‘เบสท์เวสเทิร์น’ ปักธงแบรนด์โรงแรมในไทยขึ้นเบอร์1เอเชีย

01 เม.ย. 2560 | 09:00 น.
จากประสบการณ์ในการสร้างแบรนด์โรงแรมชั้นนำในระดับมิดสเกลและอีโคโนมีเป็นเวลายาวนานกว่า 70 ปี “เบสท์เวสเทิร์นโฮเทล แอนด์รีสอร์ท” ยังคงเดินหน้ารุกขยายธุรกิจในภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนการเติบโต ทิศทางการดำเนินธุรกิจของเบสท์เวสเทิร์นจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป อ่านจากสัมภาษณ์ นายโอลิเวียร์ แบร์ริแวง ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายปฏิบัติการ ภูมิภาคเอเชีย เบสท์เวสเทิร์น โฮเทลแอนด์รีสอร์ท

 วางเป้าเปิด 18 รร.ใหม่
ปี 2559 นับเป็นปีที่ดีสำหรับเบสท์เวสเทิร์นในภูมิภาคเอเชีย โดยจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะเซ็นสัญญาโรงแรม 14 แห่งนั้น จนถึงสิ้นปีเราสามารถทำได้ถึง 18 แห่ง ซึ่งประมาณ 60% เป็นโครงการในประเทศไทย ส่วนที่เหลืออยู่ในเวียดนามและญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีการเซ็นสัญญาไป 14 โครงการ สำหรับในปี 2560 เป้าหมายการเซ็นสัญญาอยู่ที่ 18 โครงการ ขณะที่อัตราการเติบโตของรายได้โดยรวมคาดว่าน่าจะทำได้ระหว่าง 3-5%

ในส่วนของตลาดไทย ซึ่งเป็นตลาดอันดับ 1 ในเอเชียของเบสท์เวสเทิร์น ปีที่ผ่านมามีความท้าทายหลายประการ นักท่องเที่ยวจากตลาดรัสเซียและจีนลดลงไป ขณะที่จำนวนโรงแรมเปิดใหม่ยังมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้ตลาดเจือจางลง แต่เนื่องจากเบสท์เวสเทิร์นอยู่ในเซกเมนต์โรงแรมราคาประหยัดและตลาดระดับกลางเป็นหลัก จึงไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเหล่านี้มากนัก ซึ่งโรงแรมในกรุงเทพฯและภูเก็ตต่างก็มีราคาห้องพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในปี 2559 เมื่อเทียบกับ 2558

ทั้งนี้ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมในไทยอยู่ที่ระดับราว 92-95% ตลอดทั้งปี ขณะที่โรงแรมในกรุงเทพ อัตราเข้าพักเฉลี่ยตลอดปี 2559 อยู่ที่ 77% ด้วยราคาเฉลี่ยต่อคืนราว 2,700 บาท (ไม่รวมภาษีและอาหารเช้า)

เมื่อมองแนวโน้มในปีนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้น 2 ล้านคนจากภาพรวมในปีที่ผ่านมา ซึ่งเราคาดว่าจะสามารถชิงเค้กนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มาได้ในระดับที่น่าพอใจ และเนื่องจากเป็นที่คาดหมายว่านักท่องเที่ยวมากถึง 80% ที่จะเดินทางเข้ามาจะเป็นนักท่องเที่ยวจากจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของเรา เราจึงคาดว่าจะสามารถรักษาระดับของอัตราการเข้าพักไว้ได้ในปีนี้ โดยเฉพาะในภูเก็ต

เนื่องด้วยเบสท์เวสเทิร์นเป็นแบรนด์โรงแรมที่อยู่ในตลาดระดับกลางและราคาประหยัด รูปแบบของธุรกิจจึงเน้นไปที่ปริมาณของนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ดังนั้นจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนที่มากันเป็นกรุ๊ปทัวร์ จึงสอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจเบสท์เวสเทิร์นเป็นอย่างดี

ส่วนความพยายามในการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญของรัฐบาลไทยนับเป็นแนวความคิดที่ดี เพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวเข้ามาไม่ได้มีการใช้จ่ายใดๆ เลย แต่เราจะเห็นได้ว่าปริมาณของนักท่องเที่ยวที่มาจากจีนไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ถ้าไปดูตามสนามบินในกรุงเทพหรือภูเก็ต จะเห็นว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาส่วนใหญ่ยังเป็นชาวจีน โรงแรมส่วนใหญ่ในเอเชียของเราผู้เข้าพักส่วนใหญ่เป็นชาวเอเชีย

 ส่งแบรนด์ใหม่เข้าไทยปีหน้า
สำหรับแผนการขยายธุรกิจโรงแรมในภูมิภาคเอเชียต่อจากนี้ไป ในส่วนของประเทศไทยปัจจุบันเบสท์เวสเทิร์นกำลังเจรจาอยู่ 12 โครงการ ในกรุงเทพ เชียงใหม่ กระบี่ และพัทยา โดยเชื่อว่าน่าจะมี 8 โครงการที่มีแนวโน้มว่าจะบรรลุข้อตกลงกันได้ ขณะที่ตลาดที่มีศักยภาพรองลงมาคือ เวียดนามและญี่ปุ่น โดยเฉพาะในญี่ปุ่นที่กำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2563 ทำให้เป็นช่วงเวลาที่โรงแรมต่างๆ เร่งก่อสร้างและปรับปรุงใหม่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าปีนี้เราน่าจะเซ็นสัญญาในญี่ปุ่นได้อย่างน้อย 4 แห่ง โดย 3 แห่งเป็นโรงแรมใหม่และ 1 แห่งเป็นการรีแบรนด์

