อมตะผุดนิคมฯอัจฉริยะ ดึงนักลงทุนเพิ่มรับอีอีซี

17 มี.ค. 2560 | 04:00 น.
อมตะจับมือกับ สนพ.ร่วมพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เดินหน้าสู่เมืองอัจฉริยะสมบูรณ์แบบดัน 8 โครงการหลักดึงพันธมิตรจากต่างประเทศร่วมพัฒนา รองรับการลงทุนในอีอีซี ตั้งเป้าดึงลูกค้าเพิ่ม 50% สร้างงาน 1 แสนตำแหน่ง

นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด(มหาชน) หรือ AMATA ผู้นำในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวนที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา บริษัทได้ลงนามบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยู กับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เพื่อร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนหรือพีพีพี ในการพัฒนานิคมฯอมตะนคร จงหวัดชลบุรี ให้เป็นเมืองอัจฉริยะสมบูรณ์แบบหรือ Smart City ที่จะมีส่วนในการช่วยสนับสนุนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี

ทั้งนี้ เนื้อหาในบันทึกความเข้าใจครอบคลุมการพัฒนาในด้านสำคัญต่างๆ ได้แก่ พลังงานอัจฉริยะ(Smart Energy) การสัญจรอัจฉริยะ (Smart Mobility) ชุมชนอัจฉริยะ (Smart Community) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) อาคารอัจฉริยะ (Smart Building) การบริหารจัดการเมืองแบบอัจฉริยะ (Smart Governance) และนวัตกรรมอัจฉริยะ (Smart Innovation)

โดยปัจจุบันอมตะมีโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ใน 8 โครงการ ประกอบด้วย การติดตั้งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังหาหรือโซลาร์รูฟท็อปหลังคาขนาด 100 เมกะวัตต์ กับบริษัท Stumpf Energy จากยุโรป ด้วยลงการลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท โครงการตรวจสอบการจราจรอัจฉริยะกับ บริษัท AAPICO ITS ประเทศไทย โครงการโรงงานอัจฉริยะกับบริษัท Hitachi High-Technologies จากประเทศญี่ปุ่น โครงการบ้านอัจฉริยะกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น การพัฒนานวัตกรรมอัจฉริยะ (เมืองวิทยาศาสตร์อมตะ) กับกลุ่มบริษัทจากญี่ปุ่น เมืองการบินและอวกาศอัจฉริยะ โครงการศึกษาอัจฉริยะกับบริษัท KinderWorld จากประเทศ สิงคโปร์ และเมืองแห่งการศึกษาเอ็ดยูทาวน์ (Amata College)

นายวิกรม กล่าวอีกว่า สำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะครั้งนี้ จะส่งผลให้เกิดการขยายตัวด้านการลงทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันในนิคมฯอมตะนคร มีนักลงทุนกว่า 36 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นสัดส่วน 10 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP ) หรือกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี มีการจ้างงานกว่า 2 แสนคน โดยมั่นใจว่า การพัฒนานิคมฯ ไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ จะส่งผลให้มีการเพิ่มจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาในนิคมฯ เพิ่มขึ้น 50 % ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างงานเพิ่มขึ้นได้อีกกว่า 1 แสนตำแหน่ง โดยมีเป้าหมายเพิ่มอัตราการใช้พลังงานทดแทนภายในนิคมฯ เพิ่มขึ้น 50 % เพื่อการดูแลสิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การร่วมมือกับอมตะ ในครั้งนี้ จะเป็นการร่วมเรียนรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูล และผลการศึกษาและวิจัย ที่เป็นประโยชน์ต่อการนำมาใช้กำหนดนโยบายเพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศ และยังได้เสนอชื่ออมตะ เข้าร่วมโครงการ APEC Low-Carbon Model Town ภายใต้คณะทำงานพลังงาน เพื่อเป็นเมืองต้นแบบให้แก่การพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำอื่นๆ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ ทั้งนี้ หากอมตะ ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนในเรื่องข้อมูล การวิเคราะห์ คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และการสนับสนุนทางการเงินจาก APEC ซึ่งจะส่งเสริมให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะของอมตะมีความรอบด้านมากยิ่งขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,244 วันที่ 16 - 18 มีนาคม พ.ศ. 2560