประกอบการจะไม่เดือดร้อน ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ ซึ่งที่ผ่านมาเฉพาะเดือนมีนาคมเงินบาทแข็งค่าจาก 2%เป็น 4%แบงก์ชาติจึงต้องออกมาตรการ เป็นการเริ่มจากมาตรการเบาเพื่อปรามก่อนซึ่งเข้าใจว่าหลังจากนี้อยู่ระหว่างประเมินผลจากมาตรการ”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,250 วันที่ 6 - 8 เมษายน พ.ศ. 2560