กสิกรไทยคาดกนง.ส่งสัญญาณยืนดอกเบี้ยไทยที่ 1.50% ต่อเนื่อง

24 มี.ค. 2560 | 10:04 น.
คาดกนง. ส่งสัญญาณยืนดอกเบี้ยไทยที่ 1.50% ต่อเนื่อง ในการประชุม 29 มี.ค.นี้ หลังผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดต่อไทยยังมีน้อย

ประเด็นสำคัญ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะมีมติ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่องในการประชุม กนง. รอบสองของปี 2560 ในวันที่ 29 มี.ค. 2560 นี้ และน่าจะส่งสัญญาณยืนดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะภาคการบริโภคที่ยังคงเปราะบาง หลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสิ้นสุดลง ขณะที่ ผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ยังคงอยู่ในระดับที่จำกัด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่อง ในการประชุมวันที่ 29 มี.ค. 2560  โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังนี้

กนง. น่าจะยืนอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำที่ 1.50% ต่อเนื่องอีกระยะ เพื่อช่วยหนุนให้การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศมีความต่อเนื่อง ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่า พัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค.-ก.พ. 2560 ยังคงมีภาพที่ปะปน เพราะแม้รายได้เกษตรกรจะปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่เครื่องชี้ภาคการบริโภคกลับให้ภาพที่ชะลอลง หลังปัจจัยหนุนจากมาตรการภาครัฐ สิ้นสุด ขณะที่ การขยายตัวของการส่งออก (ที่หักปัจจัยพิเศษ) ก็ยังคงกระจุกอยู่ในสินค้าบางประเภท ดังนั้น สัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินจากกนง. อย่างต่อเนื่อง น่าจะเป็นท่าทีที่เหมาะสมภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจยังสะท้อนภาพการฟื้นตัวที่ไม่เด่นชัดมากนักในขณะนี้

แรงกดดันต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของไทยในระยะนี้ ยังมีไม่มาก เป็นที่น่าสังเกตว่า ธนาคารกลางของบางประเทศ เริ่มทยอยลดระดับการผ่อนคลายของนโยบายการเงินลงมาบางส่วน ภายหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ในรอบการประชุมเดือนมี.ค. ล่าสุด อาทิ ธนาคารกลางจีน (PBoC) ที่ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงิน และธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) ที่ขยับขึ้นดอกเบี้ยตามเฟด อย่างไรก็ดี ในกรณีของประเทศไทย จะเห็นได้ว่า ผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดต่อตลาดการเงินไทยยังมีไม่มาก ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากสัญญาณจากเฟดที่ยังไม่เร่งจังหวะการขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้น แม้ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยนโยบายของไทยและสหรัฐฯ จะเริ่มแคบลง แต่ความผันผวนที่มีต่อตลาดเงิน-ตลาดทุนไทย ก็ยังคงอยู่ในกรอบที่ทางการสามารถบริหารจัดการได้ ประกอบกับเครื่องชี้เสถียรภาพต่างประเทศของไทยเอง ก็ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง สภาพคล่องในประเทศที่มีอยู่ในระดับสูง

สำหรับทิศทางนโยบายการเงินของไทยในระยะที่เหลือของปี 2560 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กนง. น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่องตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 2560 เพื่อช่วยสนับสนุนให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น อย่างไรก็ดี คงต้องติดตาม จังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในช่วงที่เหลือของปีอย่างใกล้ชิด เพราะคงต้องยอมรับว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังสามารถประคองโมเมนตัมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับสัญญาณตึงตัวของตลาดแรงงาน และทิศทางเงินเฟ้อที่ขยับขึ้นเหนือระดับเป้าหมาย เฟดก็อาจจะมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนท่าที และ/หรือส่งสัญญาณในเชิงที่คุมเข้มมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว อาจส่งผลต่อเนื่องมายังทิศทางดอกเบี้ยทั่วโลก และไทย

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย