เหล็กเวียดนามแซงไทยความต้องการใช้พุ่งอันดับ1อาเซียน

26 มี.ค. 2560 | 13:40 น.
ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าอุตสาหกรรมเหล็กไทยตกที่นั่งลำบาก มองไปทางไหนก็เจอแต่ขวากหนามทั้งปัญหาการบริโภคเหล็กภายในประเทศไม่เติบโตเท่าที่ควร อีกทั้งการแข่งขันกับเหล็กนำเข้าราคาถูกก็โหมกระหน่ำเข้ามาสารพัดรูปแบบ อีกทั้งราคาก็ไม่ได้จูงใจมากนัก ขณะที่มาตรการรับมือในการปกป้องเหล็กนำเข้าของไทยก็ยังขับเคลื่อนไปได้อย่างช้าๆ ในขณะที่คู่แข่งอย่างเวียดนามตัวเลขความต้องการใช้เหล็กในประเทศเติบโต อีกทั้งภาครัฐจริงจังในการส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กตั้งแต่ต้นน้ำไปยันปลายน้ำ และกำหนดเป็นแผนส่งเสริมระยะยาว

ปี2560 วงการเหล็กต่างมีความหวังว่าจะเป็นปีที่อุตสาหกรรมเหล็กขยายตัวดีขึ้น หากวัดจากราคาพืชผลทางการเกษตรดีขึ้น ภาครัฐกระตุ้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการปลุกการลงทุนรอบใหม่ในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี อีกทั้งความต้องการใช้เหล็กในตลาดสำคัญอย่างอาเซียน อเมริกาและจีน

 3แหล่งตัวแปรหนุนใช้เหล็ก!
นายนาวา จันทนสุรคน อุปนายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย กล่าวกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ปีนี้ตลาดอาเซียน ถือเป็นโซนที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก โดยคาดการณ์ว่า ปี2560 เฉพาะอาเซียนจะใช้เหล็กมากถึง 82 ล้านตัน ใช้เหล็กมากสุดเป็นประวัติศาสตร์และเมื่อโฟกัสรายประเทศ พบว่าเวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย 3ประเทศดังกล่าว เป็นตัวขับเคลื่อนในการบริโภคเหล็กมากที่สุดในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะเวียดนามที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม ก่อสร้างงานโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ

ต่อมาจะเป็นตลาดอเมริกา ที่ขณะนี้อัตราการว่างงานต่ำลง จีดีพีเติบโตจาก 0% หรือติดลบมาก่อนหน้านี้ ล่าสุดปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 0.5% และภาคอุตสาหกรรมขยับได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทำให้มีการใช้เหล็กในภาคส่วนต่างๆมากขึ้น และตลาดจีนแม้เศรษฐกิจปีนี้คาดการณ์กันว่าจะดีน้อยกว่าปีที่ผ่านมา แต่โดยรวมก็ยังดีอยู่แม้จะไม่ร้อนแรงเท่ากับปีก่อน อีกทั้งราคาเหล็กในจีนเมื่อปลายปีที่แล้วปรับตัวดีขึ้น ทำให้โรงงานเหล็กสามารถขายเหล็กในประเทศจีนได้มากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการทุ่มตลาดเหล็กมายังตลาดโลกลดลง เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยเวลานี้จีนส่งออกไปยังตลาดโลกลดลงจาก 110 ล้านตัน เหลือ 108 ล้านตัน

"จะเห็นว่าปีนี้มีสัญญาณบวกที่เกิดจาก3ตลาดดังกล่าวค่อนข้างชัดเจนที่จะเป็นตัวเร่งให้อุตสาหกรรมเหล็กปีนี้ขยายตัวดีกว่าปีที่ผ่านมา"

สอดคล้องกับข้อมูลจากสมาคมเหล็กโลก หรือ World Steel Association:WSAที่ระบุว่าปี 2560 ความต้องการใช้เหล็กโลกอยู่ที่ 1,535 ล้านตัน เทียบกับปี2559 ขยายตัว 1.3% โดยจีนจะใช้เหล็กในประเทศ674 ล้านตัน ลดลง 1% จากปี2559 ในขณะที่อาเซียนจะใช้เหล็กรวม 82 ล้านตัน เพิ่มขึ้นราว 5% ขณะที่เวียดนาม มีความต้องการใช้เหล็กสูงถึง 25 ล้านตัน จากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และระบบโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ

 หมดสิทธิ์ที่1ในอาเซียน
การเติบโตของเวียดนามในอุตสาหกรรมเหล็ก สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายของอุตสาหกรรมเหล็กมาอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดแผนพัฒนาไว้ถึงปี2578 โดยจะขยายความสามารถในการเป็นฐานการผลิตเหล็กอาเซียนภายในปี2563ว่า จะมีกำลังผลิตเหล็กในประเทศเวียดนามเพิ่มจาก20ล้านตันต่อปี เป็น 32.3 ล้านตันต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 66 ล้านตันในปี 2578 โดยรัฐบาลเวียดนามเริ่มต้นสนับสนุนด้วยการส่งเสริมให้มีการผลิตเหล็กต้นน้ำในประเทศ เช่น การตั้งโรงถลุงเหล็ก โดยมีแผนจัดตั้งเตาถลุงเหล็กขนาดใหญ่มากกว่า 6 เตา มีขนาดกำลังผลิตเหล็กต้นน้ำ 24 ล้านตันในอนาคต จากที่ปัจจุบันมีเพียง 1 เตา ลงทุนโดยบริษัท ฟอร์โมซากรุ๊ปส์ฯ (FORMOSA)ผู้ผลิตเหล็กและปิโตรเคมีรายใหญ่ของไต้หวัน ร่วมกับ เจเอฟอี จากญี่ปุ่น และกลุ่มพอสโก ประเทศเกาหลี มีการผลิตเหล็กเฟสแรกที่ 7 ล้านตัน เริ่มผลิตเหล็กไวรอตได้เมื่อต้นปี 2559

อย่างไรก็ตามการขยับตัวในอุตสาหกรรมเหล็กของเวียดนามนับวันจะก้าวหน้ากว่าประเทศไทย ส่วนหนึ่งมาจากความรวดเร็วในการตัดสินใจของรัฐบาล และการวางแผนพัฒนาเหล็กระยะยาว ทำให้เวียดนามกลายเป็นคู่แข่งที่มาแรงและน่ากลัวที่สุดในอาเซียนในเวลานี้ เพราะแม้แต่เวทีการประชุมสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAISI) ที่มีการประชุมนัดล่าสุด ยังมองว่า เวียดนามจะเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเหล็กใหญ่สุดในอาเซียนนับจากนี้ไป

สำหรับเหล็กไทย นับตั้งแต่ปี2558 ที่เวียดนามมีความต้องการใช้เหล็กมากที่สุดในอาเซียน ขยับขึ้นมาเป็นที่ 1 แซงหน้าไทย และมีแนวโน้มทิ้งห่างไทยอย่างต่อเนื่องทุกปีนับจากนี้ไป โดยเวียดนามมีความต้องการใช้เหล็กในประเทศปีนี้เพิ่มขึ้น(ดูตาราง) เปรียบเทียบกับไทยที่คาดการณ์ว่าความต้องการใช้เหล็กปีเดียวกันอยู่ที่ 19.5 ล้านตัน เติบโตขึ้นมาเพียง1% อีกทั้งไม่มีโรงถลุงเหล็กในประเทศ แม้ก่อนหน้านี้ มีแผนตั้งไข่มาหลายรอบ จนสุดท้ายก็แท้งไปในที่สุด
จึงเป็นที่ชัดเจนว่า เหล็กไทยแพ้เวียดนามไปแล้ว ทั้งด้านอัตราการบริโภคและกำลังผลิตภายในประเทศ!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,247 วันที่ 26 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2560