ปฐมบทแห่งแผนทีไออีบี(2) จากสภาวการณ์ที่เอื้อหนุน สู่กลยุทธ์พลังงานประเทศไทย

29 มี.ค. 2560 | 09:00 น.
ตอนนี้เป็นตอนที่ 2 ของการจัดทำแผนพลังงานประเทศไทย จากตอนก่อนหน้านี้ที่ผมได้กล่าวถึง ที่มาที่ไปการเริ่มต้นตั้งใข่วางกรอบ “แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (พ.ศ.2558 -2579) หรือ Thailand Integrated Energy Blueprint : TIEB” ตามคำสั่งของหัวหน้า คสช. เพื่อเป็นการปฏิรูปการทำแผนพลังงาน ให้มีความครอบคลุมบูรณาการกับแผนชาติแล้ว และในตอนที่แล้วก็ได้วิเคราะห์จุดเริ่มต้นของปัญหาโดยได้ทบทวนถึงจุดอ่อนด้านพลังงานของไทยใน 5 มิติ ซึ่งประกอบด้วย 1. การที่เราต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน 2. การอุดหนุนราคาพลังงาน 3. ต้นทุนราคาที่ผันผวน 4. การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และ 5. การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงพลังงานเพื่อการดำรงชีวิตได้

ในฉบับนี้ ผมจะขอกล่าวถึงโอกาสของภาคพลังงานของประเทศ ณ เวลานั้น โดยย้อนกลับไปในช่วงที่จัดทำแผนฯ ฉบับนี้ (เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557) เป็นจังหวะที่ราคาน้ำมันในโลกลดต่ำลง และได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีในหลายรูปแบบ ในช่วงที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง ซึ่งภายหลังที่ได้ประเมินสถานการณ์ในโลกแล้ว จึงเห็นว่าประเทศไทยยังมีโอกาสด้านพลังงาน (Window of Opportunities) ใน 3 ด้านหลักๆ คือ

[caption id="attachment_137091" align="aligncenter" width="503"] ปฐมบทแห่งแผนทีไออีบี(2) จากสภาวการณ์ที่เอื้อหนุน สู่กลยุทธ์พลังงานประเทศไทย ปฐมบทแห่งแผนทีไออีบี(2) จากสภาวการณ์ที่เอื้อหนุน สู่กลยุทธ์พลังงานประเทศไทย[/caption]

1. การเข้าถึงเทคโนโลยีทำได้ง่ายขึ้น เพราะมีนโยบายที่เอื้อหนุนอยู่แล้ว โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านพลังงานทดแทน อาทิ แสงอาทิตย์ ก๊าซชีวภาพ พลังชีวมวล และเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น เอทานอลที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ 2nd generation และรวมถึงเทคโนลีถ่านหินสะอาด (Clean Coal Technology) ที่สามารถกำจัดมลสารที่ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

2. สถานการณ์ของตลาดพลังงานที่มีราคาลดต่ำลง และตลาดพลังงานตกเป็นของผู้ซื้อ โดยประเทศไทยเองก็เป็นผู้ซื้อสุทธิก็สามารถหาพลังงานในราคาที่ลดลงได้ จึงเป็นช่วงเหมาะสมที่จะทยอยลดการอุดหนุนราคาแบบหน้ากระดาน
และ 3. ประเทศไทยอยู่ท่ามกลางเพื่อนบ้านที่มีทรัพยากรพลังงาน ทั้ง สปป.ลาวและสหภาพเมียนมา อีกทั้งยังมีทรัพยากรด้านการเกษตรในประเทศเป็นจำนวนมากที่สามารถนำมาผลิตพลังงานได้ในระดับหนึ่ง และจากโอกาสด้านพลังงานทั้ง 3 ด้านนี้ กระทรวงพลังงานจึงได้นำมาประกอบกับ การกำหนดกลยุทธ์ที่เป็นก้าวสำคัญด้านพลังงาน (Bold Move) ภายใต้แผน TIEB โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ยกเลิกชดเชยราคาพลังงาน ปรับให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงตามกลไกตลาด โดยภาครัฐยังมีความจำเป็นที่จะดูแลผู้มีรายได้น้อย เช่น อุดหนุนค่าไฟฟรีสำหรับผู้ใช้ไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน ที่ติดมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ อุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม สำหรับกลุ่มหาบเร่แผงลอย และอุดหนุนราคาก๊าซNGV ในกลุ่มขนส่งสาธารณะ เป็นต้น

2.ใช้พลังงานทดแทนที่เหมาะสมกับประเทศมากยิ่งขึ้น ผลักดันการนำขยะผลิตเป็นพลังงาน เนื่องจากขยะเป็นปัญหาสำคัญของท้องถิ่น การส่งเสริมชีวมวล และก๊าซชีวภาพ รวมทั้งดำเนินการต่อเนื่อง ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม

3.เพิ่มปริมาณผลผลิตภาคการเกษตร เพื่อลดการนำเข้าน้ำมัน โดยเพิ่มปริมาณการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio fuels) ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพ ได้แก่ เอทานอล จากกากน้ำตาล ซึ่งไทยเป็นประเทศส่งออกน้ำตาลในช่วงที่ผ่านมา อันดับ 2 ของโลก มันสำปะหลัง ที่ไทยมีการส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก ทั้งนี้การนำสินค้าที่ต้องส่งออกในราคาต่ำมาผลิตเป็นพลังงานทดแทน เพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมันที่มีมูลค่าสูง และการผลิตไบโอดีเซล จากปาล์มน้ำมัน ซึ่งประเทศไทยมีการส่งออกเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยการเพิ่มมูลค่าผลผลิตภาคการเกษตรดังกล่าว นอกจากจะช่วยทดแทนการนำเข้าพลังงานแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่ภาคเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน

4. เร่งสร้างสมดุลในมิติการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ ที่มีสัดส่วนสูงถึง 60- 70% ทำให้ประเทศมีความเสี่ยง เนื่องจากก๊าซธรรมชาติถือเป็นเชื้อเพลิงที่ต่างจากน้ำมัน หรือถ่านหิน ที่เก็บสำรองค่อนข้างยาก และโดยปกติต้องขนส่งจากทางท่อ ซึ่งหากแหล่งต้นทางผลิต และท่อส่ง มีปัญหาก็จะเกิดผลกระทบถึงเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่ไม่สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ โดยการเพิ่มสมดุลในการผลิตไฟฟ้า จึงควรเพิ่มการนำเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพราะยังมีสำรองถ่านหินในโลกอยู่สูงมาก และอาเซียนเองก็มีแหล่งถ่านหินอีกด้วย ทำให้ต้นทุนการผลิตยังไม่สูงนักเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอื่นๆ มีคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ช่วยให้ต้นทุนพลังงานของภาคธุรกิจยังสามารถแข่งขันได้

5. ยืดอายุแหล่งทรัพยากรในประเทศ โดยกำหนดให้มีนโยบายกระตุ้นการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ รวมทั้งการบริหารจัดการแหล่งสัมปทานที่ใกล้จะสิ้นสุด เพื่อทดแทนการนำเข้า และการเปิดสัมปทานผลิตปิโตรเลียมในประเทศนั้น นอกจากจะได้พลังงานเพื่อความมั่นคงแล้ว ยังก่อให้เกิดการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ เช่น การจัดเก็บค่าภาคหลวง ภาษีปิโตรเลียม การสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เกิดการจ้างงาน การสร้างธุรกิจต่อเนื่อง ซึ่งจะเกิดการหมุนเวียนเพื่อเสริมความเข้มแข็งให้แก่ภาคเศรษฐกิจ เป็นต้น

หลังจากทราบจุดอ่อนไหว โอกาสด้านพลังงาน และกลยุทธ์ที่เป็นก้าวสำคัญ ซึ่งได้นำมาประกอบในการจัดทำแผน TIEB ในเบื้องต้นแล้ว ในตอนต่อไป ผมจะกลับมาขยายความถึงด้านการสร้างสมดุลย์ในมิติการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ความจำเป็นของจัดหาเชื้อเพลิงทางเลือก เช่น เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนในสังคม โปรดติดตามนะครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,248
วันที่ 30 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2560