ก.วิทย์เล็งเช่าที่ดินปตท.พันไร่ ผุดศูนย์วิจัย-พัฒนานวัตกรรมรับ10อุตฯอีอีซี

21 มี.ค. 2560 | 06:00 น.
กระทรวงวิทย์เล็งที่ดินปตท.1,000 ไร่ ตั้ง EECI ทำเหมือน “ซายน์พาร์ก” ตามแผน 5 ปี ใช้งบหมื่นล้านส่วนความคืบหน้าเงินกู้เอดีบี 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯยังอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการร่วมกับกระทรวงการคลังจะเป็นงบพัฒนาเอสเอ็มอีเชื่อมโยง 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงความคืบหน้าโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซีไอว่า โครงการดังกล่าวตามแผน5 ปีจะต้องใช้งบรวมทั้งสิ้นประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ที่จะเน้นการพัฒนานวัตกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะในเรื่องของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม และด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ หรืออีอีซีไอ ไบโอโพลิส เป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาเชิงประยุกต์ และนวัตกรรมทางชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพโดยทำเหมือนอุทยานวิทยาศาสตร์ หรือ "ซายน์พาร์ก" ที่ล่าสุดอยู่ระหว่างการจัดทำแผนด้านต่างๆ โดยเฉพาะการใช้พื้นที่

ล่าสุดกระทรวงวิทย์สนใจที่ดินของปตท. ที่อ.วังจันทร์ จ.ระยองที่มีอยู่จำนวน3,000 ไร่ จะขอแบ่งออกมา 1,000 ไร่ เป็นที่ดินที่อยู่ติดกับ VISTECหรือสถาบันวิทยสิริเมธีที่เป็นสถาบันวิจัยของปตท. เบื้องต้นได้หารือไประดับหนึ่งแล้วแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องค่าเช่าและจำนวนพื้นที่

"ยังตกลงกันไม่ได้เนื่องจากปตท.คิดค่าเช่า 100 ล้านบาทเป็นเวลา 3 ปีสำหรับที่ให้เช่าประมาณ 500 ไร่ แต่เราต้องการมากถึง 1,000 ไร่ เพราะจะทำคล้ายซายน์พาร์ก โดยมีห้องแล็บ ให้เอกชนมาใช้ หรือเข้ามาลงทุนเช่าที่ทำห้องแล็บเอง หรือสร้างอาคารเป็นของตัวเอง ก็จะเป็นพื้นที่ที่เกิดการเชื่อมโยงผู้ประกอบการในเชิงนวัตกรรมมากขึ้น โดยต้องการให้การพิจารณา EECI จบภายในเดือนมีนาคมหรือเมษายนนี้ ซึ่งในวันที่ 5 เมษายนรัฐบาลจะมีการประชุมคณะกรรมการอีอีซี ก็จะมีการรายงานความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวด้วย"

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันถ้าเรามาดูพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเรายังไม่มีงานวิจัยมากนัก จะมีก็แต่ GISTDA หรือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ทำแต่เรื่องดาวเทียม เรื่องอวกาศอยู่ที่ศรีราชา ทั้งที่ย่านดังกล่าวเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่มาก แต่หน่วยงานวิจัยของเรามีน้อยมาก แม้แต่มหาวิทยาลัยเองก็มีน้อย ยกเว้นของปตท.ที่มี VISTEC หรือสถาบันวิทยสิริเมธีที่เป็นสถาบันวิจัย ดังนั้นเราจำเป็นต้องไปสร้างอีอีซีไอขึ้นในพื้นที่ภาคตจะวันออก

ส่วนความคืบหน้าเงินกู้ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) จำนวน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อมาพัฒนาเอสเอ็มอีนั้น ขณะนี้กระทรวงวิทย์กับกระทรวงการคลัง กำลังทำเรื่องของบพัฒนาโครงการ โดยจะเป็นงบสำหรับใช้พัฒนาเอสเอ็มอีใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่อยู่ในพื้นที่อีอีซี (ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง)โดยเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม เมื่อทุกอย่างตกผลึกแล้วจะส่งเรื่องเข้าเสนอในคณะรัฐมนตรี คาดว่างบก้อนนี้น่าจะได้รับอนุมัติใช้ได้ในปี2561

นางอรรชกา กล่าวอีกว่าเมื่อวันที่16มีนาคมที่ผ่านมานายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีได้ติดตามการทำงานของกระทรวงวิทย์ว่าคืบหน้าไปแค่ไหนแล้วโดยเฉพาะเรื่องสตาร์ทอัพ ที่ได้จัดสรรงบจากงบประมาณกลางจำนวน 1,086 ล้านบาท ทำกิจกรรมพัฒนาหลักสูตรการเป็นผู้ประกอบการ โดยร่วมมือกับ30 มหาวิทยาลัย

ส่วนเรื่องขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช. หรือ NSM) เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งใหม่ที่เดิมจะไปสร้างที่จังหวัดแพร่ และเชียงใหม่ ล่าสุดให้ทำรวมกันที่ ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี รวมถึงการสร้างพิพิธภัณฑ์พระราม 9 โดยจะฝึกนักศึกษาราว3หมื่นคนภายในปีนี้ ที่ล่าสุดเริ่มการพัฒนาหลักสูตรแล้ว และคาดว่ามหาวิทยาลัยจะสามารถสร้างผู้ประกอบการใหม่ได้ 550 ทีม จาก 30 มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ยังติดตามโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟูดอินโนโพลิส (Food Innopolis) เป็นการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเชิงพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันได้ชวนบริษัทเข้ามาลงทุนวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่เมืองนวัตกรรมอาหารที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี โดยขณะนี้มีบริษัทที่สนใจมาทำการวิจัยด้านอาหารแล้ว 23 ราย โดยใช้พื้นที่ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โครงการนี้ใครพร้อมก็สามารถทำได้เลย ล่าสุดกระทรวงวิทย์ได้หารือกับสถาบันการศึกษาอีกหลายแห่งเพื่อขยายพื้นที่ฟูดอินโนโพลิสคลัสเตอร์ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,245 วันที่ 19 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2560