‘แบรนด์รอง’บี้ดีลเลอร์ มาสด้าปรับภาพลักษณ์โชว์รูม นิสสันลุยระบบเชื่อมข้อมูลใหม่

28 มี.ค. 2560 | 04:00 น.
ตลาดรถยนต์เมืองไทยในภาวะทรงตัว หรือเรียกให้ดูดีคือกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ทว่าค่ายรถยนต์แบรนด์ขนาดกลางหรือระดับดิวิชัน 2 อย่างนิสสัน มาสด้า และค่ายเล็กอย่างเอ็มจี กำลังเดินหน้าพัฒนาเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายอย่างเข้มข้น (ดิวิชัน 1 ยกให้ โตโยต้า อีซูซุ ฮอนด้า ที่วางระบบดีลเลอร์ให้เข้มแข็งและบริษัทแม่สามารถควบคุมได้เบ็ดเสร็จแล้ว)

สำหรับการพัฒนาเครือข่ายผู้แทนจำหน่าย มีทั้งเชิงโครงสร้าง ปรับปรุงภาพลักษณ์โชว์รูม-ศูนย์บริการ และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ(ไอที) เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลและประมวลผลการทำงานได้อย่างแม่นยำ รวมถึงพัฒนาบุคลากรในด้านการขายและบริการหลังการขาย

เริ่มจากมาสด้า ที่ปัจจุบันมีโชว์รูมและศูนย์บริการทั่วประเทศ 147 แห่งจากจำนวนผู้แทนจำหน่าย(ดีลเลอร์) 71 ราย โดยวางเป้าหมายเพิ่มจำนวนโชว์รูมอีก 20 แห่งภายในปี 2562 เพื่อรองรับส่วนแบ่งทางการตลาด ที่มาสด้าอยากก้าวไปให้ถึง 8% (ปัจจุบันมี 5.5 %)

ขณะเดียวกันในช่วง 2 – 3 ปีนี้ มาสด้ากำลังเดินหน้าปรับภาพลักษณ์โชว์รูมตาม“คอร์ปอร์เรต ไอเดนติตี้”(ซีไอ)ใหม่ โดยเริ่มทยอยปรับไปหลายแห่งแล้ว เช่น พระราม 2 ,เทพารักษ์,ศรีราชา,ขอนแก่น และเชียงใหม่

“โชว์รูมและศูนย์บริการจะปรับโฉมใหม่ รองรับความต้องการที่ครบวงจรมากขึ้น ทั้งการขาย บริการ อู่ซ่อมสีและตัวถัง ส่วนการตกแต่งจะเน้นโทนสีดำ-เทา ซึ่งดีลเลอร์ต้องลงทุนตั้งแต่ 1- 8 ล้านบาทต่อโชว์รูม” นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวและว่า

นอกจากนั้นแล้วยังลงทุน 6,000 ล้านบาท สร้างศูนย์กระจายอะไหล่ เพื่อรองรับทั้งตลาดในประเทศ ,ภูมิภาคอาเซียน,ออสเตรเลีย อีกทั้งยังปรับราคาอะไหล่ให้แข่งขันได้ ไม่แพงเหมือนเช่นอดีต ,มีการแนะนำค่าบริการให้กับลูกค้าเพื่อแสดงความโปร่งใส,ปรับปรุงระบบการส่งอะไหล่และจำนวนของคงคลัง,ชิ้นส่วนสำคัญต้องสามารถส่งได้ทั่วประเทศภายใน 24 ชั่วโมง และมีการจัดส่งอะไหล่ในแต่ละวัน 2 เวลาคือ รอบ 11 โมง และรอบบ่ายสอง

ด้านนิสสัน ที่ 1-2 ปีที่ผ่านมายอดขายลดลงตามสภาพตลาด ขณะที่จำนวนโชว์รูมลดลงเหลือ 204 แห่งทั่วประเทศ(เดิม 214 แห่ง) และยังไม่มีแผนขยับขยายเพิ่มในเร็วๆนี้

“แม้โชว์รูมลดลงแต่จำนวนของดีลเลอร์ที่เป็นพันธมิตรของเรายังเท่าเดิม และปีนี้ก็คงเอาไว้ที่ 204 โชว์รูม ซึ่งแต่ละแห่งจะต้องปรับปรุงให้ทันสมัย รวมถึงนำระบบปฎิบัติการใหม่ คือ ดีเอ็มเอส (DMS-Dealer Management System) มาใช้อย่างเต็มรูปแบบในปีนี้” นางสาวสุรีทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการตลาด บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

สำหรับ “ดีเอ็มเอส”เป็นระบบปฏิบัติการที่นิสสันนำมาใช้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ทว่ายังอยู่ในช่วงทดลองมีข้อติดขัดทางเทคนิคอยู่บ้าง แต่ในปีนี้จะเริ่มใช้อย่างจริงจัง ด้วยความสามารถในการเชื่อมข้อมูลระหว่างบริษัทแม่กับดีลเลอร์ พร้อมนำมาวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการขาย การจัดการสต็อก

“เป็นการประมวลข้อมูล เริ่มตั้งแต่ ลูกค้าสั่งจองรถ ไปจนถึงส่งมอบรถ โดยดีเอ็มเอส จะทำให้บริษัทแม่รู้ว่า หากยอดขายไม่เดินนั้นเกิดความผิดพลาดจากจุดไหน แต่ระบบนี้ดีลเลอร์ก็จะมีค่าใช้หลายแสนบาทต่อปี ซึ่งในช่วงแรกบริษัทแม่จะเป็นผู้สนับสนุนไปก่อน” นางสาวสุรีทิพย์ กล่าว

ขณะที่นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปีนี้จะเพิ่มรถโมบายเซอร์วิส จาก 10 คัน เป็น 30 คัน กระจายอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆครอบคลุมทั่วประเทศ ที่เสมือนเป็นศูนย์บริการเคลื่อนที่ สามารถตรวจเช็ก และบำรุงรักษารถยนต์พื้นฐานได้ (ให้บริการรถยนต์เอ็มจีที่อยู่ในระยะประกัน 4 ปีหรือ 120,000 กม.)

“เป็นการสร้างความมั่นใจด้านบริการหลังการขายให้ลูกค้า เนื่องจากเอ็มจีเป็นแบรนด์น้องใหม่ การเข้าหาลูกค้าในบางพื้นที่อาจจะยังไม่ทั่วถึง ซึ่งในปีนี้บริษัทมีแผนเพิ่มโชว์รูมและศูนย์บริการจาก 60 แห่งเป็น 90 แห่ง และในอนาคตจะขยายให้ถึง 120 แห่งทั่วประเทศ”

อย่างไรก็ตาม แผนพัฒนาบุคลากรหรือการฝึกอบรมที่ปกติจะไม่คิดเงินกับดีลเลอร์ที่ส่งพนักงานมา แต่ในระยะหลังเมื่อฝึกอบรมกลับไปแล้วก็ลาออกไป ซึ่งสูญเสียทั้งเวลาและงบประมาณ ดังนั้นบริษัทมีแผนจะคิดค่าใช้จ่ายตรงนี้กับดีลเลอร์เช่นกัน เพื่อให้มีความรับผิดชอบในการส่งบุคลากรมาอบรบกับบริษัทแม่

...เริ่มขยับแผนพัฒนาเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง สำหรับแบรนด์รองในตลาดรถยนต์ หวังรองรับการขายและบริการหลังการขายที่มีประสิทธิภาพพร้อมสร้างความพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า แต่ประเด็นสำคัญคือต้องทำให้ดีลเลอร์พอใจและมีกำไรควบคู่กันไปด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,247 วันที่ 26 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2560