กระทรวงแรงงาน ปั้นคนป้อนโลจิสติกส์ 1.7 แสนคนภายใน 5 ปี

29 มี.ค. 2560 | 11:02 น.
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน ได้นำเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ปี พ.ศ. 2560-2564 จำนวน 3 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านโลจิสติกส์ให้มีมาตรฐานสู่ความเป็นมืออาชีพ  ยุทธศาสตร์ที่ 2 ปรับระบบบริหารการพัฒนาบุคลากรให้ได้มาตรฐานระดับสากล  ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาเครือข่ายและกลไกความร่วมมือพัฒนาบุคลากรโลจิสติกส์  ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รวมทั้งมีผู้แทนภาคเอกชน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาองค์การนายจ้าง  สภาองค์การลูกจ้างและผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการ และมีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นฝ่ายเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย แนวทาง มาตรการ และการประสานงานเกี่ยวกับการพัฒนาแรงงาน และการฝึกอาชีพของผู้อยู่ในกำลังแรงงาน  เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงทำหน้าที่ในการประสานแผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้สอดคลองตามนโยบายและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้วเมื่อ 27 มี.ค. 60

ll-1 อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และซัพพลายเชนเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศที่มีกำลังแรงงานมากกว่า 2 ล้านคน ซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ ทั้งด้านการขนส่ง การผลิตสินค้าหรือการบริการของประเทศ ตั้งแต่กิจกรรมการวางแผน จัดซื้อ คลังสินค้าและสินค้าคงคลัง การขนส่งทางบก เรือ อากาศ รวมถึงการกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภค ขั้นตอนกระบวนการศุลกากรการนำเข้า-ส่งออก โรงเก็บสินค้าหรือตู้คอนเทนเนอร์ ส่งผลให้เกิดความต้องการกำลังแรงงานที่มีทักษะฝีมือและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านการขนส่ง ตำแหน่งงานที่สำคัญและตลาดแรงงานมีความต้องการ ได้แก่ ผู้ปฏิบัติการขนส่งสินค้า ผู้ขับยานพาหนะขนส่ง รถหัวลาก ผู้ปฏิบัติการคลังสินค้า พนักงานขับรถโฟล์คลิฟต์ ช่างเทคนิคและซ่อมบำรุง ผู้ปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศไอที รวมถึงการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง

ดังนั้น ยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนด้านโลจิสติกส์ มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี จะทำให้เกิดการพัฒนากำลังคนภาคโลจิสติกส์ จำนวน 171,185 คน เป็นการดำเนินงานโดยภาคการศึกษา จำนวน 22,562 คน ภาคการพัฒนากำลังคน จำนวน 148,623 คน สามารถส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะฝีมือและการประกอบอาชีพรองรับภาคขนส่งทางบก เรือ อากาศ และทางราง รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษระหว่างไทย-ประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงการส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดชายแดนของผู้ประกอบการไทยด้วย  นอกจากนั้นแล้ว กพร.ยังมีการจัดตั้งสถาบันฯ เทคโนโลยีชั้นสูง ด้านโลจิสติกส์ และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่สามารถรองรับการพัฒนากำลังแรงงานทั่วประเทศด้วย