สกว.ระดมสมองปรับยุทธศาสตร์การวิจัยผลงงานจับต้องได้

22 มี.ค. 2560 | 09:30 น.
สกว.จัดเวทีระดมสมองทำแผนยุทธศาสตร์ให้สอดรับกับความต้องการของทุกภาคส่วนและใช้ประโยชน์มากขึ้น ประธานทีดีอาร์ไอให้โจทย์ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ ต้องมีผลงานความสำเร็จที่จับต้องได้และเกิดผลกระทบจริง ขณะที่ภาควิชาการ เอกชน และประชาสังคม กระตุ้นให้ทำงานรับใช้ชุมชนท้องถิ่นเพื่อสร้างความยั่งยืน

22 มีนาคม 2560 -พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นที่มีต่อร่างแผนยุทธศาสตร์ สกว. (พ.ศ. 2560-2564) เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาคมวิจัยและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนที่นำทางในการสร้างและใช้ความรู้เพื่อพัฒนาประเทศและสร้างสรรค์ปัญญาให้กับสังคมไทยด้วยการวิจัยของ สกว. ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและความต้องการของประเทศ

 

[caption id="attachment_136321" align="aligncenter" width="503"] พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นที่มีต่อร่างแผนยุทธศาสตร์ สกว. (พ.ศ. 2560-2564) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นที่มีต่อร่างแผนยุทธศาสตร์ สกว. (พ.ศ. 2560-2564)[/caption]

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวระหว่างการปาฐกถานำเรื่อง “นโยบายและการปฏิรูประบบวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ” ว่าการวิจัยที่ผ่านมายังมีแนวปฏิบัติที่อาจจะไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่และงบประมาณกระจัดกระจายและไม่เกิดพลัง ไม่มีแรงขับเคลื่อนที่จะให้งานวิจัยบรรลุผลสัมฤทธิ์ที่ตั้งไว้ ทำอย่างไรจึงจะทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ยุทธศาสตร์ชาติมีส่วนต่อการทำวิจัยและสร้างนวัตกรรม ดังนั้นจึงต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างนโยบาย การจัดการ และวัฒนธรรมการวิจัย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในเชิงกลยุทธ์และปฏิบัติการ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาของประเทศ ทั้งในด้านความมั่นคงและการจัดการภัยพิบัติ ด้านสังคมและวัฒนธรรม ด้านเศรษฐกิจที่จะต้องทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน มีผลสัมฤทธิ์ทางเศรษฐกิจ การลงทุน การค้าขาย อุตสาหกรรม เกษตร กิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้และผลผลิต เม็ดเงิน ผลตอบแทนทางธุรกิจ และภาพรวมในการยกระดับประเทศให้มีความพร้อมในการเชิญต่างประเทศมาลงทุนและสร้างงานในประเทศไทย

ทั้งนี้การพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์จะต้องรองรับกับทุกกิจการ ประเด็นที่เป็นตัวถ่วง เช่น ภาษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคนิคต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่นำมาจากต่างชาติ เราจะต้องสร้างคนที่มีความรู้เหล่านี้และจัดคลัสเตอร์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำ “จากนี้ไปจะต้องสร้างระบบวิจัยของประเทศให้อยู่ในระดับโลก และนำผลงานวิจัยไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ใช่งานวิจัยที่ขึ้นหิ้งอีกต่อไป”

