ดิ้นหนี! ภาษีที่ดิน เจ้าสัวแห่พลิกที่รกร้าง ทำเกษตรเลี่ยง 5%

22 มี.ค. 2560 | 08:53 น.
เศรษฐีราชาที่ดินดิ้นหนีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พลิกที่รกร้างทำเกษตรหวังเสียภาษีตํ่าสุด 0.2% รับครม.คลอดร่างกฎหมายคาด 2-3 เดือนส่งสนช. เผยนายทุนเบียร์ช้างถือครองที่ดิน 6 แสนไร่ ส่วนค่ายสิงห์ตามมาห่างๆ กว่า 2 หมื่นไร่

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.… ซึ่งจะนำมาบังคับใช้แทน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ หลังจากที่สำนักงานกฤษฎีกาทำการตรวจร่างฯที่ครม.อนุมัติเมื่อ 7 มิถุนายน 2559

ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ....อัตราภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างให้จัดเก็บภาษี 4 ลักษณะการใช้ประโยชน์ ประกอบด้วย

1.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เพื่อเกษตร กรรม อัตราภาษีไม่เกิน 0.2% ของฐานภาษี

2.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่พักอาศัย อัตราภาษีไม่เกิน 0.5%

3.ที่ดินเพื่อการพาณิชยกรรมหรืออื่นๆนอกจากเกษตรกรรมและที่พักอาศัย อัตราภาษีไม่เกิน 2%

4. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ อัตราภาษีไม่เกิน 5% ของฐานภาษี กำหนดอัตราภาษีทุก 3 ปีคิดเพิ่ม 0.5%ของฐานภาษี

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารมว.พาณิชย์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะเสนอให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือน หลังจากนั้นจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้เวลาเตรียมการ 1 ปี โดยจะมีผล
บังคับใช้ในเดือนมกราคมปีภาษีถัดไป

ขณะเดียวกันยังมีการออก พ.ร.ฎ.ลดภาระภาษีได้ถึง 90% จากเดิม 70% เช่นกรณีที่ได้รับมรดกเป็นบ้านพร้อมที่ดินในย่านทองหล่อ ต่อมาราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นแต่ไม่ได้มีฐานะรํ่ารวย เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับเจ้าของ

นอกจากนี้กรมที่ดินจัดส่งข้อมูลรูปแบบแปลงที่ดินและข้อมูลเอกสารสิทธิของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆเพื่อใช้ในการเตรียมการจัดเก็บภาษีภายใน 60 วัน
พลิกที่รกร้างทำเกษตร

นายเลิศมงคล วราเวณุชย์ เลขาธิการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ที่เปลี่ยนแปลงมากสุด และกระทบมากจะเป็นที่รกร้างเริ่มเก็บที่ 2% หาก 3 ปีไม่พัฒนา ติดต่อกัน เรียกเก็บ 0.5%  แต่ไม่ปรากฏว่ามีเพดานแสดงว่ารัฐบาลเจตนา นำที่ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงจริงๆ ขณะที่ร่างเดิมจัดเก็บปีแรก-ปีที่สามที่ 1% แต่เพดานไม่เกิน 5%  ขณะที่ที่ดินเกษตรอัตราเรียกเก็บเพดาน 0.2%  จะพบว่านายทุนใหญ่อย่างค่ายเบียร์ช้าง มีที่ดินในมือ 5-6 แสนไร่ ค่ายบุญรอด มีที่ดินที่เชียงราย มากกว่า 2 หมื่นไร่ เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่นำที่ดินไปทำเกษตรซึ่งอนาคตจะเสียเพียง 0.05%
ที่รกร้างกระอัก ปีแรก 2%

นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ส่วนใหญ่ ร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ... ไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก แต่ในส่วนที่กระทบมากที่สุด เป็นที่ดินรกร้างว่าเปล่าเสียภาษีปีแรกเริ่มเสียภาษีที่ 2% ประเภทพาณิชย์กรรม และอุตสาหกรรม ส่วนที่อยู่อาศัยไม่กระทบ โดยเฉพาะ ที่อยู่อาศัยประจำ ราคาตํ่ากว่า 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้น แต่หากเป็นที่อยู่อาศัยที่เป็นบ้านหลังที่ 2 หลังที่ 3 ฯลฯ ไม่ว่าระดับราคาเท่า
ไหร่ต้องเสียภาษีที่อยู่อาศัยอัตรา 0.5%

