ทางออกนอกตำรา : อาลีบาบา มาแน่! ปักธงที่สุวรรณภูมิ

29 มี.ค. 2560 | 09:21 น.
ทางออกนอกตำรา 
โดย : บากบั่น บุญเลิศ

อาลีบาบา มาแน่! ปักธงที่สุวรรณภูมิ

ปฏิบัติการที่ "แจ๊ค หม่า"  เจ้าของธุรกิจยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซจากจีน ตัดสินใจเลือกกรุงกัวลาลัมเปอร์ ในเขต KLIA Aeropolis ซึ่งเป็นโครงการเมืองท่าอากาศยาน ที่รัฐบาลมาเลเซียสร้างขึ้น เป็นศูนย์กระจายสินค้าของภูมิภาคอาเซียน
เสียงอื้ออึง ปรามาสว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หมดท่าในการสร้างฝันปั้นฮับโลจิสติกส์ด้านอีคอมเมิร์ซในเมืองไทยเสียแล้วดังอื้ออึงไปทั้งคุ้งน้ำเจ้าพระยา

เนื่องจากการลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้าในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ถือเป็นการลงทุนครั้งแรกในมาเลเซีย ของอาลีบาบา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ลงทุนในสิงคโปร์เป็นส่วนใหญ่ โดยในปีที่แล้วอาลีบาบาลงทุนซื้อแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ"ลาซาด้า" ของสิงคโปร์ไปในราคา 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 35,000 ล้านบาท และยังซื้อหุ้นบริษัท สิงคโปร์โพสต์ เพิ่มขึ้นจาก 10.2% เป็น 14.4%

นอกจากนี้ อาลีบาบาได้ลงทุนในประเทศไทย ด้วยการซี้อหุ้นของ บริษัท เอสเซนต์มันนี่ ซึ่งเป็นธุรกิจฟินเทค ของกลุ่มซีพีในสัดส่วน 20%

ปฏิบัติการที่ แจ็ค หม่า และ นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรี มาเลเซีย ร่วมกันเปิดตัวโครงการศูนย์กระจายสินค้าของอาลีบาบา ในโครงการเขตปลอดภาษีดิจิตอล เมื่อ 22 มีนาคม 2560 จึงสร้างความตะลึงพรึงเพริศให้กับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และระบบการชำระเงินออนไลน์และธนาคารออนไลน์ของไทยเป็นอย่างยิ่ง

เพราะการที่ลาซาด้ามาเลเซีย ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนสินค้าบนแพลตฟอร์มขึ้นเป็น 30 ล้านชิ้นในสิ้นปี 2560 หรือ 3 เท่า จากเดิมที่มีจำนวน 10-12 ล้านชิ้น ที่ผลักดันให้การเติบโตในปีนี้มีทิศทางเป็นบวก หรือสูงกว่า

นอกจากนี้ ลาซาด้ามาเลเซีย ยังลงนามร่วมกับ"เอสเอ็มอี คอร์ป มาเลเซีย" เพื่อดึงร้านค้า 2.5 หมื่นร้าน  ร่วมเป็นคู่ค้าในช่วงปี 2561 ด้วย

อนาคตของไทยในการเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าของโลกออนไลน์ ที่จะรัฐบาลไทยจั้งเป้าหมายว่าทางอาลีบาลาจะใช้ไทยเป็นจุดหลักทางผ่านเข้าสู่ CLMV ดูเหมือนจะดับสนิท……ในสายตาของหลายๆคน

ภาพตัดมาที่เมืองไทย วันที่ 27 มีนาคม 2560 อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ออกมาชี้แจงข่าวกรณี แจ๊ค หม่า ประธานกรรมการ บริษัท อาลีบาบากรุ๊ป ได้ประกาศแผนจัดตั้งลงทุนศูนย์กลาง อี-คอมเมิร์ซ ในมาเลเซียแทนประเทศไทยว่า ไม่เป็นความจริง เพราะผู้บริหารของอาลีบาบา กรุ๊ป ยังคงยืนยันว่า สนใจที่จะลงทุน พัฒนาศูนย์การค้าทางอิเล็กทรอนิกส์และระบบโลจิสติกส์ของภูมิภาคในอีอีซีอยู่

อุตตม ระบุว่า ในวันที่ 31 มีนาคมนี้ คณะผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มอาลีบาบาและบริษัท ลาซาด้า ได้นัดหมายที่จะเดินทางมาเข้าพบเพื่อหารือถึงความคืบหน้าการลงทุนในอีอีซีให้ชัดเจน รวมถึงแนวทางการสร้างศูนย์อี-คอมเมิร์ซ ปาร์คในไทย เพื่อกระจายสินค้าและบ่มเพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชนให้เข้าถึง การค้าแบบออนไลน์ได้ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขยายตลาดและกระจายสินค้าไปสู่ตลาดโลก

"ยืนยันว่าอาลีบาบายังพร้อมร่วมมือกับไทย และจะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านอี-คอมเมิร์ซ ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยเป็นการพัฒนาศูนย์การค้าทางอิเล็กทรอนิกส์และระบบโลจิสติกส์ของภูมิภาค ซึ่งไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพ รวมทั้งเป็นตลาดที่สำคัญเพื่อเป็นฐานการขยายตลาดในภูมิภาค โครงการนี้ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ซึ่งต้องใช้เวลานานในการดำเนินการซึ่งคาดว่าจะเห็นภาพชัดในปีนี้ ส่วนโครงการลงทุนในมาเลเซียของอาลีบาบา นั้นเป็นโครงการขนาดเล็ก เชื่อมต่อตลาดระหว่างมาเลเซียกับจีนเท่านั้น" อุตตม การันตี

ขณะที่ คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี ออกมาสำทับอีกว่า คณะผู้บริหารจากอาลีบาบาและลาซาด้า จะเข้าพบ รมว.อุตสาหกรรม และตัวเอง เพื่อยื่นข้อเสนอในการลงทุน เช่น การอำนวยความสะดวกเรื่องขั้นตอนกฎหมายศุลกากรที่ช่วยส่งเสริมการนำเข้าและส่งออกสินค้า โดยจะมีความชัดเจนว่าจะเข้าลงทุนพื้นที่ใดในวันที่ 31 มีนาคมนี้ ก่อนนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายอีอีซีชุดใหญ่ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และที่ประชุมครม. พิจารณาเห็นชอบต่อไป

ฝันที่ดับสลายไปในโลกอี-คอมเมิร์ซ เมื่อ 5 วันที่ผ่านมา กลับมาเป็นดวงดาวเจิดจรัสพร่างพรายแสงอีกครา…

ผมควานหาข้อเสนอเบื้องต้นของทางอาลีบาบาที่จะเข้ามาลงทุนในไทย พบว่ามีการเดินทางไปกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อดูทำเลพื้นที่จัดตั้งศูนย์การค้าทางอิเล็กทรอนิกส์และระบบโลจิสติกส์ของภูมิภาคในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา จ.สมุทรปราการ หลายพื้นที่ ก่อนจะมาลงเอยหลังจากได้หารือกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย เพื่อขอใช้พื้นที่ในโซนที่ 37 ประมาณ 150 ไร่เศษ บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ ใกล้ๆกับปั้มน้ำมัน ปตท.

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงในการลงทุนทั้งหมดจะลงเอยได้ ก็ต่อเมื่อไทยจะต้องสรุปให้ชัดว่า จะสนับสนุนการให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษี ของ Free Trade Zone อะไรบ้าง ซึ่งทั้งหมดจะสรุปในเดือนนี้

ถามว่า ทางอาลีบาบาเข้ามาลงทุนไทยจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง…
คำตอบ คือระบบการค้าอีคอมเมิร์ซ ระบบการชำระเงิน การยกระดับตลาดออนไลน์ของประเทศ การใช้ไทยเป็นฐานการบรรจุหีบห่อ การขนส่งทางบก และการขนส่งทางอากาศ

ภาพที่จินตนาการออก ลำพังเพียงแค่อาลีบาบาใช้ลาซาด้าที่เป็นแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์รายใหญ่ที่เปิดให้บริหารในเมืองไทยมา 5 ปี มีผู้เข้าชมเป็นอันดับ 8 ในไทย มีผู้ขาย 15,300 ราย มียอดดาวน์โหลดโมบายแอปพลิเคชั่นเป็นอันดับ 1 มีสินค้าที่มีวางจำหน่าย 4.8 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นจากปี 2558 จำนวน 2.3 ล้านชิ้น โดย 40% เป็นประเภทแฟชั่น ความงาม เสื้อผ้า รองเท้า ขายสมาร์ทโฟนปีละ 1.4-1.5 ล้านเครื่อง

ในแต่ละวัน มีการขนส่งสินค้าไปถึงมือผู้ซื้อกว่า 8.3 แสนกิโลเมตร  จำนวนผู้เข้าชมลาซาด้าเฉลี่ยทั้งปี มีมากกว่าคนเดินในตลาดจตุจักรถึง 50 เท่า

ถ้ามาตั้งศูนย์กระจายสินค้าที่ไทยกระจายไปใน CLMV ปริมาณจะมากกว่านี้อีกกี่ร้อยเท่า…ผมไม่รู้ แต่จินตนาการได้…ว่าจะมีการจ้างงานและการค้าทางอิเลคทรอนิกส์เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดแน่นอน…

ลำพังการลงทุนในมาเลเซีย ประเมินว่ามีการจ้างงาน 5-6 หมื่นคน แต่ใช้พื้นที่น้อยกว่าไทย และตลาดน้อยกว่าใน CLMV เมื่อเป็นเช่นนี้การค้าขายในเมืองไทย ในตลาดอี-คอมเมิร์ซ มากกว่าที่คุณคิด

คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา / หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3248 ระหว่างวันที่ 30 มี.ค.-1 เม.ย.2560