กรม สบส.จับมือ สคบ.ปั้นอสม.เป็นด่านหน้าคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภค

20 มี.ค. 2560 | 06:15 น.
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. พัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเป็นอสม.สคบ.ทำหน้าที่ส่งเสริมการรับรู้สิทธิผู้บริโภคขั้นพื้นฐานในชุมชน  ทุกหย่อมหญ้า เฝ้าระวัง ผลิตภัณฑ์อันตรายที่พบบ่อย อาทิยาสมุนไพรผสมสเตียรอยด์และสร้างชุมชนให้เข้มแข็งปลอดภัยไม่ตกเป็นเหยื่อจากการโฆษณาชวนเชื่อ ระบุเดือนมกราคมปีนี้ สคบ.พบการร้องเรียน เรื่องสินค้าอุปโภคและบริโภคมากอันดับ 1  เกือบ1 ใน 3 ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด

วันนี้ (20 มีนาคม 2560) ที่โรงแรมปรินซ์ พาเลซ มหานาค กทม. นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยพลตำรวจตรีประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ด้านส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายธงไชย นิรมิตศรีชัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นสักขีพยาน

นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือของกรม สบส.กับสคบ.ครั้งนี้เป็นการบูรณการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อพัฒนาศักยภาพของอสม.ที่มีจำนวน 1,048,000 คน ซึ่งใกล้ชิดชุมชนที่สุดเป็นเครือข่ายด่านหน้าในการส่งเสริมการรับรู้สิทธิของผู้บริโภคในระดับชุมชน หมู่บ้านทั่วประเทศสร้างชุมชนให้เข้มแข็งและปลอดภัย และสามารถถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ ให้ประชาชนรู้เท่าทันสิ่งที่ไม่ปลอดภัยและไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อต่างๆ โดย สคบ.จะพัฒนาความรู้เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของผู้บริโภคให้แก่ อสม. และจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกัน

ในการส่งเสริมให้ อสม. และภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้านการคุ้มครองผู้บริโภค    กรม สบส.ได้ร่วมมือกับหน่วยงานวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข จัดทำคู่มือทำงานของ อสม. โดยเบื้องต้นนี้ เน้นเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นอันตรายที่พบได้บ่อยในชุมชน เช่น ยาที่ผสมสเตียรอยด์ในรูปของยาสมุนไพร ยาชุด ทำให้เกิดอาการคุชชิ่งซินโดรม เสี่ยงเสียชีวิตจากโรคไตสูงถึง 12 เท่า และเสี่ยงกระดูกหักจากกระดูกผุ 23 เท่าตัว เป็นต้น รวมทั้งการอ่านฉลากผลิตภัณฑ์สินค้าแต่ละชนิด การเฝ้าระวังการเร่ขายยา การขายยาในร้านชำ เฝ้าระวังสารต้องห้ามในอาหาร เช่น สารบอแรกซ์ ฟอร์มาลินและแจ้งเตือนภัยประชาชนในหมู่บ้านให้รับรู้อย่างทันท่วงทีซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับการดูแลความปลอดภัยอย่างทั่วถึงทุกหย่อมหญ้า

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสคบ.ในเดือนมกราคม 2560 มีประชาชนร้องเรียนทั้งหมด 487 ราย ปัญหาการร้องเรียนมากอันดับ1  ได้แก่ สินค้าอุปโภคและบริโภค ร้อยละ 32 จำนวน 158 ราย รองลงมาคือการบริการ ร้อยละ 23 จำนวน 113 ราย ในส่วนนี้พบประเภทคลินิก/สถาบันเสริมความงาม ร้อยละ 33 จำนวน 37 ราย ฟิตเนส ร้อยละ 23 จำนวน 27 ราย ที่เหลือเป็นด้านที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ การเดินทางเป็นต้น