คลังถังแตกจริงไหม? เปิด!  ลายแทงรีดภาษี ดันจัดเก็บทะลุ 2.34 ล้านล้าน

20 มี.ค. 2560 | 05:00 น.
ข่าวฐานะการคลังช่วงนี้ ดูจะยังไม่พ้นกระแสเรื่อง รัฐบาลถังแตก? หลังเคลียร์เรื่องเงินคงคลังยังไม่คลายสงสัยกันดี มาเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรี เปรยในเชิงให้ประชาชนเสียสละจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) อีก1% เพื่อเพิ่มรายได้เข้ารัฐอีกกว่าแสนล้านบาท จนต้องออกมาแก้ข่าวกันพัลวัน

ข้อเท็จจริงการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลต่ำกว่าเป้าจริงหรือ? แนวทางการขยายฐานรายได้จากนี้จะเป็นอย่างไร มาฟังคำตอบจากนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ”ดังนี้....

 คลังถังแตกจริงไหม?
“แค่เงินคงคลังจาก 2-3แสนล้านบาทมาเป็น 7.4 หมื่นล้านบาท ( ณ สิ้นธ.ค.59)บอกว่าถังแตกได้อย่างไร?ถ้าถังแตกจริงปานี้เครดิตเรตติ้งประเทศคงลงเหวไปแล้วโอเครายได้ภาษีต่ำกว่าเป้าแต่รายได้รวมรัฐยังเกินเป้าหมายมาตลอดตัวที่ทำให้เกินเป้าหมายก็มาจากรายได้รัฐวิสาหกิจและรายได้อื่นๆ ส่วนรายได้ภาษีที่ยังต่ำกว่าเป้าหมายอาจเป็นได้ในหลายสาเหตุ จากเศรษฐกิจที่ยังขยายไม่เต็มที่ หรือสิ่งที่เราไม่คาดหวังให้เกิดเช่นผลกระทบจากภาคการผลิต ส่งผลต่อการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม”

(4 เดือนปีงบนี้ 3 กรมภาษีจัดเก็บได้ 7.11 แสนล้านบาทหลุดเป้า 1.36 หมื่นล้านบาทหรือตํ่ากว่า 1.36%)

 มั่นใจจัดเก็บรายได้
ปลัดสมชัย กล่าวต่อว่าทั้ง 3 กรมภาษี (สรรพากร สรรพสามิต กรมศุลกากร )ได้ส่งแผนมาถึงตนแล้ว แต่ถามว่าพอใจไหม ก็ยังไม่โอเค “โดยหลักๆ เราต้องการให้ลงลึกเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บ ปรับโครงสร้างทีมกำกับตรวจสอบให้เข้มขึ้นขึ้น การนำไอทีข้ามาจับกลุ่มที่เลี่ยงภาษี แต่ทั้งนี้หากทั้ง 3 กรม สามารถจัดเก็บได้ตามเป้าเราก็ถือว่าเก่งแล้วเพราะแนวโน้มรายได้จากภาษีมีแต่จะลดลง แต่เป้าจัดเก็บรวม 2.343 ล้านล้านบาท เรายังมั่นใจว่าทำได้แน่นอน”

ที่มาของรายได้ มาจากการ1.นำระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-เพย์เมนต์) มาเชื่อมระบบจัดเก็บภาษีปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้ว 50% และหากสมบูรณ์ภายในปี 2562 ฐานรายได้ภาษีของกรมสรรพากรจะเพิ่มก้าวกระโดดปีละ 1 แสนล้านบาท

[caption id="attachment_135643" align="aligncenter" width="308"] ‘ปลัดคลัง’เปิดลายแทงรายได้ ดันจัดเก็บทะลุ2.34 ล้านล้าน ‘ปลัดคลัง’เปิดลายแทงรายได้ ดันจัดเก็บทะลุ2.34 ล้านล้าน[/caption]

 “อี-เพย์เมนต์ ”ดันรายได้
ดูอย่างง่ายๆ ปัจจุบันมีนิติบุคคลยื่นแบบภาษี 3-4 แสนราย แต่เสียภาษีจริงแสนกว่ารายเท่านั้น แรงงานทั้งระบบมี 34ล้านคน ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10 ล้านคน แต่เสียจริงแค่ 4 ล้านคน ถามว่าหายไปไหนดังนั้นถ้าอี-เพย์เมนต์มา คนที่ไม่เคยยื่นก็จะต้องถูกล็อกให้เข้าระบบโดยปริยาย”