สำหรับกรณีนำคอนโดมิเนียมปล่อยเช่าถือว่าเป็นพาณิชย์จะต้องเสียภาษีอัตรา 2% แต่ประเมินว่า กว่า 90%  จะไม่กระทบ เนื่องจาก เรียกเก็บตามราคาประเมิน สำหรับผู้ประกอบการไม่มีรายใดซื้อที่ดินสะสม แต่จะเป็นลักษณะซื้อแปลงเล็กและพัฒนาทันที
บีบเอกชนงัดที่ดินพัฒนา

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ร่างดังกล่าวเป็นเพียงกรอบกว้างๆ ในการจัดเก็บภาษีเท่านั้น แต่ในส่วนของรายละเอียดต่างๆ ยังไม่มีการเปิดเผยออกมา ซึ่งต้องรอให้เห็นในส่วนของรายละเอียดการจัดเก็บเสียก่อนจึงจะสามารถประเมินสถานการณ์ได้ แต่เชื่อว่าไม่น่าจะกระทบกับผู้ประกอบการและประชาชนมากนัก เนื่องจากที่ผ่านมากระแสการจัดทำร่างดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการและประชาชนเกิดการเตรียมความพร้อมในระดับหนึ่ง โดยผู้ประกอบการเองก็เร่งนำที่ดินในมือมาพัฒนาโครงการ ขณะที่ประชาชนก็นำที่ดินที่มีอยู่ออกมาขายมากขึ้น

นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษา สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า หากพิจารณาในมาตรา 34 (3) ที่ระบุว่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยมีอัตราภาษีไม่เกิน 2% ทำให้ต้องเสียภาษีล้านละ 2 หมื่นบาท หากเป็นที่ดินเพื่อพาณิชยกรรมซึ่งมีราคาประเมินสูง อาจทำให้ผู้ประกอบการเกิดการผลักภาระสู่ผู้บริโภคได้
อปท.ประเมินเสร็จก.พ.61

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากนี้กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยต้องออกกฎกระทรวงเพื่อให้อำนาจกับหน่วยงานที่จัดเก็บภาษีที่ดินฯ เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะมีสิทธิ์ในการจัดเก็บภาษีเพื่อใช้บริหารภายในท้องถิ่น

ทั้งนี้ อปท. แต่ละแห่งสามารถจัดเก็บในอัตราที่สูงกว่าที่ประกาศแต่จะต้องไม่เกินอัตราเพดานภาษีที่กำหนด โดยหลังจากนี้กระทรวงการคลังต้องออกประกาศบัญชีแนบท้ายสำหรับการกำหนดอัตราภาษีแต่ละกลุ่มอีกครั้ง

นอกจากนี้ อปท.ต้องประเมินราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้จัดเก็บให้กับผู้ถือ
ครองภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 โดยจะต้องประเมินบนพื้นฐานราคาทรัพย์สิน อัตราภาษีที่จัดเก็บและมูลค่าภาษีที่ต้องชำระ

แหล่งข่าวกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นระบุว่า ในส่วนของหน่วยงานท้องถิ่นต้อง เตรียมความพร้อมโดยสำรวจฐานข้อมูลเกี่ยวกับที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง สัดส่วนขนาดพื้นที่ของที่ดินในการใช้ประโยชน์จริง หรือที่ว่างเปล่า

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการบังคับใช้กฎหมายนั้น เชื่อว่าต้องใช้เวลาอีก 2-3ปีจึงจะจัดเก็บจริง โดยยังมีกระบวนการและขั้นตอน ซึ่งต้องรอกฎหมายลูกอีก 22 ฉบับ ดังนั้นประเด็นหลักของท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมความพร้อมถึงการทำความเข้าใจในแต่ละพื้นที่ด้วย
หนังสือพิมพ์ "ฐานเศรษฐกิจ" ฉบับ 3246  ระหว่างวันที่ 23-25 มี.ค.2560