เวียดนาม แซงตลาดยุโรป จี้รัฐฟื้นFTAอาเซียน-อียู

20 มี.ค. 2560 | 07:00 น.
เอกชนส่งสัญญาณอันตรายหลังเอฟทีเอสหภาพยุโรป-เวียดนามมีผลบังคับใช้ยอดส่งออกเวียดนามไปอียูทิ้งห่างไทยกว่า 4.8 แสนล้าน เชียร์สุดตัวอาเซียน-อียูฟื้นเจรจาเอฟทีเอ ยอมรับทวิภาคีไทย-อียูไม่ง่ายคงต้องรอหลังมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

จากที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-สหภาพยุโรป(อียู)ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา สาระสำคัญส่วนหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายตกลงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน-สหภาพยุโรปเริ่มการหารืออย่างเป็นทางการเพื่อจัดทำร่างกรอบกำหนดตัวแปรสำหรับเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)อาเซียน-สหภาพยุโรป และให้ไปนำเสนอระดับรัฐมนตรีในการประชุมครั้งต่อไปสำหรับการพิจารณาการรื้อฟื้นการเจรจาเอฟทีเอพหุภาคีอาเซียน-สหภาพยุโรปที่ได้หยุดชะงักลงตั้งแต่ปี 2552

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ที่ผ่านมาจากปัญหาภายในของแต่ละประเทศในอาเซียนที่แตกต่างกันทำให้อียูเลือกเจรจาเอฟทีเอในระดับทวิภาคีกับแต่ละประเทศของอาเซียนแทน ณ ปัจจุบันมีเอฟทีเอทวิภาคีระหว่างสหภาพยุโรปกับสมาชิกอาเซียนที่ได้บรรลุความตกลงและมีผลบังคับใช้แล้วในปีที่ผ่านมาได้แก่ เอฟทีเอสหภาพยุโรป-เวียดนาม และสหภาพยุโรป-สิงคโปร์ ทำให้สินค้าจากทั้ง 2 ประเทศนี้ที่ส่งไปอียูได้รับการยกเว้นภาษีหรือเสียภาษีอัตราต่ำ ขณะที่เอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปที่ได้เริ่มเจรจามาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 ได้หยุดชะงักลงหลังไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม2557

"ภาคเอกชนสนับสนุนให้มีการเจรจาทวิภาคีเอฟทีเอไทย-อียู รวมถึงเอฟทีเอระดับภูมิภาคอาเซียน-อียูเพราะหากยิ่งล่าช้าไทยจะยิ่งเสียเปรียบเวียดนามและสิงคโปร์ที่ได้บรรลุความตกลงเอฟทีเอกับอียูและมีผลบังคับใช้แล้วในปีที่ผ่านมา รวมถึงมาเลเซียที่ใกล้บรรลุความตกลงเอฟทีเอกับอียู"

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ที่เวียดนามยังไม่บรรลุความตกลงเอฟทีเอกับอียู มูลค่าการส่งออกของเวียดนามไปตลาดอียูก็แซงหน้าประเทศไทยไปแล้วตั้งแต่ปี 2555 ล่าสุดในปี 2559 ที่เอฟทีเอสหภาพยุโรป-เวียดนามมีผลบังคับใช้ ตัวเลขการส่งออกของเวียดนามไปอียูก็ยิ่งมากกว่าไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเวียดนามส่งออกไปอียูมูลค่า 3.31 หมื่นล้านยูโร ขณะที่ไทยส่งออก 2.03 หมื่นล้านยูโร มากกว่าไทย 1.28 หมื่นล้านยูโร(หรือ 4.86 แสนล้านบาท) ดังนั้นหากเอฟทีเอไทย-อียูมีความล่าช้าความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยจะยิ่งเสียเปรียบ

ด้านนายชิงชัย หาญเจนลักษณ์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย กล่าวว่า การกลับมาเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ คงเกิดขึ้นได้หลังไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ขณะที่นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่าหากเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปเกิดขึ้นได้เร็ว จะช่วยให้สินค้ารถยนต์ซึ่งเป็นสินค้าอันดับ 2 ของไทยที่ส่งไปอียู สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,245 วันที่ 19 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2560