 ก.ม.สรรพสามิตใหม่ตัวช่วย
2. รายได้จากผลของกฎหมายภาษีสรรพสามิตใหม่ ที่จะบังคับใช้ภายในเดือนสิงหาคม-ตุลาคมปีนี้เป็นการจัดเก็บเพิ่มตามตัวบทกฎหมายที่เปลี่ยนวิธีคำนวณภาษีจากราคาหน้าโรงงานมาเป็นราคาขายปลีกแนะนำ อย่างไรก็ดี หลักการเบื้องต้นกรมสรรพสามิตจะลดอัตราจัดเก็บลง เพื่อตรึงราคาไม่ให้ผู้บริโภคเดือดร้อน ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาอัตราและคำนวณราคาขายปลีกที่จะให้ผู้ประกอบการเสนอเข้ามา โดยที่รัฐก็จะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่หาข้อมูลด้วย

“อัตราใหม่จะเป็นเท่าไรก็ตาม แต่จะให้เสียภาษีเท่าเดิมเพื่อตรึงให้ราคามาอยู่เท่าปัจจุบัน แต่ด้วยฐานจัดเก็บที่กว้างขึ้นจะทำให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ในปีนี้และปีต่อไปสูงขึ้นอย่างแน่นอน”

 ที่ราชพัสดุเป้าหมื่นล้าน
3. รายได้อื่น ๆ เช่น จากที่ราชพัสดุ นายสมชัย กล่าวว่า เป้าหมายส่วนนี้ รัฐต้องการเพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านบาท เทียบกับปีงบ 2559ทั้งปีกรมธนารักษ์จัดเก็บได้6.76 พันล้านบาท ( เป็นจัดเก็บจากที่ราชพัสดุ 5.68 พันล้านบาท ) แต่ปีนี้เพียง4 เดือน เฉพาะที่ราชพัสดุจัดเก็บได้ถึง 3.05 พันล้านบาท และภายใน 5 ปี คาดว่ารายได้จากที่ราชพัสดุจะกระโดดเป็นปีละ 5 หมื่นล้านบาท จากการบริหารพัฒนาพื้นที่และแบ่งการให้เช่าเป็นโซน เช่นร้านค้าเชิงพาณิชย์ สถานที่ท่องเที่ยว หรือที่สาธารณะ หรือกรณีของที่ดินริมรถไฟ ใกล้โครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ที่จะมีราคาแพงขึ้น

รายได้ฐานทรัพย์สิน
4. รายได้จากทรัพย์สิน (capital gain tax)ที่เก็บจากฐานสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งปัจจุบันรายได้ส่วนนี้มีเพียง 1%ของรายได้รวม รัฐต้องการเพิ่มเป็น 5% และ 5.รายได้ภาษีสิ่งแวดล้อม อาทิน้ำเสีย อากาศเป็นพิษ ฯลฯ โดยอยู่ระหว่างการแก้ไขร่าง ตีความภาษีสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจนยิ่งขึ้นหลังจากกฤษฎีกาตีกลับ

“แนวโน้มการจัดรายได้จากภาษีจะทำได้ยากขึ้น เนื่องจากไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจำนวนแรงงานน้อยลง จึงต้องหันมาเก็บภาษีบนฐานการบริโภคและฐานทรัพย์สินมากขึ้น เพราะคนอย่างไรก็ต้องบริโภคและเมื่ออายุมากขึ้นก็ต้องสะสมทรัพย์สิน โครงสร้างภาษีไทยปัจจุบัน 51%เก็บจากฐานการบริโภค, 48%จากฐานเงินได้ และ 1 % เก็บจากฐานทรัพย์สิน ต่อไปฐานภาษีทรัพย์สินจะมากขึ้นเป็น 5% ส่วนฐานภาษีจากรายได้ และบริโภคก็จะเพิ่มบาลานซ์กันมากขึ้น”

แนวทางและประมาณรายได้รัฐ ดังที่กล่าวมา ก็น่าจะอนุมานได้ว่า ฐานะการคลังว่ายังห่างกับคำว่า “ถังแตก”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,245 วันที่ 19 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2560