สนค.ร่วมกับ ทีดีอาร์ไอ  เสนอ “ยุทธศาสตร์ชาติการค้า” และ“ยุทธศาสตร์การรวมกลุ่มภาคีธุรกิจ”

16 มี.ค. 2560 | 10:01 น.
tdri1660 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดทำโครงการเรื่อง “การจัดทำยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางการค้าแผนงานจัดทำยุทธศาสตร์ชาติการค้า และยุทธศาสตร์การรวมกลุ่มภาคีธุรกิจ” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและยกระดับไทยให้เป็นชาติการค้า (Trading Nation) และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของไทย รวมถึงการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคเอกชนเพื่อรองรับการเป็นชาติการค้า ขณะนี้โครงการวิจัยได้ดำเนินการมาถึงช่วงสุดท้าย จึงได้มีการจัดสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ขึ้นเพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาจากวิจัยต่อสาธารณชน และเพื่อเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวงกว้าง โดยมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ซบเซาตั้งแต่วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ (subprime mortgage crisis) ส่งผลต่อสถาบันการเงินทั่วโลกทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของประเทศไทยโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปลดลงอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้แล้ว ความล้มเหลวของประเทศญี่ปุ่นในการกระตุ้นให้เศรษฐกิจออกจากภาวะถดถอย และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนทำให้อัตราการขยายตัวของภาคการส่งออกของประเทศไทยลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 26.8 ในปี พ.ศ. 2553 เป็น ติดลบร้อยละ 5.8 ในปี 2558 เนื่องจากประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจที่เปิดและมีขนาดเล็ก (small open economy) จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออกในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การชะลอตัวของภาคส่งออกทำให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถขยายตัวในอัตราที่สูงเช่นในอดีต แม้รัฐจะมีนโยบายกระตุ้นการลงทุนและการจับจ่ายใช้สอยในประเทศโดยตลอดก็ตาม ดังนั้นเราจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปฏิรูประบบการบริหารจัดการภายในประเทศเพื่อที่จะให้ประเทศไทยสามารถผันตัวไปสู่การเป็น “ชาติการค้า (trading nation)” ที่มีศักยภาพในการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้การส่งออกของประเทศสามารถพลิกฟื้นกลับมาเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อีกครั้งหนึ่ง

โดยทั่วไปแล้วประเทศที่เป็นชาติการค้า เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน จะให้ความสำคัญแก่ปัจจัยพื้นฐานสามประการ ได้แก่ (1) ระบบการค้าที่เสรี (2) การพัฒนาและวิจัยตลาดสำหรับสินค้าหรือบริการส่งออก และ(3) การอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจในการประกอบธุรกรรมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

การที่ประเทศไทยจะปฏิรูปการบริหารจัดการเพื่อยกระดับไปสู่การเป็นชาติการค้านั้น จึงจำเป็นที่จะต้องคำนึงปัจจัยพื้นฐาน 3 ประการด้วยเช่นกัน ประการแรก ประเทศที่เป็นชาติการค้าจะพึ่งพาการค้าและการลงทุนเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นประเทศไทยจะต้องพร้อมในการเจรจาเขตการค้าเสรีกับประเทศที่เป็นคู่ค้าขนาดใหญ่ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยอยู่ใน “ห่วงโซ่การผลิตโลก” ช่วยให้การส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศได้ง่ายขึ้น และสามารถนำเข้าวัตถุดิบ ชิ้นส่วนหรือสินค้าขั้นกลางจากประเทศภาคีที่มีคุณภาพ มีความหลากหลายในราคาที่ต่ำเนื่องจากปลอดภาษีศุลกากร ตลอดจนสามารถระดมทุนและเทคโนโลยีจากประเทศภาคีได้อีกด้วย ทำให้สามารถยกระดับขีดความสามารในการแข่งขันทางธุรกิจภายในประเทศ

ประการที่สอง ประเทศที่เป็นชาติการค้าจะให้ความสำคัญกับ “ตลาด” และ “ลูกค้า” ไม่เน้นการผลิตสินค้าในปริมาณมากเพื่อให้ราคาถูก แต่จะหันมาผลิตสินค้าและบริการตามความต้องการของตลาด (demand chain) ซึ่งหมายความว่า บทบาทของภาครัฐจะเปลี่ยนไปจากเดิมจากที่เน้นการส่งเสริมการหาตลาดใหม่  ๆ ให้กับสินค้าส่งออกแบบเดิม เป็นการพัฒนาแหล่งข้อมูลด้านการตลาดในเชิงลึกเพื่อป้อนข้อมูลให้แก่ภาคการผลิต เพื่อที่จะสามารถผลิตสินค้าใหม่ ๆ ตามความต้องการของตลาดได้อย่างทันการณ์  ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการกำหนดลักษณะของข้อมูลด้านการตลาดที่ต้องการ ตลอดจนรูปแบบการส่งเสริมการทำตลาดในต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า เช่น การสร้างความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการในการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ การส่งเสริมให้มีบริษัท trading firm ที่สามารถช่วยธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อยในการขยายตลาดไปต่างประเทศ เป็นต้น

ประการที่สาม ประเทศที่จะเป็นชาติการค้าได้นั้นจะต้องมีกฎ ระเบียบที่เอื้อต่อการทำธุรกรรมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องมีการสังคายนา กฎระเบียบในประเทศครั้งใหญ่เพื่อที่จะปรับปรุงกฎ ระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกรรมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น กฎระเบียบว่าด้วยพิธีการทางศุลกากร ภาษีรายได้นิติบุคคล การจ้างผู้เชี่ยวชาญที่เป็นคนต่างด้าว เป็นต้น

สุดท้าย ภาคธุรกิจที่เข้มแข็งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จของการเป็นชาติการค้า ซึ่งความเข้มแข็งของภาคธุรกิจจะเกิดขึ้นได้นั้นจำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มกันเป็นภาคีธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจหนึ่งธุรกิจใดโดยเฉพาะ SMEs ไม่สามารถทุ่มเททรัพยากรทั้งทุน แรงงาน และเทคโนโลยีในทุกกระบวนการผลิตไปจนถึงการพัฒนาตลาดหรือสร้างแบรนด์ได้ ดังนั้น ภาครัฐควรมีระบบที่เอื้ออำนวยและสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจมีการรวมตัวกันเพื่อที่จะแบ่งปันประสบการณ์ ข้อมูล และความรู้ ตลอดจนการร่วมลงทุนในกิจกรรมที่จำเป็นในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของสมาชิก  เช่น การส่งเสริมให้มีการออกกฎหมายจัดตั้งสภาธุรกิจในสาขาธุรกิจที่มีการรวมตัวอย่างเข้มแข็ง การถ่ายโอนภารกิจบางประเภทให้สภาธุรกิจหรือสมาคมธุรกิจดำเนินการ หรือ การให้เงินอุดหนุนกิจกรรมในด้านการพัฒนาและวิจัยตลาดของสมาคมหรือสภาการค้า เป็นต้น

ทั้งนี้การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจร่วมมือกันจะช่วยเพิ่มโอกาสและพัฒนาศักยภาพเพื่อยกระดับให้ประเทศไปสู่การเป็นชาติการค้าได้ รวมถึงเพื่อช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายตามนโนบาย “ประเทศไทย 4.0” ที่ต้องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “Value-Based Economy” ซึ่งมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน