มิตรผลดึงเอกชนลง2หมื่นล. สานพลังงานประชารัฐรับไบโอคอมเพล็กซ์ขอนแก่น

27 มี.ค. 2560 | 09:00 น.
อุตตม เร่งขับเคลื่อนไบโออีโคโนมี จี้สานพลังงานประชารัฐ ดึงเอกชน 13 ราย เข้าลงทุนในไบโอคอมเพล็กซ์ของมิตรผล จ.ขอนแก่น มีที่ดิน 1,000 ไร่ พร้อมผุดโรงงานนํ้าตาลทราย วัตถุดิบนำร่องแล้ว คาด 3 ปีเกิดแน่ใช้เงินลงทุน 2 หมื่นล้านบาท

กำลังเป็นรูปเป็นร่างแล้ว กับการขับเคลื่อนด้านการลงทุนเศรษฐกิจชีวภาพหรือไบโออีโคโนมี ของคณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ภายใต้สานพลังประชารัฐ มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ

ล่าสุดคณะทำงานฯได้มีการเสนอพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ อ.บ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น จัดตั้งเป็นไบโอคอมเพล็กซ์ ไปให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเกษตร เป็นพื้นที่นำร่อง ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนเช่นเดียวกับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกแล้ว

แต่นายอุตตม อยากเห็นรูปร่างหรือโมเดลการลงทุนในคอมเพล็กซ์ดังกล่าว จึงสั่งให้คณะทำงานฯไป ศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติมว่าจะสามารถดึงนักลงทุนรายใดเข้ามาลงทุนได้บ้าง ที่คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ประมาณกลางปีนี้ ขณะที่การจัดตั้งศูนย์การวิจัยและพัฒนา เพื่อนำผลการวิจัยไปต่อยอดผลิตภัณฑ์นั้น ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อนุมัติงบประมาณ 450 ล้านบาท ให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น รับไปดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้า

นายประวิทย์ ประกฤตศรี ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มมิตรผล เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า การดำเนินงานระยะแรกในการขับเคลื่อนไบโออีโคโนมี ในส่วนของคอมเพล็กซ์นั้นเริ่มเป็นรูปร่างแล้ว เพราะจะให้พื้นที่ของกลุ่มมิตรผล ในจังหวัดขอนแก่น ที่กำยังจะก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทราย ลงทุนประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท มาเป็นวัตถุดิบในการต่อยอดไบโอชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ไบโอพลาสติก เคมีชีวภาพ อาหารสัตว์ เป็นต้น ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อยากเห็นโมเดลด้านการลงทุน ให้มีความชัดเจนในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งขณะนี้ทางคณะทำงานฯอยู่ระหว่างการเจรจาว่ามีเอกชนรายใดสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวได้บ้าง หลังจากที่ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงหรือเอ็มโอยูกับเอกชน 13 ราย ไปแล้วเมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา

โดยประกอบด้วย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) บริษัท โกลบอลกรีนเคมีคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือเคทีไอเอส บริษัท อูเนโนไฟน์เคมีคัลส์อินดัสตรี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอเชีย สตาร์ เทรด จำกัด บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด บริษัท คริสตอลลา จำกัด บริษัท แบ็กซ์เตอร์เฮลธ์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไทยโอซูกา จำกัด

สำหรับเอกชนที่มีความสนใจแล้วเช่น บริษัท อูเนโนไฟน์เคมีคัลส์อินดัสตรี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอเชีย สตาร์ เทรด จำกัด บริษัท พูแรค(ประทศไทย) จำกัด เป็นต้น แต่ก็มีเอกชนรายอื่นๆ ให้ความสนใจ นอกเหนือจาก 13 ราย โดยเฉพาะนักลงทุนจากญี่ปุ่น 2-3 ราย ทั้งนี้ ประเมินว่า พื้นที่คอมเพล็กซ์ดังกล่าวจะสามารถรองรับคิดเป็นมูลค่าการลงทุนได้ราว 2 หมื่นล้านบาท ในช่วง 3 ปี

ส่วนการจะประกาศพื้นที่ดังกล่าว เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษได้เมื่อใดนั้น คาดว่าหลังจากที่อีอีซี ประสบความสำเร็จในการชักชวนนักลงทุน เข้ามาลงทุนได้แล้ว คาดว่าทางรัฐบาลจะให้ความสำคัญและขยายพื้นที่ไปยังจังหวัดต่างๆ เพิ่มมากขึ้นได้ และจะเป็นการช่วยปลดล็อกปัญหาผังเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนอยู่ในขณะนี้ได้ด้วย หากมีความชัดเจนในปีนี้ ในปีหน้าก็จะสามารถเริ่มศึกษารายงานผลิตกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,247 วันที่ 26 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2560