นอกจากนี้ เบสท์เวสเทิร์นเตรียมนำแบรนด์น้องใหม่ล่าสุด คือ ชัวร์สเตย์ (SureStay) ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปี 2559 เข้ามาสู่ตลาดไทย โดยได้มีการเซ็นสัญญาไปแล้ว 1 แห่งในกรุงเทพ อยู่ที่สุขุมวิทซอย 2 คาดว่าจะเปิดได้ราวๆ ไตรมาสแรกของปี 2561 โดยแบรนด์ชัวร์สเตย์เป็นแบรนด์ที่เรียกว่า ไวต์เลเบล หรือมีข้อกำหนดที่น้อยกว่าแบรนด์ในเครือเบสท์เวสเทิร์นอื่นๆ เหมาะกับเจ้าของพร็อพเพอร์ตี้ที่อยากเข้าร่วมเครือข่ายของเบสท์เวสเทิร์นเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนทางการตลาด แต่ก็ต้องการความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนโรงแรมของตนเองให้เหมาะสมกับโลเกชันหรือตลาด

ทั้งนี้ รูปแบบการเซ็นสัญญาทั้งหมดเป็นในลักษณะของแฟรนไชส์ คือให้สิทธิ์กับเจ้าของโรงแรมในการใช้แบรนด์และโลโก และเชื่อมโยงเข้ากับเครือข่ายโรงแรมบนเว็บไซต์ของเบสท์เวสเทิร์น แต่เราไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการดำเนินงานในแต่ละวัน ขณะเดียวกันเราพยายามนำรูปแบบของการรับบริหารมาใช้ด้วย นั่นคือส่งทีมงานของเราเข้าไปบริหาร ซึ่งส่วนตัวชอบโมเดลนี้มากกว่า

เพราะเป็นวิธีการที่ดีในการวางตำแหน่งเบสท์เวสเทิร์นในฐานะผู้ประกอบการโรงแรมที่แข็งแกร่ง แต่ยังต้องใช้เวลา โดยปัจจุบันจากโรงแรมกว่า 4,000 แห่งทั่วโลกของเบสท์เวสเทิร์น มีเพียง 4 แห่งเท่านั้นที่เป็นรูปแบบของการรับบริหาร

  ไม่ได้มองโอทีเอเป็นศัตรู
การทำธุรกิจโรงแรมในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า ออนไลน์ ทราเวล เอเยนต์ หรือโอทีเอ เข้ามามีบทบาทและเป็นคู่แข่งสำคัญของเชนโรงแรมต่างๆ ผู้ประกอบการโรงแรมหลายรายมองโอทีเอเป็นศัตรู แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เราต้องทำงานร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจเหล่านี้เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาไม่แย่งธุรกิจของเราไปมากเกินไป

ขณะเดียวกันก็ต้องผสมผสานช่องทางการขายที่หลากหลายให้ได้ในสัดส่วนที่เหมาะสม ทั้งโอทีเอ ไดเร็กต์บุ๊กกิ้ง กรุ๊ปทัวร์ เป็นต้น เพื่อไม่ให้พึ่งพารายได้จากช่องทางใดช่องทางหนึ่งมากไป เพราะถ้าธุรกิจส่วนใดชะลอตัว ก็จะได้มีส่วนอื่นๆ เข้ามาทดแทน

ส่วนแอร์บีแอนด์บีเป็นโมเดลธุรกิจที่แตกต่างออกไป ผู้เข้าพักต้องตระหนักว่าการใช้บริการแอร์บีแอนด์บีเป็นเพียงการเช่าที่พักและโลเกชัน แต่จะไม่มีบริการเหมือนกับโรงแรมทั่วๆ ไป เช่น ถ้าอยากเปลี่ยนหลอดไฟตอนตี 2 ก็จะไม่มีใครมาคอยช่วยคุณ

สำหรับเราในเวลานี้แอร์บีแอนด์บียังไม่ใช่คู่แข่ง ในอีก 1 หรือ 2 ปีข้างหน้าไม่มีใครบอกได้ แต่ตอนนี้ยังไม่ใช่ปัญหา ท้ายที่สุดแล้วผู้บริโภคคือผู้เลือกว่าต้องการผลิตภัณฑ์แบบใด ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้ สิ่งที่เราทำได้คือต้องมีความคิดสร้างสรรค์ทั้งในแง่ราคาและผลิตภัณฑ์ และโน้มน้าวลูกค้าว่าโรงแรมมาพร้อมกับบริการ บิ๊ก เบสท์เวสเทิร์น สะท้อนมุมมองในเรื่องนี้ปิดท้ายบทสัมภาษณ์ในครั้งนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,248
วันที่ 30 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2560