ศ. นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานกรรมการนโยบายสนับสนุนการวิจัย กล่าวถึงทิศทางและนโยบายสนับสนุนการวิจัยของ สกว. ว่าจะต้องสนับสนุนการวิจัยทั้งงานวิจัยและพัฒนา และงานพื้นฐาน บทบาทหนึ่งที่ สกว. ทำได้ดีคือ มีคลัสเตอร์และเครือข่ายที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบวิจัย จึงอยากให้ขยายต่อเพื่อให้ได้ประโยชน์มากที่สุด และเชื่อมโยงการทำงานสู่ระดับพื้นที่เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ นักวิจัยต้องมีพื้นฐานความรู้ที่ลึกซึ้งและมีคุณภาพ ทำวิจัยคู่ขนานกันไปจนกลายเป็นวัฒนธรรมในการวิจัย รวมถึงการสร้างนักวิจัยอาชีพให้มีจำนวนมากและอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยและภาคเอกชนให้เน้นการปฏิบัติและเสริมสร้างการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ให้มีบุคลากรที่มุ่งมั่นทุ่มเทและมีความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตงานใหม่ ๆ มีเครือข่ายวิจัยระดับชาติเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนที่นำไปสู่ผลลัพธ์และผลกระทบอย่างแท้จริง รวมถึงการเชื่อมโยงในระดับนานาชาติอย่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เป็นสากลที่สำคัญคือคนไทยทุกคนต้องมีระบบคิดและกระบวนการทำงานเช่นเดียวกับระบบวิจัย นั่นคือ การคิด วิเคราะห์ ลงมือทำ และเชื่อมโยงความรู้ไปใช้ประโยชน์ และเพื่อสนองตอบยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 จะต้องมีการพบปะมากขึ้นระหว่างนักวิจับและผู้ประกอบการ โดยประเด็นที่ทำได้ทันทีคือ การวิจัยเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว และการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น นอกจากนี้ต้องปรับองค์กรให้ทำงานร่วมกับองค์กรอื่น ๆ ได้ทั้งทางการและไม่เป็นทางการ พัฒนาระบบบริหารจัดการโดยอาศัยทั้งข้อมูลและสารสนเทศ ใช้ “Big Data” ในการบริหารองค์ความรู้ รวมถึงการติดตามประเมินผลเพื่อพัฒนาและแก้ไขจุดที่เป็นปัญหา แต่ปัญหาใหญ่คือยังขาดนักประเมินผลที่รู้ทั้งวิธีการและเทคโนโลยี สุดท้ายคือต้องมีการลงทุนด้านการวิจัยเพิ่มขึ้นจากหน่วยงานต่าง ๆ และภาคเอกชน

สอดคล้องกับความเห็นของศ. ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ประธานคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนการวิจัย ที่กล่าวว่าภาพในเชิงรายละเอียดของการสนับสนุนงานวิจัยในปัจจุบันต้องเปลี่ยนไป เช่น มีการประเมินและติดตามมากขึ้น ข้อสำคัญที่สุดคือคุณภาพของการวิจัยเป็นอย่างไร ขณะนี้ยังมีจุดอ่อนว่าผู้ประเมินที่มีความชำนาญยังมีอยู่น้อย เพราะต้องรู้เรื่องการวิจัยอย่างดีรวมถึงการประเมินด้วย จึงต้องพัฒนาเพิ่มจำนวนผู้ประเมินที่มีความชำนาญให้มากขึ้น ส่วนทิศทางการดำเนินงานในอนาคตนั้น โครงการ สกว. มีจำนวนมาก จึงต้องคิดว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการในระดับต่าง ๆ ควรจะทำอย่างไรจึงจะเหมาะสมและเป็นไปได้ ทั้งโครงการระดับใหญ่ ระดับปานกลาง และระดับย่อย ทั้งนี้การติดตามและข้อเสนอแนะที่ได้จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ อย่าไรก็ตามโครงการที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ก็ไม่ได้หมายความว่าจะล้มเหลวทั้งหมด ต้องดูว่าติดปัญหาอุปสรรคอะไร และเรียนจากความล้มเหลว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก

ด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการเสวนาเรื่อง “อดีต ปัจจุบัน และความท้าทายในอนาคตของ สกว.” ว่าจะต้องรักษาองค์กรไม่ให้ถูกยุบ เพิ่มงบวิจัย และเสนอผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ความท้าทายของประเทศไทยขณะนี้มี 4 เรื่อง คือ (1) อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาลง เก่งสุดไม่เกินร้อยละ 4(2) การเข้าสู่สังคมสูงวัย เด็กเกิดน้อยลง (3) คุณภาพการศึกษายังไม่ชัดเจน (4) ตกขบวนการปฏิวัติทางเทคโนโลยี สร้างความปั่นป่วนทางธุรกิจชนิดพลิกตำราแทบไม่ทัน ขณะที่ความท้าทายของระบบวิจัยไทย คือ อันดับของมหาวิทยาลัยไทยยังไม่ติดระดับแถวหน้าของโลก ทำอย่างไรให้ประชาคมวิจัยมีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริงและเวทีโลก รวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างประชาคมวิจัย นำเสนอผลงานที่จับต้องได้และมีผลกระทบจริง จึงอยากให้ สกว.กำหนดเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ เพื่อให้รัฐบาล ฝ่ายการเมือง และประชาชนทุกคนเห็นความสำเร็จ เห็นของและคำอธิบายที่เข้าใจง่ายว่าได้อะไรจากประชาคมวิจัย

ทั้งนี้ระบบวิจัยของไทยต้องจับกับภาคธุรกิจที่ก้าวไปได้เร็วหรือหน่วยวิจัยในต่างประเทศรวมทั้งควรให้มหาวิทยาลัยรับงานวิจัยจากภาคเอกชน และแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยให้ชัดเจน ได้แก่ มหาวิทยาลัยวิจัย มหาวิทยาลัยบริการชุมชน และมหาวิทยาลัยเปิด รวมทั้งแก้โจทย์โลกจริงให้ได้ สกว.อาจต้องแยกส่วนกันทำงานเพราะมีมิติที่ต้องการความรู้และทักษะต่างกัน นอกจากนี้ภาษียังเป็นเครื่องมือการวิจัยที่สำคัญและเป็นช่องลักไก่ที่นำมาเพิ่มการวิจัย แต่ก็มีข้อเสียคือผู้ได้ประโยชน์มีเพียงธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น ขณะที่เอสเอ็มอีและธุรกิจขนาดเล็กมีงบประมาณไม่เพียงพอจึงต้องมีการร่วมทุนเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาและพัฒนาได้จริง

ศ. ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง อดีตผู้อำนวยการ สกว.และประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น ระบุว่าเราต้องพัฒนางานวิจัยให้มีนวัตกรรมมากขึ้น จัดโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกัน และให้มหาวิทยาลัยสามารถจัดการเอาความรู้สมัยใหม่ใส่เข้าไปในภาคการเกษตรและชุมชน ดึงบุคลากรจากภาคเอกชนมาสอนนักศึกษาและสร้างประสบการณ์ในการใช้ความรู้ในการแก้ปัญหาปัจจุบันมีงบวิจัยมากขึ้นแต่จำนวนนักวิจัยไม่เพิ่ม ดังนั้นจึงต้องมีทางออกที่ชัดเจน ข้อเสนอแนะคือไม่ควรปิดกั้นเฉพาะนักวิจัยในประเทศ เพราะบางโจทย์อาจต้องพึ่งนักวิจัยจากต่างประเทศ เนื่องจากเรายังขาดแคลนนักวิจัยในบางสาขาหรือองค์ความรู้ไม่เพียงพอ ขณะที่กระบวนการทำวิจัยตั้งแต่ส่งข้อเสนอโครงการต้องเป็นภาษาอังกฤษเพื่อเปิดกว้างสู่ระดับโลกและสนับสนุนการพัฒนาที่แท้จริง เครือข่ายวิจัยต้องใหญ่พอที่จะแก้โจทย์วิจัยขนาดใหญ่ได้ ทั้งนี้ในระยะสั้น เราต้องการกลไกการจัดการใหม่ คือ การทำงานที่เอื้อกับนักวิจัยกับชุมชน และนักวิจัยกับภาคเอกชน

ด้านนายประวิทย์ ประกฤตศรี ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มมิตรผลกล่าวว่า สิ่งที่ภาคธุรกิจจะต้องทำคือ ทำในสิ่งที่เราสู้ได้ ทำได้ดีที่สุด และต่อยอดได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ปฏิรูปการวิจัยให้มีทิศทางที่ชัดเจนและไปในทางเดียวกันเรามีคู่แข่งระดับโลกจึงต้องมองให้ถึงระดับโลก ส่วนตัวแล้วเชื่อว่างานวิจัยดี ๆ ยังมีอยู่มากแต่ต้องเลือกใช้ให้ถูก วิธีการทำงานวิจัยต้องไม่ลืมชุมชนรากหญ้าและสร้างความยั่งยืนให้เป็นจุดแข็ง ขณะที่ความเป็นไซโลของแต่ละกระทรวง ถ้าเชื่อมโยงในแนวราบและมีกระบวนการทำงานรวดเร็วก็จะเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น“ของที่ผลิตได้นั้นทำให้ลูกค้ายอมควักกระเป๋าได้หรือไม่ งานวิจัยต้องตั้งต้นจากคนซื้อแล้วมาต่อที่งานวิจัย แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมายังต่อกันไม่ติด โจทย์หนึ่งอาจไม่สามารถตอบได้จากนักวิจัยคนเดียวแต่ต้องรวมความเชี่ยวชาญแต่ละด้านมาร่วมกันทำงาน อาชีพนักวิจัยจึงจำเป็นต้องมีและลดภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจถีบตัวขึ้นไปและพร้อมบริการสังคม”

ขณะที่ตัวแทนภาคประชาสังคม นายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม เผยว่าปัจจุบันคนฐานรากกำลังสิ้นปัญญาเพราะถูกกระบวนการโลกาภิวัตน์ลุกลาม จนภูมิปัญญาเดิมไม่สามารถจัดการได้ทั้งหมดและตอบโจทย์สังคมได้ จึงต้องใช้ความรู้ใหม่ผสมกับความรู้เดิมเพื่อเติมเต็ม เชื่อมโยง ยกระดับความรู้เดิมของชุมชนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ความท้าทายของ สกว. คือ ทำอย่างไรให้ความรู้ทุ่งนากับห้องแอร์เชื่อมโยงกันได้ ทำสะพานเชื่อมความรู้ของชาวบ้านกับวิชาการและทำงานร่วมกัน ภาคประชารัฐ ประชาคมวิจัย และประชาชนต้องนั่งคุยกันและหาโจทย์ร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 อย่างแท้จริง “เราต้องฝังวิถีชีวิตแบบวิจัยให้คนในชุมชน คิดเป็นระบบ ตัดสินใจด้วยข้อมูล แต่ระบบการศึกษาปัจจุบันยังไม่สามารถทำให้ใส่สิ่งเหล่านี้แก่เด็กรุ่นใหม่แก่เด็กรุ่นใหม่ได้ทั้งหมด เพราะยังมีข้อจำกัดในการแก้ปัญหาแบบบูรณาการที่เชื่อมโยงศาสตร์ต่าง ๆ เช่น เงื่อนไขทางภารกิจของนักวิจัย และเชื่อมโยงกับองค์รวมของชีวิตคนในสังคม แก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ”

ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศผู้อำนวยการ สกว.ระบุว่าเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ะยะต่อไปของ สกว. นอกเหนือจากการสนับสนุนงานวิจัยเชิงวิชาการและการสร้างกำลังคน ซึ่งเป็นจุดแข็งของ สกว. แล้วยังต้องสอดคล้องและสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล นอกจากนี้ยังต้องเพิ่มเติมเรื่องการนำไปใช้ประโยชน์และเชื่อมโยงกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้น มีงานวิจัยที่สนองความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งสื่อสารสาธารณะในทุกสื่อ และการจัดกิจกรรมในระดับชาติ ทั้งนี้กรอบยุทธศาสตร์การวิจัยเชิงประเด็นจะต้องสอดคล้องกับวาระแห่งชาติและเติมงานวิจัยให้มีผลกระทบทางสังคมสูงขึ้น พัฒนางานวิจัยพื้นฐานให้เกิดประโยชน์มากขึ้นโดยเปลี่ยนแนวทางใหม่และบูรณาการงานวิจัยจากหลายฝ่าย เช่น เชื่อมโยงงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการสร้างผลิตภัณฑ์ มีฐานข้อมูลและบุคลากรในการทำงานรองรับเป้าหมาย พื้นที่วิจัย และประเด็นใหญ่ ๆ ของประเทศ เช่น ปัญหาคอร์รัปชัน การศึกษา เทคโนโลยี ประเด็นที่มีความคาดหวังสูงจะต้องเข้มข้นมากขึ้น